โรคละเมอแช็ต ภัยเงียบของคนติดมือถือ
โรคละเมอแช็ต (Sleep Texting) เกิดมาจากการติดสมาร์ทโฟนมากเกินไป เป็นพฤติกรรมที่มีการใช้โทรศัพท์เพื่อตอบข้อความ หรือส่งข้อความไปหาผู้อื่นขณะที่กำลังนอนหลับ อยู่ในสภาวะกึ่งหลับกึ่งตื่น และถูกกระตุ้นการตอบสนองของสมอง ด้วยการลุกขึ้นมาส่งข้อความตอบกลับจากการได้ยินเสียงแจ้งเตือน หรือการสั่นสะเทือนจากสมาร์ทโฟนด้วยความเคยชินทันที ผู้ที่มีอาการละเมอแช็ตมักไม่รู้ตัว และจำไม่ได้ว่าเคยส่งข้อความไปหาผู้อื่น
จากการศึกษาที่เชื่อถือได้ของการใช้เทคโนโลยี และการนอนหลับ ในปี 2013 นักวิจัย พบว่า 10 % ของผู้เข้าร่วมทดลองมีอาการเข้าข่ายที่จะเป็นโรคละเมอแช็ต เพราะพวกเขาได้เผลอกดส่งข้อความโดยไม่จำเป็น และมีอาการสะดุ้งตื่นทำให้นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ อย่างน้อย 2-3 คืน ต่อสัปดาห์เลยทีเดียว
ปัจจัยบางอย่างที่ส่งผลให้เกิดโรคละเมอแช็ต
- ความเครียด มีความตึงเครียด หรือวิตกกังวลเป็นเวลาหลายคืน
- การนอนหลับไม่เพียงพอ อดหลับอดนอนเป็นเวลานานติดกัน
- การเปลี่ยนแปลงเวลานอนหลับอย่างไม่สม่ำเสมอ
- ความผิดปกติของการหายใจ
- การมีไข้ป่วย หรือไม่สบาย
- การใช้ยานอนหลับ การใช้ยากล่อมประสาทร่วม
- การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนนอน
- การนอนหลับในสถานที่ที่มีเสียงดัง มีสิ่งรบกวนรอบข้าง
- พันธุกรรม
การแก้ไขพฤติกรรม และวิธีป้องกัน
- ปิดเสียงสมาร์ทโฟน หรือวางให้ห่างตัวเมื่อจะเข้านอน
- รักษากิจวัตรการนอน หรือเวลาเข้านอนให้สม่ำเสมอ ควรนอนหลับพักผ่อนอย่างน้อย 7–9 ชั่วโมง
- หลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์ก่อนนอน โดยอาจปิดเสียงแจ้งเตือนต่าง ๆ หรือปิดเครื่องโทรศัพท์ เนื่องจากเสียงแจ้งเตือนจากโทรศัพท์อาจกระตุ้นให้เกิดโรคละเมอแช็ตได้
- เปลี่ยนยานอนหลับ เนื่องจากยานอนหลับ หรืออาหารเสริมที่ช่วยในการนอนหลับ อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคละเมอแช็ตได้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อปรับเปลี่ยนยาให้เหมาะสมต่อร่างกาย
- ปรับเปลี่ยนห้องนอนให้เหมาะสมต่อการนอนหลับ ห้องนอนควรเงียบ มืด มีอุณหภูมิที่เหมาะสม
- หลีกเลี่ยงการกินอาหารคาเฟอีน และแอลกอฮอล์ก่อนนอน
- ออกกำลังกายเป็นประจำ เพราะการออกกำลังกายช่วยให้นอนหลับง่ายขึ้น