ท่องโลกดึกดำบรรพ์: เมื่อบรรพบุรุษออกท่องโลกกว้าง
ลิงไร้หางหรือเอป (Ape) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอันดับไพรเมตกลุ่มหนึ่ง มีลักษณะเด่นคือมีนิ้วห้านิ้วและนิ้วโป้งใช้ในการจับห้อยโหน มีเต้านมสองเต้าเหมาะกับการเลี้ยงลูก แขนขายาวทำให้ห้อยโหนและปีนป่ายได้ดี นอกจากนี้ ยังมีระบบสังคมและสมองที่พัฒนามากๆ และยังทำให้พวกมันเป็นสายพันธุ์ที่ประสบความสำเร็จในวิวัฒนาการอีกด้วย เพราะคุณลักษณะเหล่านี้ล้วนถูกส่งต่อตามสายวิวัฒนาการของมนุษย์ในช่วงเวลาที่สายวิวัฒนาการแตกแขนงไปอีกด้วย วันนี้ เราจะพาทุกท่านเดินทางไปยังเอธิโอเปียสมัย 4 ล้านปีที่แล้ว ช่วงเวลาที่โลกเจอการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศของยุคนีโอจีนจากไมโอซีน เมื่อเอปกลุ่มหนึ่งลงมาจากต้นไม้และเริ่มพัฒนาคุณลักษณะที่มนุษย์จะใช้ในการออกล่าหาอาหาร ถ้าพร้อมแล้วไปชมกันเลย!
ยุคไพลโอซีน (Pliocene era) เป็นช่วงเวลาตั้งแต่ 5-1 ล้านปีที่แล้ว ช่วงเวลานี้โลกเริ่มเย็นตัวลงก่อนจะเข้าสู่ยุคน้ำแข็ง ทำให้ความชื้นในอากาศอย่างป่าดิบชื้นหายไป ทุ่งหญ้าและทะเลทรายขยายตัวขึ้นมาแทนที่ ตอนนี้เป็นช่วงเวลาที่ผลักดันเอปกลุ่มหนึ่งที่หลายๆ คนเชื่อว่า นี่คือบรรพบุรุษของมนุษย์ในแอฟริกาอย่างแน่นอน
คุณเดินทางมายังทุ่งหญ้าเขตร้อนของทวีปแอฟริกา ปัจจุบันที่นี่คือประเทศเอธิโอเปีย และตรงนี้จะแห้งแล้งมากๆ แต่ยุคนั้นยังมีความชุ่มชื้นจากทะเลสาบและภูเขาไฟที่ดันแผ่นดินยกตัวปิดแอฟริกาตะวันออกจากมหาสมุทรอินเดีย ตอนนี้ป่าดิบชื้นลดน้อยลงเหลือเพียงป่าดิบแล้ง หญ้าที่ใช้น้ำน้อยกว่าและโตไม่สูงมากเริ่มขึ้นมามากมายในตอนนี้
(ออสตราโลพิเธคัส)
ท่ามกลางดงไม้สีเหลืองแห่งนี้เอง คุณได้เห็นสิ่งมีชีวิตคล้ายลิงชิมแปนซีเดินดุ่มๆ อยู่ในทุ่งหญ้า พวกมันมีขนน้อยมาก ยืนตัวตรงและเดินสองขาได้บ้างแล้ว นี่คือ ออสตราโลพิเธคัส (Australopithecus) เอปที่พัฒนาวิวัฒนาการลักษณะทางกายภาพและสรีระจนใกล้จะเริ่มคล้ายมนุษย์ปัจจุบันนั้นจะเรียกว่า โฮมินิด (Hominid) พวกมันตัวไม่สูงมากนัก สูงเพียง 1.6 เมตร แต่ออสตราโลพิเธคัสเคยมีบรรพบุรุษอยู่ในป่ามาก่อน แต่เมื่อต้นไม้ใหญ่ลดน้อยลง พวกมันจึงอพยพออกหาอาหารใหม่ และพัฒนาทักษะการยืนตัวตรงด้วยสองขาเพื่อมองเห็นอันตรายและอาหารในทุ่งหญ้า และการเดินสองขานั้นไวกว่าสี่ขาแน่นอน อีกทั้งขนที่น้อยลงก็ช่วยระบายความร้อนตามลำตัวได้
ออสตราโลพิเธคัสเดินไปตามทุ่งหญ้าหาอาหาร ฝูงนี้มีจ่าฝูงเป็นตัวผู้หรือผู้นำครอบครัว ตามด้วยตัวผู้ระดับสูงอื่นๆ ตัวเมียและลูกน้อยในฝูงที่เกิดในครอบครัวนี้ เอปเป็นสัตว์สังคม เข้าใจได้ถึงความซับซ้อนทางอารมณ์ รู้สึกโกรธ เสียใจ และแสดงออกได้ผ่านสีหน้าและเสียงร้อง ภาษาแรกๆ ใช้ในหมู่ออสตราโลพิเธคัสเริ่มเป็นรูปร่างขึ้น แต่กระนั้นก็ไม่ได้ซับซ้อนอย่างที่มนุษย์ปัจจุบันใช้ ในทุ่งหญ้าแห่งนี้ มีสภาวะความกดดันในการเอาชีวิตรอดมากมาย
