เสพติดการเซลฟี่ (Selfitis)
อาการที่บ่งบอกว่า อาจเป็น Selfitis เสพติดการเซลฟี่ คือ ผู้ที่เซลฟี่ตัวเองคาดหวัง ต้องการการตอบรับบางอย่างในการโพสต์รูปถ่ายผ่านโซเชียลมีเดีย ทำให้ต้องคอยกดดูยอดกดถูกใจ หรือ ต้องลงรูปถ่ายใหม่เรื่อย ๆ จนกว่าจะได้ยอดกดถูกใจ ได้คอมเม้นท์มากตามที่ต้องการ การกระทำนี้ทำให้เกิดผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจตามมา หากเป้าหมายนั้นไม่เป็นไปตามที่ต้องการ เช่น มีคนกดไลก์ไม่เยอะตามที่คาดหวัง จะทำให้รู้สึกวิตกกังวล หงุดหงิด ไม่พอใจ
ระดับความรุนแรงแตกต่างกันออกไปตามวัตถุประสงค์ของแต่ละบุคคล ที่มีความหลงใหลในการถ่ายรูปตนเองในลักษณะต่างๆ พบว่าพฤติกรรมดังกล่าวสะท้อนถึงสภาพจิตใจของผู้ถ่ายเซลฟี่อย่างชัดเจน
แบ่งเป็น 3 ระดับ
1.ระดับมากกว่าปกติเล็กน้อย (Borderline) ผู้ที่เซลฟี่รูปตนเองอย่างน้อยวันละ 3 รูป แต่ไม่ได้โพสต์ลงโซเชียลมีเดีย
2.ระดับรุนแรง (Acute) ผู้ที่เซลฟี่รูปตนเองอย่างน้อยวันละ 3 รูป และโพสต์ลงในโซเชียลมีเดียทุกรูป
3.ระดับเรื้อรัง (Chronic) ผู้ที่ไม่สามารถควบคุมตัวเองจากการถ่ายเซลฟี่ได้ มีพฤติกรรมถ่ายรูปเซลฟี่ตลอดเวลา และโพสต์ลงบนโซเชียลมีเดียตั้งแต่ 6 ครั้งขึ้นไป
จากการสัมภาษณ์เชิงลึกของกลุ่มตัวอย่าง นักศึกษามหาวิทยาลัยในอินเดียจำนวน 225 ราย อายุเฉลี่ยราว ๆ 21 ปี จากสองมหาวิทยาลัย ทีมผู้วิจัยได้พัฒนาเครื่องมือทดสอบเพื่อแบ่งระดับพฤติกรรมเซฟฟี่ทิส (Selfitis Behavior Scale; SBS) ผลการศึกษาพบว่า มี 6 ปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้เกิดการเสพติดเซลฟี่ คือ
1.สภาพแวดล้อมที่ส่งผลต่อจิตใจของบุคคล เมื่อไปยังสถานที่แปลกใหม่ จะถ่ายเซลฟี่เพื่อเพิ่มคุณค่าทางจิตใจให้ตนเอง และโพสต์ลงโซเชียลมีเดียอย่างมีความคาดหวัง
2.การแข่งขันทางสังคม การถ่ายเซลฟี่ลงโซเชียลมีเดีย เพื่อต้องการผลตอบรับคือ ยอดกดถูกใจ ให้ภาพลักษณ์ของตนเองดูดีมากกว่าคนอื่น
3.ความสนใจของบุคคล การถ่ายเซลฟี่โพสต์ลงโซเชียลมีเดียทำให้ได้รับความสนใจอย่างมากจะทำให้รู้สึกมั่นใจมากขึ้น หรือ เพื่อเรียกร้องความสนใจจากผู้อื่น เช่น เซลฟี่ขณะที่กำลังร้องไห้ บรรยายใต้รูปเรียกร้องความสนใจ
4.ทักษะด้านอารมณ์ ถ่ายเซลฟี่ให้ตนเองรู้สึกดีขึ้น เพื่อความผ่อนคลาย รู้สึกดี สนุกสนาน
5.ความมั่นใจในตนเอง การถ่ายเซลฟี่ให้รู้สึกภูมิใจในตัวเองมากยิ่งขึ้นจากเสียงตอบรับจากยอดกดถูกใจ
6.การยอมรับของผู้คนในสังคม การเซลฟี่ลงโซเชียลมีเดียให้ได้รับการยอมรับและรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม
ผู้ที่เสี่ยงจะเสพติดการเซลฟี่ Selfitis
- เซลฟี่และโพสต์ลงโซเชียลมีเดียโดยหวังผลตอบรับ จนต้องเช็กยอดกดถูกใจตลอดเวลา
- ถ่ายเซลฟี่ตัวเองบ่อย ๆ เพราะกลัวภาพลักษณ์ของตนเองจะดูไม่ดี
- เศร้า เสียใจ เมื่อไม่ได้ผลตอบรับจากผู้อื่นตามที่คาดคิด อาจมีการถ่ายเซลฟี่ใหม่อีกครั้งและเริ่มคาดหวังผลใหม่ จะทำซ้ำไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะได้ผลตอบรับตามที่คาดคิด
วิธีลดการเสพติดการเซลฟี่ Selfitis
- ยอมรับความแตกต่าง หากไม่สามารถยอมรับความแตกต่างได้ อาจนำไปสู่ความคิดเปรียบเทียบ เมื่อเห็นรูป กิจกรรม ฐานะการเงินของคนในโซเชียลมีเดีย อาจเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น เมื่อโพสต์รูปแล้วได้รับการตอบรับน้อย คนกดไลค์น้อย ไม่เป็นอย่างที่คาดหวัง พวกเขาจะพยายามทำอีกซ้ำ ๆ และถ้ายังไม่เป็นไปตามที่ต้องการ สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ คนนั้นจะเริ่มสูญเสียความมั่นใจ อาจเกิดทัศนคติด้านลบ นำไปสู่การไม่ชอบตัวเอง ไม่พอใจรูปลักษณ์ตัวเอง จึงควรฝึกยอมรับความแตกต่างของแต่ละบุคคลให้ได้
- ควบคุมการใช้โซเชียลมีเดีย ใช้อย่างมีสติ ไม่ให้ความสำคัญ ไม่ใช้เวลากับมันมากจนเกินไป
- เข้าสังคมในชีวิตจริงให้บ่อยขึ้น การเข้าสังคม การทักทาย พบปะพูดคุยกับคนรอบตัว
- หางานอดิเรกทำแทนการเล่นโซเชียลมีเดีย ทั้งการการอ่านหนังสือ ปลูกต้นไม้ เล่นดนตรี วาดภาพ ออกกำลังกาย เล่นเกม เป็นต้น
อ้างอิงจาก: https://dmh.go.th/news/view.asp?id=1240
https://hdmall.co.th/blog/health/selfitis/