โรคแบคทีเรียกินเนื้อคน หรือ โรคเนื้อเน่า ระวัง! ปวดแผล ผื่นพุพอง อันตรายถึงชีวิต
โรคแบคทีเรียกินเนื้อคน หรือโรคเนื้อเน่า (Necrotizing Fasciitis) เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียที่เนื้อเยื้อใต้ผิวหนัง อาทิ ไขมันใต้ผิวหนัง ผังผืด และกล้ามเนื้อ เชื้อจะทำลายเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง กล้ามเนื้อ มักพบบ่อยบริเวณ แขนขา บริเวณฝีเย็บ และลำตัว
สาเหตุ
เชื้อแบคทีเรีย ที่เรียกว่า Streptococcus เชื้อจะเข้าสู่กระแสเลือด และลามไปทั่วร่างกาย มีฤทธิ์ทำลายเนื้อเยื่อ มีผลทำให้เลือดมาเลี้ยงบริเวณนั้นไม่พอ ทำให้กล้ามเนื้อตาย สาเหตุจาก การเดินเท้าเปล่า ลุยโคลน โดนเปลือกหอย หรือเศษไม้ตำเท้า เศษแก้วบาด ถูกก้างปลาตำ เป็นต้น เชื้อแบคทีเรียสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทั้งทางผิวหนังหรือกระแสเลือดผ่านทางแผลที่ถูกบาด แผลถลอก รอยข่วน แมลงกัดต่อย บาดแผลไฟไหม้ การใช้เข็มฉีดยา หรือแผลผ่าตัด หากไม่ได้ดูแลรักษาแผลให้ดี อาจทำให้เกิดการติดเชื้อ และมีอันตรายถึงชีวิต
อาการของโรคแบคทีเรียกินเนื้อคน
- ผู้ป่วยจะมีอาการร้อนบริเวณผิวหนัง ผิวหนังบริเวณรอบ ๆ เปลี่ยนเป็นสีแดง เกิดการบวมอย่างรวดเร็ว
- รู้สึกปวดบาดแผลมากกว่าปกติ โดยอาการปวดไม่สัมพันธ์กับขนาดแผลที่เกิดขึ้น
- ปวดแขน ขา ตึงบริเวณกล้ามเนื้อ
- มีเหงื่อออก อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน
- มีไข้สูง หนาวสั่น เป็นลมช็อกหมดหมดสติ
- ท้องเสีย
- เกิดภาวะขาดน้ำ กระหายน้ำ ปัสสาวะน้อย
- มีอาการปวด กดเจ็บบริเวณแผล
- มีผื่นพุพอง และบริเวณผิวหนังมีสีม่วงคล้ำ หรือถุงน้ำ
อาการแทรกซ้อน อัตราเสียชีวิตสูง เกิดภาวะโลหิตเป็นพิษ การติดเชื้อจะทำให้เส้นประสาท กล้ามเนื้อ และหลอดเลือดถูกทำลาย อาจจะต้องตัดอวัยวะทิ้ง
กลุ่มเสี่ยงต่อภาวะโรคแบคทีเรียกินเนื้อคน
- พบมากในกลุ่มผู้สูงอายุ
- เกษตรกรที่ไม่สวมใส่รองเท้า อย่าง การดำนา
- กลุ่มผู้ที่ใช้ยา Steroid
- กลุ่มผู้ป่วยโรคผิวหนัง อาจเกิดหลังจากป่วยเป็นโรคไข้สุกใส
- กลุ่มผู้มีโรคประจำตัว อย่างเช่น ติดสุรา ติดยาเสพติด โรคตับ โรคไต โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง วัณโรค เป็นต้น
- กลุ่มผู้ที่มีบาดแผลตามร่างกาย แล้วไม่มีการทำความสะอาด ดูแลแผลให้ดี หรือไม่ถูกต้อง จนการติดเชื้อลุกลาม อย่างเช่น ผิวหนังมีแผลจากแมลงกัดต่อย อุบัติเหตุถูกของมีคม ตำหรือบาด แผลผ่าตัด
การป้องกันโรค
- เกษตรกรที่ดำนา หากมีแผลตามร่างกาย ไม่ควรลุยโคลนด้วยเท้าเปล่า ควรดูแลบาดแผลให้สะอาดถูกสุขอนามัย และใส่ยาปฏิชีวนะรักษาแผลตามความเหมาะสม
- เมื่อเกิดแผล ต้องทำความสะอาดแผลด้วยน้ำสะอาดทันที และซับด้วยผ้าสะอาด
- ทำความสะอาดแผลทุกวัน และใช้อุปกรณ์ทำแผลที่สะอาด
- ระหว่างที่มีแผล ควรเลี่ยงการใช้สระน้ำ และอ่างอาบน้ำร่วมกัน
- ล้างมือทุกครั้ง ก่อน และ หลังสัมผัสแผล เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
- หากมีไข้ ปวด บวม แดง แสบร้อน บริเวณที่เป็นแผล ควรรีบพบแพทย์ทันที
- หากอาการไม่ดีขึ้นให้รีบนำส่งโรงพยาบาลใกล้บ้านทันที เพื่อตรวจรักษาอาการต่อไป
การรักษา
มาพบแพทย์โดยด่วน เพื่อวินิจฉัยให้เร็ว และผ่าตัดเอาเนื้อที่ตาย หรือ เนื้อที่ติดเชื้อออกให้มากที่สุด ผ่าตัดเพื่อระบายเอาหนองออก และตัดเนื้อเยื่อที่ตาย หากติดเชื้อรุนแรงอาจจำเป็นต้องตัดอวัยวะนั้นออก