จุลินทรีย์ในลำไส้มีความสำคัญต่อสุขภาพมนุษย์อย่างไร
จุลินทรีย์ในลำไส้มีความสำคัญต่อสุขภาพมนุษย์อย่างไร
ทุกคนมีความเชื่อว่า "จุลินทรีย์ในลำไส้มีความสำคัญต่อสุขภาพมนุษย์" แต่จะด้านใดนั้น บทความจากหนังสือ ชีวจิต ประจำเดือน มิถุนายน 2567 เล่มที่ 594 โดย รองศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ นายแพทย์กฤษณ์ พงศ์พิรุฬห์ ได้ให้ข้อมูลว่า
หากต้องการศึกษาว่าจุลินทรีย์ทั้งหมดในร่างกายของคนว่าเป็นอย่างไร จะดูจากยีนพันธุกรรมของจุลินทรีย์ หรือเรียกว่า "ไมโครไบโอม (Microbiome)" แต่ในปัจจุบันยังมีจำกัด ยังเป็นเรื่องที่จับต้องได้ยากกว่าการตรวจร่างกาย ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง หรือแม้กระทั่งการส่องกล้องที่ให้ผลจับต้องได้ ตรงไปตรงมา จึงยังไม่สามารถฟันธงได้ชัดเจนในเรื่องความเป็นเหตุหรือเป็นผลว่าจุลินทรีย์ในลำไส้มีความสำคัญต่อสุขภาพรวมถึงเกี่ยวข้องกับโรคได้ทุกโรค
แต่อย่างไรก็ดี จุลินทรีย์ในลำไส้บางชนิดก็มีประโยชน์ต่อร่างกาย หรือที่นิยมเรียกกันว่า"จุลินทรีย์ตัวดี"หรือ"โพรไบโอติกส์" (Probiotics) ที่ช่วยย่อยอาหาร ช่วยกระบวนการเผาผลาญไขมันและน้ำตาล ช่วยระบบขับถ่าย ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายลดการเกิดภูมิแพ้ กระตุ้นการขับถ่าย แต่จุลินทรีย์บางชนิดก็อาจเป็นโทษหรือสร้างความผิดปกติก่อโรคให้ร่างกายได้เหมือนกัน หรือที่นิยมเรียกกันว่า "จุลินทรีย์ก่อโรค หรือจุลินทรีย์ตัวร้าย"
ข้อควรรู้เพิ่มเติม
- พรีไบโอติกส์(Prebiotics)
หมายถึง สิ่งไม่มีชีวิตที่เป็นอาหารของจุลินทรีย์หรือโพรไบโอติกส์ เช่น เส้นใย อาหารที่ร่างกายไม่สามารถย่อยหรือดูดซึมได้ในทางเดินอาหาร
- โพรไบโอติกส์(Probiotics)
หมายถึง จุลินทรีย์ที่ยังมีชีวิตและถือว่าเป็นชนิดที่ก่อประโยชน์ต่อร่างกายทั้งชนิดแบคทีเรียและยีสต์
- ซินไบโอติกส์(Synbiotics)
หมายถึง การนำพรีไบโอติกส์และโพรไบโอติกส์มารวมกัน
- โพสต์ไบโอติกส์ (Postbiotics)
หมายถึง ซากสิ่งมีชีวิตหรือซากโพรไบโอติกส์ที่ตายแล้ว และของเสียจากจุลินทรีย์
อ้างอิงจาก: หนังสือ ชีวจิต ประจำเดือน มิถุนายน 2567 เล่มที่ 594