วันวราห์ลักษมีวราตัม สายมูห้ามพลาด
วราห์ลักษมีวราตัม (สันสกฤต: वरलक्ष्मी व्रतम, Varalakshmi Vratam) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า วราห์ลักษมีบูชา (สันสกฤต: वरलक्ष्मी पूजा, Varalakshmi Puja) เป็นวันสำคัญของชาวฮินดูที่จะกระทำพิธีพลีบูชาต่อพระแม่ลักษมี เทวีผู้ประทานพรแห่งความมั่งคั่งและความอุดมสมบูรณ์
วราห์ลักษมี คือลักษณะของพระแม่ลักษมีในปางประทานพร ส่วนมากผู้ที่จะทำพิธีบูชาพระแม่ลักษมีในวันนี้จะเป็นแม่บ้าน สุภาพสตรีที่แต่งงานแล้ว ที่อาศัยอยู่ในแถบอินเดียใต้ เพื่อความอยู่ดีมีสุขของพวกเธอเอง และเพื่อขอพรให้สามีและครอบครัวมีสุขภาพแข็งแรงและอายุยืนยาว โดยกำหนดเอาวันศุกร์ก่อนวันพระจันทร์เต็มดวงของเดือนศฺราวณตามปฏิทินของฮินดูเป็นวันวราห์ ลักษมี วราตัม ซึ่งจะอยู่ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม โดยในปี 2567 นี้ตรงกับวัน ศุกร์ ที่ 16 สิงหาคม
และนอกจากการขอพรให้ครอบครัวโดยเหล่าแม่บ้านแล้ว ยังเชื่อกันว่าหากผู้ใดได้ทำการบูชาพระแม่ลักษมีวันนี้จะเทียบเท่ากับการบูชาอัษฎาลักษมี
พระภาคทั้งแปดของพระแม่ลักษมี ซึ่งเป็นตัวแทนของความมั่งคั่งในรูปแบบที่แตกต่างกัน จึงมีผู้คนจำนวนมากบูชาพระแม่ลักษมีในวันวราลักษมีวราตัมนี้เพื่อขอความสุข ลาภยศ ความมั่นคง และสิ่งที่ตนปราถนา
การบูชาวราลักษมีนั้น เหล่าแม่บ้านจะทำความสะอาดบ้านเรือน แท่นบูชา เพื่อเตรียมต้อนรับพระแม่ลักษมีเข้ามาประดิษฐานในบ้านเรือน โดยจะทำกาลาซัม เป็นหม้อน้ำทองเหลืองหรือเงิน ที่ตกแต่งเป็นตัวแทนของเทพเจ้า
โดยการนำลูกมะพร้าวมาวางไว้บนหม้อ ตกแต่งด้วยผ้าส่าหรี ใบมะม่วง ดอกไม้ และเครื่องประดับต่าง ๆ บางที่ก็อาจจะวาดหน้าหรือนำตาและปากที่ทำสำเร็จรูปมาติดลงไปบนลูกพร้าว ทาขมิ้น แต้มกุงกุมัม(ผงเจิมสีแดง) ให้เหมือนพระพักตร์ของพระแม่ลักษมี
ภายในหม้อกาลาซัมนั้นก็จะนำสิ่งของมงคล เช่น ข้าว ใบพลู ขมิ้นชัน กล้วย และเหรียญใส่ลงไป นำเชือกลักษณะคล้ายด้ายสายสิญจน์จุ่มน้ำขมิ้มแล้วผูกที่คอหม้อ โดยจะทำกันภายนอกตัวบ้านเพื่อนำกาลาซัมนี้เข้าบ้าน เสมือนการอัญเชิญพระแม่ลักษมีเข้าบ้านในภายหลัง
สำหรับแท่นบูชาก็จะตกแต่งด้วยดอกไม้ สิ่งของมงคลต่าง ๆ แล้ววางไนเยทยัม (สันสกฤต; नैवेद्यं, naivedyam) เครื่องพลีบูชาไว้ด้านหน้าแท่น วาดรังโกลี (สันสกฤต; रंगोली, Rangoli) ด้วยผงสีบนพื้นห้องบูชา
พอถึงช่วงเวลาอันเป็นมงคล เหล่าแม่บ้านจะเริ่มสาธยามันตราอัญเชิญพระแม่ลักษมีเข้าสู่บ้านเรือน โดยจะนำถาดใส่กาลาซัมตั้งรอไว้ พอถึงเวลาจะยกนำเอากาลาซัมตัวแทนพระแม่ลักษมีเข้ามาประดิษฐานในห้องบูชา
