อาการแพ้คาเฟอีน
คาเฟอีน เป็นสารกระตุ้นจากธรรมชาติที่ส่งผลต่อสมอง และ ระบบประสาทส่วนกลาง กระตุ้นให้สมองเกิดการตื่นตัว มีสมาธิมากขึ้น บางครั้งถูกนำมาใช้เพื่อกระตุ้นการหายใจสำหรับรักษาผู้ป่วยบางราย
สามารถพบคาเฟอีนได้ในเครื่องดื่มประเภท ชา กาแฟ ช็อกโกแลต เครื่องดื่มชูกำลัง ปริมาณของคาเฟอีนต่อวัน ที่คนส่วนมากดื่มแล้วปลอดภัยก็คือ 400 มิลลิกรัม หรือเทียบเท่าประมาณ 4 แก้ว
บางคนอาจมีความไวต่อคาเฟอีน หลังการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน มีอาการปวดหัว หรือ เวียนหัว หัวใจเต้นเร็ว วิตกกังวล เส้นกระตุก มีปัญหากับการนอน ท้องไส้ปั่นป่วน ด้วยอาการไม่พึงประสงค์เหล่านี้จึงอาจทำให้หลายคนคิดว่าตนเองแพ้คาเฟอีนได้
อาการแพ้คาเฟอีน
- หัวใจเต้นเร็วขึ้น
- เกิดอาการกระวนกระวาย วิตกกังวล
- มือไม้สั่น
- ปวดหัว
- นอนไม่หลับ หรือ การนอนหลับแย่ลงกว่าเดิม
- ท้องเสีย
หากคุณมีอาการคล้ายกับร่างกายไวต่อคาเฟอีน อย่าเพิ่งคิดว่าแพ้คาเฟอีน เพราะอาการแพ้คาเฟอีนนั้นจะอาการรุนแรงกว่านั้น
- ผื่นแดงขัน ลมพิษขึ้น โดยเฉพาะตุ่มแดงบวมที่อาจมีจำนวนมาก
- ผิวหนัง ปาก คอ ริมฝีปาก ลิ้น บวม
- รู้สึกระคายเคืองที่ริมฝีปาก ข้างในปาก ลิ้น
- คัดจมูก น้ำมูกไหล
- ตาบวมแดง คันตา น้ำตาไหล
อาการแพ้คาเฟอีนมักจะเกิดขึ้นภายใน 1 ชั่วโมง หลังจากร่างกายรับสารคาเฟอีนเข้าไป นอกจากนี้ผู้แพ้คาเฟอีนยังมีความเสี่ยงที่จะช็อกจากอาการแพ้รุนแรง (Anaphylactic Shock) แต่กรณีนี้มักพบได้ไม่บ่อยนัก ผู้ที่แพ้คาเฟอีนหนักมาก ๆ จะมีอาการต่อไปนี้
- ร่างกายบวมหลายที่ เช่น ดวงตา ริมฝีปาก ใบหน้า ลิ้น
- หายใจไม่สะดวก หายใจมีเสียงฟืดฟาด มีเสียงหวีดแหลมขณะหายใจ
- มีปัญหาด้านการพูด
- ไอเรื้อรัง
- คลื่นไส้อาเจียน
- ปวดท้อง
- หัวใจเต้นเร็ว
- เวียนหัว
- หมดสติ
สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการแพ้คาเฟอีน
กลไกร่างกายของผู้ที่แพ้สารคาเฟอีนจะมองว่า คาเฟอีนที่รับเข้ามาเป็นตัวบุกรุก ดังนั้นเมื่อกินอาหารที่มีสารคาเฟอีนเข้ามา ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายจะผลิตสารอิมมูโนโกลบูลิน อี (Immunoglobin E.) ให้ไปกระตุ้นสารฮิสตามีนให้หลั่งออกมามากขึ้น เพื่อกำจัดโมเลกุลของสารคาเฟอีนที่ร่างกายเข้าใจผิดว่า เป็นสารก่อภูมิแพ้ (Allergens) ที่ทำให้เกิดการอักเสบกับร่างกาย ซึ่งสามารถนำไปสู่การเกิดลมพิษ คัน และบวม
การรักษาอาการแพ้คาเฟอีน
สามารถใช้ยาต้านฮิสตามีน (Antihistamine) บรรเทาอาการ หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป
หากมีอาการแพ้อย่างรุนแรง ควรไปพบแพทย์ อาจรักษาเบื้องต้นโดยการฉีดยาอีพิเนฟริน (Epinephrine)
วิธีป้องกันอาการแพ้คาเฟอีน
1.งดดื่ม กิน คาเฟอีนทุกรูปแบบ เช่น กาแฟ ชา ช็อกโกแลต เครื่องดื่มชูกำลัง
2.อ่านฉลากอาหาร เครื่องดื่ม ทุกครั้งที่อาจมีคาเฟอีนผสมมาในเมนูอื่น เพื่อหลีกเลี่ยงอาการไม่พึงประสงค์จากอาการแพ้คาเฟอีน
3.ดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีนในปริมาณที่เหมาะสม ไม่ควรเกิน 400 มิลลิกรัมต่อวัน สำหรับคนที่มีอาการไวต่อคาเฟอีนมากกว่าปกติ ควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
4.ดื่มเครื่องดื่มดีแคฟ (Decaffienated Drink) ที่ผ่านการสกัดเอาคาเฟอีนออก ทำให้หลงเหลือคาเฟอีนในเครื่องดื่มปริมาณต่ำมาก อย่างไรก็ตามเครื่องดื่มดีแคฟยังคงมีคาเฟอีนเป็นส่วนประกอบ อาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้เช่นกัน