ท่องโลกดึกดำบรรพ์: ประเทศไทยในยุคดึกดำบรรพ์
ในช่วงยุคไมโอซีนตอนกลาง (15-10) ล้านปีที่แล้ว เป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีพื้นที่สูงขึ้นจากอิธิพลของภูเขาไฟใต้ทะเลที่ยกตัวทำให้แผ่นดินสูงขึ้นมากจนเชื่อมต่อกัน เรียกว่า ซุนดาแลนด์ (Sundaland) และเมื่อมีแผ่นดินมาก สิ่งมีชีวิตจึงกระจายพันธุ์ไปได้ไกลและกว้างมากในหลายๆ ที่ไปตามพื้นที่ที่จะกลายเป็นหมู่เกาะและแผ่นดิน วันนี้ เราจะพาทุกท่านมายังพื้นที่ที่ในปัจจุบันจะกลายเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำมูล ในอดีตก่อนมนุษย์จะถือกำเนิดขึ้นมาบนโลก สิ่งมีชีวิตจะวิวัฒนาการขึ้นมาก่อนหน้าและเริ่มปรากฏตัวเข้าไปอาศัยตามพื้นที่ต่างๆ แล้ว ถ้าพร้อมแล้วไปชมกันเลย!
พื้นที่โดยมากของประเทศไทยนั้นประกอบจากทุ่งหญ้าและป่าดิบชื้นเขตร้อนสลับกันไป โดยมีอิธิพลจากแม่น้ำมูลไหลผ่าน กระนั้นเอง เป็นช่วงเวลาที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายๆ กลุ่มอาศัยอยู่โดยรอบ แม้ปัจจุบันจะเหลือไม่กี่ชนิด แต่ในอดีตพวกมันก็แยกสายวิวัฒนาการไปหลายสกุล
(ไดโนเธอเรี่ยม)
คุณเดินย่างไปตามทุ่งหญ้าที่ขึ้นเต็มไปรอบสองข้างทางตามราวป่าที่ใกล้กับแม่น้ำมูลในอดีต มีร่างขนาดใหญ่ตะคุ่มๆ ค่อยๆ เงยหน้าขึ้นมามอง ช้างขนาดใหญ่ที่มีงางุ้มลงและงวงสั้นดูแปลกตาจ้องมองคุณด้วยความสงสัย แต่ก็หันกลับไปเดินไปทางต้นไม้ใหญ่และใช้งาครูดโน้มกิ่งไม้ให้ใบไม้ร่วงลงมา นี่คือ ไดโนเธอเรี่ยม (Deinotherium) ช้างดึกดำบรรพ์สกุลหนึ่งที่มีลักษณะงวงและหน้าตาประหลาดๆ ช้างมีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา และเมื่อแอฟริกาเชื่อมต่อกับทวีปยูเรเซีย ช้างจึงเดินทางอพยพข้ามเข้ามายังเอเชียได้ ช้างมีวิวัฒนาการทางวงที่ใช้หยิบจับสิ่งของ และงาที่ใช้ทั้งโน้มกิ่งไม้และป้องกันตัว แต่ไดโนเธอเรี่ยมดูจะเป็นพวกที่วิวัฒนาการมาเพื่อการขูดลำต้นเพื่อกินเปลือกไม้คล้ายจอบมากกว่า
(กอมโฟเธอเรี่ยม)