จุดตะเกียง กำยาน ธูปหอมต่าง ๆ แล้วจึงเริ่มสาธยายมันตราบูชาพระแม่ลักษมีเพื่อสรรเสริญและขอพรจากพระแม่ ถวายอารตีก็เป็นอันเสร็จ
หลังจากนั้นก็จะแก้สายสิญจน์จุ่มขมิ้นที่ผู้อยู่ที่คอหม้อกาลาซัมออกแล้วนำมาผูกข้อมือขวาให้กับคนในบ้าน พร้อมทั้งมอบสิ่งของต่าง ๆ ในกาลาซัม เป็นสัญลักษณ์ของการสิ้นสุดพิธีบูชาอันเป็นมงคลพร้อมทั้งการรับพรจากพระแม่ลักษมี แล้วจะนำสิ่งของเครื่องบูชาต่าง ๆ ไปแจกจ่ายแบ่งปันให้กับผู้อื่นต่อไป
ในรัฐทมิฬนาฑูของทางอินเดียใต้ ก่อนวันวราลักษมีบูชา หรือในภาษาทมิฬเรียกว่า วราลักษมี โนนปุ (ทมิฬ; வரலட்சுமி நோன்பு, Varalakshmi Nonbu) จะมีการทำขนมโกลูกัตไต (ทมิฬ; கொழுகட்டை, Kozhukkattai)
ขนมปะยาซัม (ทมิฬ; பாயசம், payasam)
และขนมวาได (ทมิฬ:; வடை, vadai)
สำหรับจัดเป็นไนเวทยะเครื่องพลีบูชา พอถึงวันวราห์ลักษมีบูชาก็จะทำการหุงข้าว ทำแกงจากถั่วลูกไก่ จัดใส่ถาดสำรับไนเวทยัม พร้อมด้วยผลไม้และใบพลู หลังจากเสร็จสิ้นพิธีก็จะแจกจ่ายสิ่งของบูชาต่าง ๆ ให้กับสตรีและผู้ที่เข้าร่วมพิธีบูชาพระแม่ลักษมี
พิธีบูชาวราลักษมีนี้มักจะจบลงด้วยการสวด วรัต กะถะ (สันสกฤต; व्रत कथा, Vrata katha) ซึ่งเป็นเรื่องราวการรฦกถึงพระเป็นเจ้า การภาวนารักษาศีล และมักมาพร้อมกับคำอธิษฐานเพื่อสุขภาพและความสุขของคนที่พวกเขารัก ตามตำนานของนางพราหมณีที่ชื่อ ปัทมาวดี เป็นที่รู้จักกันว่ามีความกตัญญูและภักดีต่อสามี ทั้งยังขึ้นชื่อในช่วยเหลือคนป่วย คนยากจน และคนด้อยโอกาส การกระทำของปัทมาวดีได้รับการเฝ้าสังเกตโดยพระแม่ลักษมีแห่งอาณาจักรโกศล ด้วยความปลื้มปิติยินดีเป็นอย่างยิ่ง พระแม่ลักษมีจึงได้มาปรากฎพระองค์ต่อหน้าปัทมาวดีแล้วสั่งให้เธอทำพิธีในวันที่กำหนดในเดือนศฺราวณา เพื่อที่เธอจะได้รับพรจากพระองค์
และมีเรื่องที่คลาย ๆ กันนี้ กล่าวว่า จารุมตี หญิงผู้มีคุณธรรมและซื่อสัตย์ เป็นผู้อุทิศตนให้กับสามีและญาติพี่น้อง การกระทำของจารุมตีได้รับการเฝ้าดูจากพระวิษณุเจ้าจนเป็นที่พอพระทัยจึงได้เสด็จมาหาเธอและบอกให้เธอสักการะพระแม่ลักษมีในช่วงเดือนศฺราวณาทุกปี ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเธอโดยจะได้รับพรจากพระแม่ลักษมี ให้เธอมีความสุขและมั่งคั่ง
สำหรับในประเทศไทยนั้น ทางวัดพระศรีมหาอุมาเทวี หรือวัดแขกสีลม เทวสถานของชาวทมิฬลัทธิศักติ จากทมิฬนาฑู อินเดียใต้ ก็ได้จัดพิธีบูชาวราห์ลักษมีขึ้นทุกปี โดยพิธีบูชาเช้าจะเริ่มเวลา 09.30 น. และพิธีบูชาตอนเย็นจะเริ่มเวลา 17.30 น.
