ผู้เชี่ยวชาญเตือนฟังเพลงในห้องน้ำอาจไม่เป็นผลดี
การฟังเพลงขณะอาบน้ำอาจทำให้หลายคนรู้สึกผ่อนคลายและเป็นช่วงเวลาส่วนตัว แต่ล่าสุดผู้เชี่ยวชาญได้ออกมาเตือนว่าการฟังเพลงในห้องน้ำอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพโดยไม่รู้ตัว
ในสหรัฐอเมริกา มีคนอายุ 18-34 ปี ถึง 68% ที่ฟังเพลงทุกวัน และผู้ที่อายุ 13 ปีขึ้นไปกว่า 95.6% ฟังเสียงบันเทิงในรูปแบบต่างๆ เป็นประจำตามข้อมูลจาก Statista โดยทุกวันนี้เราสามารถเข้าถึงสื่อดิจิทัลได้ง่ายๆ ผ่านโทรศัพท์มือถือ และหลายคนมักพกโทรศัพท์ไปด้วยทุกที่ ตามข้อมูลจาก Child Mind Institute
การที่โทรศัพท์อยู่ใกล้ตัวแม้ไม่ได้ใช้งาน ก็สามารถลดความสามารถในการมีสมาธิได้ เพราะความพร้อมใช้งานของโทรศัพท์อาจทำให้ทรัพยากรทางจิตใจหมดไป ซึ่งแม้แต่การใช้โซเชียลมีเดียสั้นๆ เช่น TikTok หรือ Instagram Reels ก็ส่งผลกระทบต่อช่วงเวลาที่ผู้คนสามารถจดจ่อได้ โดยเฉลี่ยคนอเมริกันใช้เวลาดูโทรศัพท์วันละ 4 ชั่วโมง 37 นาที เทียบเท่ากับ 1 วันต่อสัปดาห์ หรือ 70 วันต่อปี
หลายคนเผยว่าตนไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันโดยไม่มีเสียงดนตรีหรือเสียงพอดแคสต์เป็นพื้นหลังได้ มีผู้ใช้สื่อสังคมรายหนึ่งกล่าวว่า “ต้องฟังเพลงเวลาทำงาน ทำความสะอาด หรือออกกำลังกาย จะทำงานเสร็จได้ดีกว่าเมื่อมีเพลงฟัง” ขณะที่อีกคนบอกว่า “ผมไม่ชอบความเงียบ ต้องฟังเพลงตลอดเวลา”
แต่ล่าสุด Gretchen Rubin นักเขียนที่ติดอันดับ New York Times และนักวิชาการด้านความสุข แนะนำว่าการฟังเพลงขณะอาบน้ำอาจไม่ดีต่อสุขภาพจิตใจ เธอแนะนำว่าควรหลีกเลี่ยงเสียงรบกวนหรือการกระตุ้นทางจิตใจใดๆ ขณะทำความสะอาดตัวเอง เพราะการฟังเสียงตลอดเวลาทำให้เรายากที่จะเชื่อมโยงกับจิตใต้สำนึกของเรา และอาจส่งผลเสียต่อความคิดสร้างสรรค์
รูบินกล่าวว่าในช่วงที่สมองอยู่ใน “โหมดว่าง” หรือไม่มีสิ่งรบกวน เป็นช่วงที่คนมักจะมีไอเดียหรือความคิดใหม่ๆ ได้ เนื่องจากสมองจะพยายามหาทางหยุดความเบื่อ ซึ่งบ่อยครั้งความคิดที่ดีจะเกิดขึ้นก่อนนอนเพราะไม่มีสิ่งรบกวนใดๆ
เธอย้ำว่าความเบื่อเป็นสิ่งสำคัญ และถ้าอยากให้เกิดประกายความคิดสร้างสรรค์ ควรปล่อยให้จิตใจได้ล่องลอยอย่างน้อยวันละไม่กี่นาที