ช้างบางกลุ่มในทุ่งหญ้าพัฒนาและพิเรนท์ไปกว่านั้นมาก เช่น กอมโฟเธอเรี่ยม (Gomphotherium) พวกมันมีงาสี่ข้าง แต่แน่นอนว่า ที่ธรรมชาติสร้างพวกมันขึ้นมา ก็เป็นการสร้างรังสรรค์แบบสุ่มเพื่อดูว่างวงและงาแบบไหนจะเหมาะกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนตามยุคสมัยเรื่อยๆ ได้มากที่่สุด และปัจจุบัน ก็มีช้างสกุลเอลิฟาส (Elephas) ซึ่งก็เป็นช้างในปัจจุบันอาศัยอยู่ในทวีปเอเชียและประเทศไทยตราบจนปัจจุบัน
สัตว์อื่นๆ ในทุ่งหญ้าก็มีอีกมาก ทั้งละมั่ง กวางป่า แอนทิโลป และกาเซลล์ พวกมันเป็นสัตว์เคี้ยวเอื้องที่ปรากฏตัวขึ้นมาในช่วงเวลานี้มากที่สุด พวกมันกินทั้งพืชและใช้พื้นที่ในทุ่งโล่งเป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังมีแรดและหมูป่าหลายสิบชนิดอาศัยใช้พื้นที่ตรงนี้ร่วมกันอีกด้วย
แอนทิโลปตัวหนึ่งก้มกินหญ้าอย่างไม่ระวังตัว จู่ๆ ก็มีนักล่าขนาดใหญ่พุ่งออกมาจากดงหญ้าด้วยความเร็วดุจลมพายุกระแทกมันลง เสือโคร่งตัวเขืองขย้ำและกัดลำคอของเหยื่อจนตายคาที่ เสียงอึกทึกของการล่าเตือนสัตว์กินพืชตัวอื่นๆ ให้ออกไปจากจุดนั้นในทันที ยุคไมโอซีนตอนกลางนี้เอง สัตว์จำพวกเสือโคร่งและสิงโตเริ่มปรากฏขึ้นบนโลกแล้ว พวกมันใช้ประโยชน์ในการล่านี้เป็นอย่างดีเพื่อจับเหยื่อกิน
ขณะที่เจ้านักล่ากำลังลงมือกินอาหารอยู่นั้นเอง เครื่องในที่ไหลออกมาดึงดูดนักล่าอีกชนิดเข้ามาด้วย ไฮยีน่าขนาดยักษ์ที่มีขายาววิ่งปรี่ออกมาจากดงหญ้าสองตัวและเข้ามาดึงเครื่องในออกไป เจ้าเสือโคร่งคำรามและพยายามตะปบไล่ แต่นักล่าพวกนี้มีขนาดตัวพอๆ กันกับมันเลย นี่คือ ไดโนครอค็อตต้า (Dinocrocouta) เป็นไฮยีน่าดึกดำบรรพ์ที่อาศัยอยู่ในเอเชียและยุโรปในช่วงเวลานี้ พวกมันคล้ายกับไฮยีน่าลายจุดในแอฟริกามาก แต่ต่างกันตรงขนาดความยาวที่เท่ากับเสือโคร่งในปัจจุบัน หรือขนาดความยาว 2 เมตรและหนัก 80 กิโลกรัม ฟันกรามของไฮยีน่าออกแบบมาเพื่อการกัดบดเข้ากระดูกและกินไขกระดูกข้างในรวมถึงฉีกเนื้อได้ดี และถึงจะคล้ายกับสุนัข ไฮยีน่านั้นเป็นสัตว์กินเนื้อวงศ์เดียวกับแมวอีกด้วย (Feliformia)
(ไดโนครอค็อตต้า)
ชีวิตในทุ่งหญ้านั้นมีวัฏจักรของนักล่าและผู้ถูกล่า เมื่อสิ่งมีชีวิตตายลง แมลงและจุลินทรีย์จะย่อยสลายซากคืนสารอาหารที่จำเป็นลงสู่พื้นดินเพื่อหล่อเลี้ยงพืช ในป่าดงดิบริมแม่น้ำเองก็ไม่แพ้กัน มีอันตรายและมีสัตว์ที่หน้าตาพิลึกมากกว่านั้น งั้นเราเข้าไปดูในป่ากัน!
