คอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม Computer vision syndrome โรคยอดฮิต ของคนติดจอ
คอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม Computer Vision Syndrome หรือ CVS คือ กลุ่มของอาการทางตา และการมองเห็น ภาวะเกี่ยวข้องกับดวงตา เกิดจากการใช้สายตาจดจ่ออยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต หรือแม้แต่การอ่านหนังสือ เป็นเวลานาน โดยไม่พักสายตา รวมถึงพฤติกรรมการมองจอคอมพิวเตอร์ที่ใกล้เกินกว่าครึ่งฟุต หรือประมาณ 6 นิ้ว
พบได้บ่อยในเด็ก และผู้ใหญ่ หากไม่ปรับปรุงพฤติกรรม อาจทำให้การโฟกัสในตาเสื่อมสภาพลง มองเห็นสิ่งรอบตัวเป็นภาพเบลอภาพซ้อน มีอาการตาล้า ตาแห้ง และอาจเสี่ยงเผชิญกับปัญหาทางสายตาต่าง ๆ เมื่ออายุมากขึ้น อย่างเช่น สายตายาว และอาจมีความเสี่ยงต่อภาวะนี้มากขึ้นหากจ้องหน้าจอในที่ที่มีแสงน้อย หรือมีท่านั่งที่ไม่เหมาะสมในขณะใช้งาน
อาการ
- ปวดตา
- ตาแห้งตาแดง ระคายเคืองตา เจ็บตา
- รู้สึกแสบตา ไม่สบายตา
- ตาพร่าจากการจ้องมองที่ไม่ค่อยกระพริบตา
- โฟกัสวัตถุยาก มองเห็นเป็นภาพซ้อน ภาพเบลอ
- ปวดศีรษะจากอาการปวดตา
- ปวดคอ และปวดไหล่จากการนั่งอยู่ที่เดิมเป็นเวลานาน
หากเป็นอาการเหล่านี้อยู่บ่อย ๆ และนานขึ้นเรื่อย ๆ อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ อย่างเช่น กระจกตาอักเสบแห้ง มีการเปลี่ยนแปลงเป็นสายตาสั้นชั่วคราวที่พบได้ถึงร้อยละ 32 นอกจากนี้ อาจจะมีอาการปวดศีรษะ ปวดต้นคอ ไหล่ ปวดหลัง จากท่านั่งที่ไม่เหมาะสมร่วมด้วย
สาเหตุ และ ปัจจัยร่วมต่าง ๆ ที่ส่งผลให้เกิดอาการ
- ขณะเพ่งจ้องกับการอ่านหนังสือ หรือจ้องจอคอมพิวเตอร์ จะมีการกระพริบตาน้อยลง ทำให้เกิดอาการตาแห้งง่ายขึ้น
- แสงสว่างภายในห้องไม่เหมาะสม
- มีแสงสะท้อนจากจอคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ดิจิทัล
- การที่ตัวอักษรบนจอคอมพิวเตอร์ไม่เรียบคมชัดเท่าตัวพิมพ์บนหน้าหนังสือ หรือมีความไม่นิ่งของสัญญาณในจอคอมพิวเตอร์ ทำให้ตาต้องพยายามโฟกัสมากขึ้นจึงก่อให้เกิดอาการตาเมื่อยล้าได้ง่ายขึ้น
- ท่าทางในการในการนั่งทำงานที่ไม่เหมาะสม
- ระยะการมองหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ดิจิทัลไม่เหมาะสม อาจอยู่ไกล หรือใกล้หน้าจอมากเกินไป
กลุ่มเสี่ยงโรค Computer vision syndrome
- พนักงานออฟฟิศทั่วไป
- นักเขียน
- คนทำงานด้านกราฟิก
- นักศึกษา นักเรียนที่เรียนออนไลน์
- บุคคลที่ต้องนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เป็นComputer vision syndrome
- จ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ดิจิทัลในที่ที่มีแสงน้อย
- ใช้เวลามากกว่า 3 ชั่วโมงในการจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ดิจิทัล
- ปัญหาทางสายตาที่ไม่ได้รับการรักษา และไม่สวมใส่แว่นสายตาหรือคอนแทคเลนส์ระหว่างมองหน้าจอคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ดิจิทัล
- ไม่มีการหยุดพักสายตา
การรักษา และ การป้องกัน
- สวมใส่แว่นตา หรือคอนแทคเลนส์ ที่เหมาะสมในการใช้งานกับหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ดิจิทัล
- หากมีอาการตาแห้งจากการที่จ้องมองหน้าจอนาน ๆ อาจใช้น้ำตาเทียมเพื่อความชุ่มชื้นในดวงตา
- บริหารดวงตา เพื่อปรับปรุงการมองเห็น
- พักสายตาทุก ๆ 10-20 นาที อย่างเช่น หลับตาทุก 10 นาทีต่อการทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ 1 ชั่วโมง การมองไปในทิศทางอื่นประมาณ 20 ฟุต หรือ 6 เมตร เป็นเวลา 20 วินาที เป็นต้น
- ควรจัดสถานที่ตั้งคอมพิวเตอร์ในที่ที่มีแสงสว่างพอเหมาะ เพื่อช่วยให้สบายตา
- ควรใช้แผ่นกรองแสงเพื่อลดแสงจ้าและแสงสะท้อน จะช่วยลดความล้าของสายตาลงได้
- วางตำแหน่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้ห่างจากดวงตาประมาณ 20 – 28 นิ้ว และควรให้จุดกึ่งกลางของหน้าจออยู่ต่ำกว่าระดับสายตาในแนวราบประมาณ 10 – 20 องศา หรือ 4-5 นิ้ว
- กระพริบตาบ่อย ๆ เพื่อป้องกันตาแห้ง
- สำหรับผู้ที่มีปัญหาสายตา อย่างเช่นสายตาสั้น ยาว หรือเอียง ควรใส่แว่นสายตา หรือ คอนแทคเลนส์ เพื่อให้สามารถมองเห็นภาพที่หน้าจอได้ชัดเจน