(ผลเบาบับ)
ครอบครัวฝูงนี้เดินไปตามต้นไม้ต้นหนึ่ง พวกมันปีนขึ้นต้นไม้และเด็ดผลไม้บนยอดลงมา พวกที่อยู่บนพื้นคอยเก็บผลไม้เหล่านั้นมากิน นี่คือ ลูกเบาบับ พืชทนแล้งของทวีปแอฟริกา ผลของมันแข็งมากแม้แต่ฟันของมนุษย์เรายังกัดไม่เข้า แต่ไม่ใช่ปัญหากับเหล่าออสตราโลพิเธคัส มีตัวเมียตัวหนึ่งหยิบเอาก้อนหินขึ้นมา เธอกำผลไม้ในมือและทุบมันลงกับหินจนเกิดรอยร้าวแล้วค่อยๆ แงะผล ลูกของเธอที่โตพอรู้ก็ทำตามเช่นกัน พฤติกรรมตามธรรมชาติอย่างการเรียนรู้ผ่านการสังเกตและการสอนส่งถ่ายข้อมูลเกิดขึ้นแล้ว ถึงจะเป็นรูปแบบหยาบๆ แต่ก็ถือว่าล้ำหน้ากว่าสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในเวลานี้
ถึงจะกินผลไม้จนอื่ม แต่สารอาหารของมันก็ไม่พอต่อการดำรงชีวิต พวกมันเดินทางมาไกลหลายกิโลเมตรจนหิวแล้ว ผลไม้คงจะไม่อยู่ท้อง แน่นอนว่าด้วยพื้นฐานที่เอปเป็นสัตว์ที่กินทั้งพืชและสัตว์ จึงสามารถดึงเอาโปรตีนจากเนื้อสัตว์ที่กินมาได้เช่นกัน มาเร็ว! พวกเขาจะไปหาเนื้อมากินแล้ว!
(พลาทิเบโลดอน)
ท่ามกลางทุ่งหญ้าแห่งนี้ พวกเขาเดินทางมาถึงทะเลสาบมากมาย มีสัตว์หน้าประหลาดที่พวกออสตราโลพิเธคัสไม่เคยเห็น ดูช้างประหลาดปากแบนพวกนี้สิ นี่คือ พลาทิเบโลดอน (Platybelodon) แทนที่จะมีงวงกลมยาวเป็นสาย มันมีงวงแบนต่อกับกรามและปากใช้ในการขุดกินหญ้าและพืชน้ำอ่อนนุ่มตามริมชายฝั่งแทน ตามราวต้นไม้ริมทะเลสาบ มีแองไซโลเธอเรี่ยม (Ancylotherium) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกลุ่มคาลิโคเธียร์ขนาดใหญ่ มีขาหน้ายาวคล้ายกับกำลังเดินลากแขนไปตามราวป่า พวกเขาต้องระวังไม่ทำให้สัตว์เหล่านี้ตกใจ หากทำแล้วอาจจะเกิดอันตรายได้
(แองไซโลเธอเรี่ยม)
พวกออสตราโลพิเธคัสเดินลงไปตามแหล่งน้ำ พวกเขาหยิบจับหอยจากทะเลสาบมากิน บางส่วนก็พยายามจับปลาที่ขึ้นมาตามชายฝั่ง แต่ก็แพ้ความว่องไวของปลา หลังจากหากันอยู่สักพัก ก็นำหอยทั้งหมดที่ได้มากองรวมกันและลงมือแงะหอยด้วยไม้กินกันอย่างเอร็ดอร่อย แต่ก็คงจะไม่พอแน่ๆ
(นกอินทรีมงกุฏแอฟริกาล่าเหยื่อ)
ขณะที่ไม่ระวังนั้นเอง ลูกออสตราโลพิเธคัสตัวหนึ่งวิ่งเล่นตามราวป่าก่อนจะถูกนกอินทรีขนาดใหญ่จับไปกิน นี่คือ อินทรีมงกุฏแอฟริกัน (African Crowned Eagle) นกอินทรีขนาดใหญ่ที่พบได้ยันยุคปัจจุบัน พวกมันมีขนาดตัวใหญ่โดยมีวงปีกกว้างถึง 1.5 เมตร และกรงเล็บยาวถึง 20 เซนติเมตร ทำให้มีเล็บแหลมคล้ายติดใบมีดตลอดเวลา มันโฉบได้ว่องไวมากและยกลูกออสตราโลพิเธคัสขึ้นฟ้าไป ทำให้ตัวอื่นๆ ในฝูงโห่ร้องด้วยความกลัวและวิ่งหนีไปต่อ นกนักล่าขนาดใหญ่เป็นเพียงหนึ่งในนักล่าจากธรรมชาติ มีหลักฐานฟอสซิลของกระโหลกออสตราโลพิเธคัสวัยเยาว์ที่ถูกเจาะจนเสียหายโดยกรงเล็บของนกอินทรีชนิดนี้