ในป่าดิบชื้นมีต้นไม้สูงต่างจากทุ่งหญ้า ข้างล่างก็มีลำธารและสาขาของแม่น้ำ สัตว์ที่นี่จึงใช้พื้นที่ของป่าในการอาศัยทั้งบนต้นไม้และตามริมแม่น้ำ ด้วยความชื้นของแม่น้ำ จึงทำให้พืชมีขนาดใหญ่และเติบโตได้มาก
(โคราชพิเธคัส)
บนยอดไม้ มีไพรเมททั้งลิงและค่างนับหลายชนิดห้อยโหนอยู่ แต่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยที่เคยค้นพบกำลังอยู่ข้างหน้าคุณ นี่คือ โคราชพิเธคัส (Khoratpithecus) นี่คือลิงไร้หางหรือเอป มีกระดูกเชิงกรานกว้างกว่าลิงมีหาง แลกกับแขนขาที่ยาวเพื่อการห้อยโหนบนต้นไม้ โคราชพิเธคัสใช้เวลาส่วนมากในการหากินผลไม้และใบไม้ในยอดไม้ และจากหน้าตาแล้ว ญาติในปัจจุบันของมันคือลิงอุรังอุตังนี่เอง
ที่พื้นป่าข้างล่างมีสัตว์หลายชนิดหากินอยู่ ในธารน้ำมีบางอย่างปรากฏตัวขึ้นมาอย่างช้าๆ ฮิปโปขนาดใหญ่ปรากฏขึ้นมาจากใต้น้ำพลางหาวหวอดๆ ให้คุณเห็น นี่คือฮิปโปหกเขี้ยว หรือเฮ็กซาโปรโตรดอน (Hexaprotodon) ด้วยซี่ฟันเขี้ยวถึงหกชุดคาดว่าใช้อวดเพศตรงข้าม ฮิปโปโปเตมัสเป็นกลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เคยกระจายกว้างถึงเอเชีย นอกจากในไทยแล้ว เฮ็กซาโปรโตดอนยังพบได้ไกลถึงอินโดนีเซียอีกด้วย
(เฮ็กซาโปรโตรดอน)
ตามริมแม่น้ำมีหอยขมจำนวนมาก สัตว์รูปร่างคล้ายจระเข้หัวกลมตัวสีดำคลานขึ้นมาตามตลิ่งเพื่อกินหอย ด้วยฟันกลมๆ ของมันทำหน้าที่กะเทาะหอยจากเปลือก นี่คือ อัลลิเกเตอร์แม่น้ำมูล (Alligator muunensis) เป็นอัลลิเกเตอร์ที่ถูกพบในประเทศไทยไม่นานมานี้ โดยจากหัวกระโหลกแบบครบชุดที่ถูกค้นพบ ทำให้เรารู้ว่า มันไม่ได้กินปลาเป็นหลัก แต่กินหอยและสัตว์น้ำมีเปลือกตามลำน้ำเป็นหลักเสียมาก และด้วยรูปร่างขนาดเล็ก มันจึงไม่เหมาะจะไปอาศัยในน้ำที่ลึกกว่าอย่างแม่น้ำข้างนอก จระเข้เองก็เป็นสิ่งมีชีวิตที่ประสบความสำเร็จในการวิวัฒนาการไปมากในยุคนี้
(อัลลิเกเตอร์แม่น้ำมูล)
เต่าตัวหนึ่งเพิ่งจะวางไข่เสร็จ ด้วยความเหนื่อยล้ามันจึงค่อยๆ คลานกลับลงแม่น้ำ ทันใดนั้น แมวป่านักล่าขนาดใหญ่วิ่งตามมาและขบกัดไปที่เต่าตัวนั้น ด้วยกรามอันแข็งแรงของมันออกแรงไม่มากก็เพียงพอจะทำให้กระดองแตกออกได้ นี่คือ แพคคิแพนเธอร่า (Pachypanthera) แมวป่าดึกดำบรรพ์ตัวเขื่องขนาดพอๆ กับเสือดาวในปัจจุบัน มันมีกรามที่แข็งแรงสามารถใช้กัดผ่านกระดูกและกระดองแข็งๆ ของเหยื่อได้ แมวป่าในปัจจุบันที่มีกรามแข็งแรงแบบนี้ มีเพียงเสือจากัวร์จากอเมริกาใต้เพียงเท่านั้น
(แพคคิแพนเธอร่า)
สภาพแวดล้อมของประเทศไทยนั้นกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ด้วยความที่ความเย็นและแห้งของโลกก่อตัวขึ้น ในไม่ช้า ป่าดงดิบจะทยอยหายไปลดพื้นที่ชุ่มน้ำและที่อยู่อาศัย สิ่งมีชีวิตจะต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัว โดยเฉพาะสัตว์จำพวกไพรเมท ซึ่งพวกมันเองก็ต้องเรียนรู้การปรับตัวเช่นกัน เมื่อต้นไม้ชายคาลดน้อยลง พวกมันอาจจะต้องลงมาเดินที่พื้นดินเป็นหลัก และนั่นคือ กุญแจสำคัญในวิวัฒนาการขั้นต่อไป
เดินทางต่อไป 6 ล้านปีข้างหน้า ยังทวีปแอฟริกา สู่ดินแดนบ้านเกิดของมนุษยชาติ เมื่อลิงไร้หางลงจากต้นไม้และยืนตัวตรง จุดเริ่มต้นของวิวัฒนาการและเส้นทางของชีวิตเริ่มต้นขึ้น เมื่อครั้งที่บรรพบุรุษของมนุษย์ต้องเอาชีวิตรอดท่ามกลางสัตว์ร้ายที่หิวโหย จะมีอะไรรอเราอยู่ โปรดติดตามใน ท่องโลกดึกดำบรรพ์!