9คำพูดรุนแรงที่'กระทบจิตใจเด็ก'
9 คำพูดที่ผู้ปกครองควรหลีกเลี่ยงต่อเด็ก เพราะอาจกระทบกระเทือนต่อสุขภาพจิตของเด็กได้มีอะไรบ้าง? มาดูกันไปทีละข้อเพื่อระมัดระวังกันดีกว่า!
1.พูดคำหยาบหรือประชดประชันด้วยอารมณ์ เช่น ไม่น่าเกิดมาเป็นลูกพ่อ/แม่เลย ทำไมถึงทำตัวงี่เง่าแบบนี้ ซึ่งนอกจากจะทำให้เด็กรู้สึกว่าตนไม่เป็นที่ต้องการแล้ว เด็กหลายคนยังนำนิสัยนี้ติดตัวมาถึงวัยผู้ใหญ่และกลายเป็นคนพูดจาตำหนิหรือเสียดสีคนอื่น หลงคิดว่าตนเองทำได้และทำให้ตนดูเหนือกว่าผู้อื่นเสมอ
2.ออกคำสั่งและตั้งเงื่อนไข ขู่ว่าจะไม่รักถ้าไม่ทำตาม เช่น ถ้าไม่ตั้งใจเรียนพ่อแม่จะไม่รัก ไม่กินข้าวให้หมดจะเรียกตำรวจมาจับ หรือลงโทษอย่างหนักเป็นประจำเมื่อเด็กไม่ทำตาม
3.เปรียบเทียบลูกกับคนอื่น เช่น ดูลูกป้าข้างบ้านสิ เขาตั้งใจเรียนคะแนนสอบถึงดี หรือทำไมไม่หัดทำตัวเรียบร้อยเหมือนเพื่อนคนนั้นบ้าง ซึ่งเป็นการดูถูกความสามารถและปิดกั้นลักษณะเฉพาะตัวของเด็ก ควรใช้วิธีดูแลและชี้แนะแนวทางแทน รวมถึงเข้าใจและส่งเสริมความสามารถเฉพาะตัวของเด็กแต่ละคน
4.อ้างบุญคุณ เช่น พ่อแม่ทำงานหนักต้องรู้จักสำนึกบุญคุณ ฉันเลี้ยงแกมาแกต้องทำตามที่ฉันบอก หรือ ฉันให้แกมาเยอะแล้วคราวนี้แกต้องตอบแทนฉัน ความกตัญญูเป็นสิ่งที่ควรปลูกฝังให้แก่เด็กแต่ไม่ควรใช้เพื่อกดดันเด็กให้ลำบากใจ
5.พูดเรื่องความผิดเก่าๆหรือโยงไปเรื่องความผิดอื่นๆ เมื่อเด็กทำผิดพลาด เช่น ทำไมทำแก้วแตกให้แม่เก็บ วันก่อนก็หกล้มลำบากแม่ต้องมาทำแผล สร้างภาระอยู่เรื่อย
6.รับปากเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแต่ไม่รักษาสัญญา เช่น ถ้าลูกสอบได้คะแนนดีจะพาไปเที่ยวต่างประเทศ แต่เมื่อลูกทำได้ก็ไม่รักษาสัญญา
7.ดูถูกความสามารถ แม้จะเป็นการพูดดูถูกเพื่อกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกฮึกเหิมและต้องการที่จะเอาชนะคำสบประมาท แต่ก็ใช้ได้เพียงบางสถานการณ์เท่านั้น เพราะโดยมากมักเป็นการกระตุ้นความรู้สึกในทางลบซึ่งทำให้เด็กรู้สึกถูกด้อยค่าจนขาดแรงจูงใจและไม่อยากที่จะทำอะไรที่ตัวเองถูกดูถูกว่าทำได้ไม่ดีอีกต่อไป
8.ขับไล่ไสส่ง เช่น ไล่ออกจากบ้าน หรือพูดว่าทำตัวแบบนี้จะไม่เลี้ยงแล้วจะไล่ออกจากบ้าน
9.พูดให้ร้ายคนอื่นให้เด็กฟัง การตั้งใจพูดให้ร้ายคนอื่นให้ลูกฟังจนเป็นนิสัยเท่ากับเป็นการยัดเยียดข้อมูลทางลบและความรู้สึกที่ไม่ดีต่อคนอื่น เป็นการปล่อยให้เด็กแบกรับความรู้สึกอึดอัดใจ สับสนและทำตัวไม่ถูกเมื่อต้องพบกับบุคคลที่ถูกกล่าวถึงในทางที่ไม่ดี