โรคเบาหวานที่เกิดขึ้นในเด็กและวัยรุ่น เรื่องที่ไม่ควรละเลยในการดูแลลูกหลาน
ปัจจุบันพบว่าอุบัติการณ์การเกิดโรคเบาหวานในเด็ก และ วัยรุ่น มีจำนวนที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีการศึกษาในเชิงระบาดวิทยา พบอุบัติการณ์การเกิดโรคเบาหวานทั้งชนิดที่ 1 และ ชนิดที่ 2 ในประชากรที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เพิ่มขึ้นทุกปี โดยเบาหวานชนิดที่ 1 สามารถพบเจอได้ตั้งแต่เด็กวัยก่อนเรียน จนกระทั่งวัยรุ่น ส่วนในเบาหวานชนิดที่ 2 นั้น มักจะพบในเด็กช่วงกำลังเข้าวัยรุ่น
ภาวะโรคเบาหวานในเด็ก และ วัยรุ่น ก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ได้มากกว่าที่คิด ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสุขภาพการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ยากกว่าวัยผู้ใหญ่ และ ปัญหาภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้บ่อยเมื่อผู้ป่วยเด็กเจริญเติบโตสู่วัยผู้ใหญ่
ความแตกต่างของโรคเบาหวานในเด็ก และ โรคเบาหวานในผู้ใหญ่
1.ชนิดของเบาหวาน ส่วนมากเบาหวานที่พบในเด็กจะเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 แต่ในผู้ใหญ่จะพบชนิดที่ 2 ได้มากกว่า อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันพบเบาหวานชนิดที่ 2 ในเด็กเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีความสัมพันธ์โดยตรงกับการที่พบเด็กอ้วนเพิ่มขึ้น
2.การดูแลรักษา เนื่องจากเด็ก และ วัยรุ่น เป็นวัยที่ยังมีการเติบโต ช่วงวัยรุ่นเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ ด้าน ทั้งอารมณ์ การเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย ฮอร์โมนต่าง ๆ รวมทั้งยังอยู่ในช่วงวัยเรียน คนรอบข้างต้องมีส่วนเกี่ยวข้องในการดูแลรักษา ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว ครู เพื่อน รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ การดูแลรักษาผู้ป่วยเด็กจึงมีความละเอียดซับซ้อนมาก
3.ระยะเวลาที่เป็นเบาหวาน ถ้าเริ่มเป็นเบาหวานตั้งแต่เด็ก โอกาสที่จะพบภาวะแทรกซ้อนในอนาคตจะมีมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดี
ชนิดของโรคเบาหวานในเด็ก และ วัยรุ่น มี 2 ชนิดหลัก
เบาหวานชนิดที่ 1 (type 1 diabetes) เป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุดสำหรับเบาหวานในเด็กและวัยรุ่น เกิดจากการที่เซลล์ตับอ่อนที่เรียกว่า บีต้าเซลล์ ถูกทำลาย ทำให้ไม่สามารถสร้างอินซูลินได้อย่างเพียงพอที่จะลดระดับน้ำตาลในเลือด ก่อให้เกิดระดับน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติ มีภาวะกรดคีโตนเกินในเลือด ซึ่งจะทำให้มีอาการ กระหายน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย เหนื่อยเพลีย น้ำหนักลด ปวดจุกแน่นท้อง คลื่นไส้อาเจียน เบาหวานชนิดนี้เชื่อว่าเกิดความผิดปกติของยีนส์บางชนิดที่ควบคุมการทำงานของภูมิคุ้มกันในร่างกาย เป็นผลจากกระบวนการทางพันธุกรรม และ สิ่งแวดล้อม มักเริ่มเป็นโรคเมื่ออายุยังน้อย
เบาหวานชนิดที่ 2 (type 2 diabetes) ปัจจุบันพบได้มากขึ้นในเด็ก และ วัยรุ่น เนื่องจากมักพบร่วมกับโรคอ้วน หรือ ภาวะโภชนาการเกิน เพราะในปัจจุบันมีเด็กที่อ้วน มีภาวะโภชนาการเกินมากขึ้น โรคที่สัมพันธ์โดยตรงกับภาวะน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น และ สัมพันธ์กับภาวะอ้วน เนื่องจากการรับประทานอาหาร การใช้ชีวิตของคนไทยที่เปลี่ยนแปลง บริโภคน้ำตาล ไขมันมากขึ้น ลดการออกกำลังกายลง รวมไปถึงการพักผ่อนที่น้อยลง พักผ่อนไม่เป็นเวลา จึงก่อให้เกิดภาวะดื้ออินซูลินทำให้การทำงานของเบต้าเซลล์ลดลง
การป้องกัน รักษา โรคเบาหวานในเด็กและวัยรุ่น
1.ถึงแม้ปัจจุบันยังไม่สามารถพบวิธีป้องการเกิดเบาหวานชนิดที่ 1 ได้ แต่สามารถวินิจฉัย รักษาได้รวดเร็วอย่างถูกวิธี ด้วยการฉีดอินซูลิน โดยใช้ปริมาณอินซูลินในระดับที่เหมาะสมในการลดระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่ให้เกิดกรดคีโตนในเลือดและจะต้องไม่มีภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำอีกด้วย ร่วมกับการปรับวิถีการดำเนินชีวิตเพื่อลดน้ำหนักและควบคุมน้ำหนักให้เป็นปกติ
2.โรคเบาหวานชนิดที่ 2 รับประทานยาลดระดับน้ำตาลควบคู่ไปกับการควบคุมอาหาร รวมไปถึงการควบคุมความดันโลหิต ไขมันในเลือด น้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
3.การควบคุมอาหาร ลดอาหารประเภทแป้ง น้ำตาล ไขมัน ให้เน้นรับประทานโปรตีน ผัก ผลไม้ เลือกทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตชนิดที่ไม่ทำให้น้ำตาลในเลือดขึ้นเร็วเกินไป เช่น อาหารที่มีใยอาหารสูงข้าว ธัญพืชที่ไม่ขัดสี ถั่ว ฝรั่ง แอปเปิ้ล เป็นต้น ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็มจัด อาหารฟาสต์ฟู้ด อาหารที่มีไขมันสูง
4.ส่งเสริมกิจกรรมที่ขยับร่างกาย เช่น การออกกำลังกาย วิ่งเล่น เล่นกีฬา ควรออกกำลังกายเป็นประจำ วันละ 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง เพื่อลดการอยู่นิ่ง ๆ หรือ นอนดูโทรทัศน์ เล่นโทรศัพท์ เล่นเกมคอมพิวเตอร์ลง ก็สามารถป้องกันการเกิดภาวะเบาหวานในเด็กและวัยรุ่นได้