การเดินป่า ประโยชน์ดีๆ ของการผจญภัย สุขทั้งกาย และใจ
ประโยชน์ของการเดินป่า
เสริมความแข็งแรงของกระดูก เพิ่มวิตามินดีแก่ร่างกาย
การเดินป่า เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ช่วยให้สามารถออกกำลังขาได้มากขึ้น ทุกย่างก้าวที่เดินเข้าป่า เพื่อไปยังจุดหมายนั้นกล้ามเนื้อกับกระดูกจะได้ออกแรงทำงานไปพร้อม ๆ กัน มีส่วนช่วยเพิ่มและรักษาความหนาแน่นของมวลกระดูก
ในระหว่างที่เดินป่า ร่างกายอาจได้สัมผัสกับแสงแดด ซึ่งช่วยกระตุ้นการสร้างวิตามินดีที่ผิวหนัง ช่วยในการสังเคราะห์แคลเซียม ซึ่งสารอาหารสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง โดยวิตามินดีอาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคบางชนิดได้ อย่างเช่น โรคหัวใจ และโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ช่วยในเรื่องการลดน้ำหนัก และยังช่วยบรรเทาอาการของโรคซึมเศร้าได้
เผาผลาญแคลอรี่
ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยฟลอริด้า (University of Florida) พบว่า การเดินในพื้นที่ไม่สม่ำเสมออย่างการเดินป่า ร่างกายจะต้องใช้พลังงานในการเดิน มากกว่า การเดินบนพื้นราบเรียบปกติ ถึง 28 เปอร์เซ็นต์ การใช้พลังงานที่มากขึ้น จะไปกระตุ้นการทำงานของระบบเผาผลาญ ให้เผาผลาญไขมัน หรือสารอาหารออกมาเป็นพลังงานแก่ร่างกาย การเดินป่า 1 ชั่วโมง สามารถเผาผลาญแคลอรี่ได้ประมาณ 300-400 แคลอรี่
ซึ่งร่างกายจะเผาผลาญได้มากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ อย่างเช่น แบกสัมภาระที่หนักหรือไม่ ระยะทางในการเดินป่าไกลแค่ไหน ลักษณะภูมิประเทศมีความยากลำบากต่อการเดินหรือไม่ ความเร็วต่อการเดินป่าเป็นอย่างไร เป็นต้น
เสริมสร้างความแข็งแรงแก่ร่างกาย
การเดินป่า เนื่องจากต้องมีการเดิน และการเคลื่อนไหวร่างกายเป็นเวลาหลายชั่วโมง ร่างกายจะได้ใช้กล้ามเนื้อทุกส่วนในการทำกิจกรรม ทั้งกล้ามเนื้อช่วงขา กล้ามเนื้อแขน สะโพก ข้อเท้า รวมถึงกระตุ้นการทำงานของหัวใจ และหลอดเลือด ช่วยส่งเสริมการทำงานของหัวใจ และระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยลดอาการปวดข้อ ลดระดับน้ำตาลในเลือด และช่วยเพิ่มระดับออกซิเจนภายในร่างกายได้อีกด้วย
ช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น
ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยโคโลราโด โบลเดอร์ (University of Colorado Boulder) โดย เคนเน็ธ ไรท์ (Kenneth Wright) ซึ่งได้รับการเผยแพร่ลงใน Current Biology เมื่อปีค.ศ. 2017 พบว่า กิจกรรมเดินป่าช่วยเพิ่มฮอร์โมนเมลาโทนิน (Melatonin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ร่างกายสามารถสร้างขึ้นเองได้ ทำหน้าที่สำคัญในการควบคุมการนอนหลับ และทำให้รู้สึกง่วง
มีงานวิจัยชิ้นหนึ่ง พบว่า การใช้ชีวิตในป่าโดยไม่มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เป็นเวลา 1 สัปดาห์ อาจช่วยปรับนาฬิกาชีวิต โดยอาจส่งผลให้เข้านอนได้เร็วกว่าปกติถึง 2 ชั่วโมง เพราะไม่ว่าจะเป็นแสงจากหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ หรือแสงไฟจากหน้าจอสมาร์ตโฟน และอุปกรณ์ดิจิทัลต่าง ๆ ก็ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระดับสารเมลาโทนินในร่างกาย ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ควบคุมนาฬิกาชีวิตของร่างกาย และมีผลต่อการนอนหลับของมนุษย์
อีกทั้งการเดินป่าที่ได้อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ยังมีส่วนช่วยกระตุ้นวงจรการนอนหลับตามธรรมชาติในร่างกาย ซึ่งช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้นอีกด้วย
เติมพลังบวก เพิ่มความสุข
การเดินป่า สามารถช่วยกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนแห่งความสุขที่ชื่อ เอนดอร์ฟิน (Endorphine) ซึ่งเป็นสารเคมีในสมองที่ช่วยลดความเจ็บปวด ทำให้ร่างกายรู้สึกดี มีอารมณ์สุนทรีย์มากขึ้น ช่วยผ่อนคลายความเครียด ถ้าเป็นการไปเดินป่ากับกลุ่มเพื่อน จะยิ่งช่วยเพิ่มความสนุก และความสุขในการทำกิจกรรมมากขึ้นไปอีก
ผลการวิจัยของ เกรกอรี่ เบรทแมน (Gregory Bratman) นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) ได้ทำการทดลองโดยให้อาสาสมัคร 60 คน ให้เดินป่า หรือเดินไปตามถนนลาดยางเป็นเวลา 50 นาที พบว่า อาสาสมัครที่เดินเข้าป่า หรือทางธรรมชาติ มีความเครียด น้อยกว่า อาสาสมัครที่เลือกเดินในเมือง นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ที่เดินชมธรรมชาติมีอารมณ์ขัน และรู้สึกผ่อนคลาย มากกว่า ผู้ที่เดินในเมืองอีกด้วย
การเดินป่าอาจช่วยบรรเทาความเครียด ความเศร้า ความหดหู่ใจ และอารมณ์ที่ขุ่นมัวได้ ทั้งยังช่วยให้เกิดความภาคภูมิใจในตนเอง และช่วยลดพฤติกรรมแยกตัวออกจากสังคมอีกด้วย
ลดอาการซึมเศร้า
วิตามินดี มีส่วนช่วยให้อาการซึมเศร้าดีขึ้น จากผลการวิจัยของภาควิชาจิตเวชศาสตร์และประสาทวิทยาศาสตร์เชิงพฤติกรรม (The Department of Psychiatry and Behavioral Neurosciences) ของโรงพยาบาลเซนต์โจเซฟ (St. Joseph’s Hospital) เมืองแฮมิลตัน รัฐออนแทรีโอ (Hamilton, Ontario) ประเทศแคนาดา พบว่า หากร่างกายมีปริมาณของวิตามินดีไม่เพียงพอ นอกจากจะส่งผลให้เกิดอ่อนเพลีย กระดูกไม่แข็งแรง หรือปวดกล้ามเนื้อแล้ว ยังส่งผลให้เกิดอาการซึมเศร้าด้วย จากผลการศึกษายังพบอีกว่า ผู้ที่มีภาวะขาดวิตามินดี มีแนวโน้มของอาการซึมเศร้าดีขึ้นหลังจากเข้ารับการรักษาอาการขาดวิตามินดี