(เอ็นไฮดริโอดอน)
เมื่อวิ่งมาต่อตามทาง พวกเขาได้เจอกับซากสัตว์ขนาดใหญ่นอนตาย ซากของจระเข้แม่น้ำไนล์ เนื้อของมันกินดิบได้และมีมากพอให้ทั้งฝูงกินเป็นอาหาร ออสตราโลพิเธคัสต้องระวัง นักล่าที่ดุร้ายตัวนี้กำลังเฝ้าอยู่ เอ็นไฮดริโอดอน (Enhydriodon) นากแม่น้ำยักษ์ยาว 3 เมตร ด้วยขนาดตัวที่ใหญ่และกรามแข็งแรง มันสามารถกินจระเข้ตัวโตเต็มวัยได้สบายๆ พวกเขาต้องวางแผนรอ เมื่อเจ้านากหันไปอีกทาง เหล่าออสตราโลพิเธคัสรีบไปยกและลากอาหารออกมาไม่ให้เกิดเสียง พวกเขาช่วยกันทำงาน ข้อดีของการอาศัยเป็นฝูงคือ พวกเขาสามารถทำงานร่วมกันได้ นี่คือรูปแบบความสัมพันธ์ทางสังคมแบบหนึ่งเช่นกัน
(ไดโนเฟลิส)
เมื่อกินอาหารจนอื่ม พวกเขาเตรียมตัวจะนอนพักกันช่วงบ่าย เพราะได้อาหารอิ่มแล้ว พวกเขาจึงไม่ต้องออกหาอาหารอีก แต่แล้ว กลิ่นของเนื้อสัตว์ที่เหลือล่อนักล่าอีกชนิดมา ไดโนเฟลิส (Dinofelis) แมวป่านักล่าขนาดใหญ่ที่มีเขี้ยวยาวแหลม ถึงจะเชี่ยวชาญการล่าสัตว์กีบมากกว่า แต่มันก็อาจจะชอบกินลูกออสตราโลพิเธคัสได้ เจ้าแมวยักษ์เดินมาเบาๆ ทำให้เหล่าออสตราโลพิเธคัสตื่นในทันที
แน่นอนว่า พวกเขาไม่นิ่งเฉย จ่าฝูงหยิบท่อนไม้มาและกู่ร้องขับไล่นักล่าไป ตัวอื่นๆ ก็ทำตามเช่นกัน พวกเขาหยิบแท่งไม้ กระดูกและหินขึ้นมา ก่อนจะเตรียมปาสิ่งของและทุบตีเจ้าไดโนเฟลิสจนน่วม แมวยักษ์ที่แม้จะเป็นนักล่าสูงสุดในระบบนิเวศยังต้องแพ้ความสามัคคีและความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของออสตราโลพิเธคัส นี่คือสกิลสำคัญที่จะถูกส่งให้มนุษย์สายพันธุ์รุ่นต่อไป เพราะพวกเรายีนหยัดข้างกันแล้ว แม้แต่นักล่าก็ยังต้องยอมแพ้ไปในที่สุด
และสุดท้าย เมื่อผ่านวันอันยาวนาน พวกเขามองดูพระอาทิตย์ตกยามเย็น ลูกๆ ไซขนให้แม่ เหล่าตัวผู้ทั้งหลายนั่งพักและมองดูวันอันยาวนาน นี่คือความยากลำบากของบรรพบุรุษมนุษย์ในยุคนั้น ทั้งเต็มไปด้วยสัตว์ร้าย โรคภัย และภัยธรรมชาติ พวกเขาจะถูกบีบคั้นให้เอาชีวิตรอด และพัฒนาการดำรงชีวิตที่ดีขึ้นมาในอนาคตข้างหน้าต่อไปอย่างแน่นอน
ตอนต่อไป เดินทางไปยังชายฝั่งทะเลของเปรู เมื่อฉลามนักล่าขนาดใหญ่อย่างเมกาโลดอนตัวใหญ่ออกล่า เช่นเดียวกับเหล่าอสูรทะเลหน้าตาประหลาดต้องดำรงชีวิตท่ามกลางทะเลที่ปั่นป่วนและอันตราย เมื่อสภาพอากาศของโลกทำให้ทะเลหนาวเย็นขึ้น จะเกิดอะไรขึ้นกับเหล่าสัตว์เหล่านี้กัน โปรดติดตามต่อไปใน ท่องโลกดึกดำบรรพ์!