ทั้งภายในวัดยังมีศรียันตระพระแม่ลักษมีให้กราบไหว้บูชาขอพรในด้านการเงิน ความอุดมสมบูรณ์ และความมั่งคั่ง ที่เหล่าสาวกผู้ศรัทธาในพระแม่ลักษมีจะเดินทางไปบูชากันอย่างไม่ขาดสาย
และทางวัดก็ได้ทีถาดบูชาจัดเตรียมไว้ให้ ไม่ต้องเตรียมไปให้ยุ่งยาก
และอีกที่ที่จะไม่กล่าวถึงไม่กล่าวถึงเลยไม่ได้นั่นก็คือ พระแม่ลักษมี ศูนย์การค้าเกษร สิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่งย่านราชประสงค์ที่ประดิษฐานอยู่ ณ ดาดฟ้าชั้น 4 เกษรวิลเลจ (อาคารศูนย์การค้าเกษรเดิม) โดยในแต่ละวันจะมีผู้คนหลากหลายอาชีพตั้งแต่นักเรียน-นักศึกษา, นักท่องเที่ยว, นักธุรกิจ และศิลปินชื่อดังขึ้นมาสักการะขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคลกันเนื่องแน่น
สำหรับการสักการะพระแม่ลักษมีนั้นก็ไม่ได้ยากเย็นซับซ้อน เพียงมีจิตตั้งมั่นศรัทธาในพระองค์ นำปัญจอมฤต อันประกอบด้วย น้ำเปล่า น้ำนม น้ำผึ้ง โยเกิร์ต และฆี(เนยใส) ดอกบัว อาหารและขนมหวานที่ไม่มีส่วนผสมของเนื้อสัตว์และไข่ ขึ้นถวายตามแต่ที่เราจะจัดหาได้ ตั้งใจสาธยายมันตราถึงพระพิฆเนศเป็นลำดับแรก แล้วจึงสาธยายมันตราถึงพระองค์ เท่านี้การพลีบูชาของเราก็ประสบผลแล้ว
หากใครยังไม่รู้จะสาธยายมันตราอย่างไร หรือไม่มีความรู้ในภาษาสันสกฤต วันนี้ก็มีมันตราสั้น ๆ แต่ได้ใจความมาฝากกันด้วย
เริ่มแรกก่อนจะบูชาเทพองค์ได้ เราต้องสาธยายมันตราบูชาพระพิฆเนศเสียก่อนด้วยมันตราว่า
श्रीगणेशाय नमः ॥
ศรี-คะ-เณ-ศา-ยะ-นะ-มะห์
ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระศรีคเณศะเจ้า
หรือ
ॐ गन गणपतए नमो नमः
โอม กัง คณปัตเย นะโม นะมะห์
ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระคณปติ
แล้วจึงบูชาต่อพระแม่ลักษมีด้วยมันตราว่า
ॐ श्री महालक्ष्म्यै नमः
โอม ศรี มหาลักษมิ นะมะห์
ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระแม่ลักษมี
आदिलक्ष्मि नमस्तेऽस्तु परब्रह्मस्वरूपिणि ।
यशो देहि धनं देहि सर्वकामांश्च देहि मे ॥
อาทิลักษมิ นะมัสเตสตุ ปรพรัหมัสวะรูปิณิ ฯ
ยะโศเทหิ ธะนันเทหิ สรรวะกามานศ์จะเทหิเม ๚
ข้าฯแต่ พระอาทิลักษมี ข้าฯแต่ พระปรพรัหมัสวรูปิณี (ผู้มีรูปปรากฏแห่งปรพรัหมัน) ขอความนอบน้อมจงมีแด่ท่านเถิด ขอท่านจงประทานซึ่งยศัส(ยศ) ธนะ(ทรัพย์,ความมั่งคั่ง) และ สิ่งที่ปรารถนาทั้งหลายทั้งปวง แก่ข้าพเจ้าเถิด