มลภาวะทางเสียง ผลกระทบต่อสุขภาพ และ การใช้ชีวิต อาจเพิ่มความเสี่ยง โรคซึมเศร้า ไม่รู้ตัว
องค์การอนามัยโลก (World Health Organization) ได้ให้ข้อมูลว่า ระดับเสียงที่ต่ำกว่า 70 เดซิเบล จะไม่ก่อให้เกิดอันตราย และระดับเสียงที่มากกว่า 85 เดซิเบลขึ้นไป หากฟังอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานกว่า 8 ชั่วโมง อาจจะเป็นอันตรายสร้างปัญหาสุขภาพทั้งระยะสั้น และระยะยาว แต่บางครั้งมลพิษทางเสียงอาจไม่ใช่เสียงที่ดัง เพราะเสียงเบากว่าก็สร้างความรำคาญ ความหงุดหงิดใจได้ไม่แพ้กัน
มลภาวะทางเสียงที่อาจจะพบเจอได้
- เสียงการจราจรบนท้องถนน อย่างเช่น เสียงรถ เสียงแตร เสียงรถฉุกเฉิน
- เสียงจากการก่อสร้าง อย่างเช่น เสียงขุดเจาะ เสียงเครื่องจักรอื่น ๆ
- เสียงจากสนามบิน ในขณะที่เครื่องบินกำลังบินขึ้น หรือลงจอด
- เสียงจากที่ทำงาน โดยเฉพาะหากทำงานในสถานที่ที่เปิดโล่ง
- เสียงจากโรงงานอุตสาหกรรม อย่างเช่น เสียงพัดลม เสียงเครื่องจักร
- เสียงจากสถานีรถไฟ
- เสียงจากเครื่องใช้ในบ้าน อย่างเช่น เครื่องดูดฝุ่นเครื่องตัดหญ้า การเปิดเพลงดังเป็นเวลานาน ๆ
- เสียงจากพลุ หรือดอกไม้ไฟ
ผลกระทบจากมลภาวะทางเสียง
- รบกวนการนอน เสียงรบกวนขณะนอนหลับ อย่างเช่น เสียงกรน เสียงกัดฟัน หรือเสียงการจราจรที่ลอดเข้ามาในห้อง หูเรายังคงทำงานอยู่ในขณะนอนหลับแม้ว่าจะไม่รู้สึกตัว จึงทำให้ได้ยินเสียงเหล่านั้น เมื่อการนอนหลับถูกขัดขวาง ทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้ร่างกายฟื้นฟูได้น้อยลง ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันทำงานลดลง รู้สึกง่วงซึมระหว่างวัน อารมณ์ไม่ดี ในระยะยาวอาจทำให้ร่างกายอ่อนแอ เหนื่อยล้า และเสี่ยงต่อโรคเครียด ภาวะซึมเศร้า โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคเรื้อรังอีกหลายโรค นอกจากนี้การพักผ่อนไม่เพียงพอ อาจทำให้ฮอร์โมน เกรลิน (Ghrelin) ซึ่งควบคุมความหิวเพิ่มขึ้น จึงกระตุ้นให้รู้สึกหิวบ่อย นำไปสู่น้ำหนักที่เพิ่มและโรคอ้วนได้
- ทำให้อารมณ์เสีย เสียงเหล่านั้นมักกระตุ้นให้เกิดอารมณ์ทางลบ โดยเฉพาะช่วงเวลาที่ต้องการพักผ่อน หรือต้องจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง การศึกษาชิ้นหนึ่งชี้ว่า เสียงเดิน หรือเสียงฝีเท้า ที่เกิดขึ้นขณะนอนหลับภายในอาคารพักอาศัย อาจทำให้เกิดความรู้สึกทางลบได้ ตั้งแต่รู้สึกไม่พอใจ รำคาญใจ เครียด โมโห โกรธแค้น บางคนถึงขั้นรู้สึกปวดหัว เหนื่อยล้า และไม่สบายจากการได้ยินเสียงเหล่านี้
- เพิ่มความเสี่ยงของโรคสมองเสื่อม ผู้เชี่ยวชาญ พบว่า ในผู้ที่มีอาการหูหนวกจำนวนหนึ่งมีอาการสมองเสื่อมร่วมด้วย จึงคาดว่าทั้งสองอาการนี้อาจมีบางอย่างที่เชื่อมโยงกัน นักวิจัยบางคนสันนิษฐานว่าเสียงที่ดังเกินไป ไม่เพียงส่งผลต่อเซลล์ขนในหูชั้นในอักเสบ และนำไปสู่อาการหูหนวกเท่านั้น แต่อาจส่งผลให้เซลล์สมองบางส่วนอักเสบ และเพิ่มความเสี่ยงของโรคสมองเสื่อมได้ ข้อมูลดังกล่าวเป็นเพียงข้อสันนิษฐาน จึงจำเป็นต้องได้รับการศึกษาเพิ่มเติมว่าเสียงดังส่งผลกระทบต่อเซลล์สมองได้หรือไม่
- การได้ยินมีปัญหา หรือ เสี่ยงต่อหูหนวก การได้ยินเสียงดังมาก ๆ เพียงครั้งเดียวที่ทำให้เกิดหูหนวก การได้ยินเสียงดังในระดับกลางติดต่อกันเป็นเวลานานก็อาจทำให้สูญเสียการได้ยิน นักวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า เซลล์ขนนั้นมีจำนวนประมาณหนึ่งหมื่นเซลล์และข้อจำกัดของเซลล์ขนก็คือ เมื่อถูกทำลายมันจะไม่สามารถงอกหรือฟื้นฟูตนเองได้ ดังนั้นการได้ยินเสียงดังอาจทำให้เซลล์ขนเหล่านี้อ่อนแอและตายลง พอนานวันเข้าจึงทำให้เซลล์ขนส่งสัญญาณไปยังสมองได้น้อยลง และอาจทำให้หูหนวกในที่สุด
- เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ งานศึกษาชิ้นหนึ่งได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบของเสียงกับความผิดปกติของทารกในครรภ์ พบว่า หลักฐานทางวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่งบ่งบอกว่าการได้รับเสียงรบกวนขณะอยู่ในครรภ์อาจเพิ่มความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ได้ อย่างเช่น ทำให้ทารกน้ำหนักตัวน้อย คลอดก่อนกำหนด หรืออาจทำให้แท้ง อย่างไรก็ตามงานศึกษานี้ยังแนะนำให้มีการศึกษาเพิ่มเติม เพื่อยืนยันถึงผลกระทบต่อทารกในครรภ์ที่อาจเกิดขึ้น
มลภาวะทางเสียงเกี่ยวข้องกับโรคซึมเศร้าอย่างไร
เสียงรบกวน หรือมลภาวะทางเสียง เป็นตัวการในการสร้างความรำคาญ และความตึงเครียดทางสภาพแวดล้อม การเปิดรับกับมลภาวะทางเสียงในระดับที่ดังเกินกำหนด หรือเป็นเวลานาน มักจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ ทั้งทางร่างกาย และทางจิตใจ
มีงานวิจัยที่ศึกษาในเรื่องของความเกี่ยวข้องระหว่างมลภาวะทางเสียง และสุขภาพจิต อย่างเช่น โรควิตกกังวล และโรคซึมเศร้า พบว่า มลภาวะทางเสียงมีความเกี่ยวข้องกับการเพิ่มขึ้นของโรคซึมเศร้า และโรควิตกกังวลมากเป็นสองเท่า เนื่องจากเสียงรบกวนเหล่านี้ เป็นตัวการสำคัญของการสร้างความรำคาญ ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรม
นอกจากนี้ปัญหาการนอนไม่หลับที่มาพร้อมกับมลภาวะทางเสียง ทำให้ร่างกาย และจิตใจเกิดความเครียดสะสม เนื่องจากร่างกายไม่ได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอ ปัจจัยเหล่านี้เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดโรควิตกกังวล และโรคซึมเศร้า
ปกป้องสุขภาพจากมลภาวะทางเสียง
1.สวมอุปกรณ์กันเสียง อุปกรณ์กันเสียงมีหลากหลายรูปแบบ หลายคนอาจเคยชินกับ Earplugs หรือจุกอุดหูที่มีลักษณะเป็นโฟม หรืออาจใช้ Earmuffs ซึ่งมีลักษณะคล้ายหูฟังแบบครอบหู โดยอุปกรณ์เหล่านี้อาจลดเสียงได้ราว 15‒30 เดซิเบล สามารถใช้ร่วมกันได้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการลดเสียง
2.งดฟังเสียงดังเป็นเวลานาน อย่างเช่น เสียงทีวี เสียงเพลง เสียงดนตรีในคอนเสิร์ต การฟังเสียงเหล่านี้มักรู้สึกเพลิดเพลินกับเสียงมากกว่าคิดถึงผลกระทบ แต่เพื่อความปลอดภัย ควรหลีกเลี่ยงการฟังเสียงเหล่านี้ต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน โดยเฉพาะการฟังผ่านหูฟัง หรือลดความดังของเสียงลง
3.ซื้ออุปกรณ์ที่ทำงานเงียบ อย่างเช่น เครื่องดูดฝุ่น อาจทำงานเสียงดังจนทำให้เกิดมลพิษทางเสียง เพื่อลดผลกระทบจากอาจเลือกซื้ออุปกรณ์ที่มีการทำงานเบาลง
4.ปิดหน้าต่าง การปิดหน้าต่างจะช่วยลดเสียงรบกวนจากภายนอก ไม่ให้เข้ามาในบ้าน หรือในห้องที่อยู่ ควรจะเปิดหน้าต่างก็ต่อเมื่อภายนอกไม่มีเสียงดังรบกวน
5.ติดตั้งแผ่นซับเสียงหรือฉนวนกันเสียง เพื่อป้องกันมลภาวะทางเสียงอย่างจริงจัง แผ่นซับเสียงและฉนวนกันเสียงนี้จะสามารถป้องกันมลภาวะทางเสียงไม่ให้เข้ามา หรือออกไปจากห้องได้เกือบทั้งหมด
6.สวมหูฟังที่ตัดเสียงรบกวน หูฟังขนาดใหญ่แบบครอบหูที่สามารถป้องกันเสียงรบกวน สามารถป้องกันมลภาวะทางเสียงได้ เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องทำงานอุตสาหกรรม และผู้ที่ต้องทำงานในบริเวณที่มีเสียงดัง