ผมหงอกก่อนวัยอันควร
การสร้างตัวของเส้นผม
เส้นผมสร้างมาจาก ‘เซลล์รากผม’ ซึ่งอยู่ลึกลงไปประมาณ 1-2 มิลลิเมตรใต้หนังศีรษะ มีเซลล์ที่ผลิตให้มีแกนผมและเปลือกภายนอกของเส้นผม ในบริเวณรากผมจะมีเซลล์สร้างเม็ดสี โดยคนเอเชียจะมีผมสีดำหรือน้ำตาลเข้ม เพราะมีเม็ดสีที่เรียกว่า ‘ยูเมลานิน’ (Eumelanin) ซึ่งมีสีเข้ม แต่คนที่ผมสีทองมียูเมลานิลน้อย และจะมีเซลล์เม็ดสีที่อ่อนกว่า ชื่อว่า ‘ฟีโอเมลานิน’ (Pheomelanin)
เซลล์สร้างเม็ดสีเหล่านี้ก็เหมือนเซลล์อื่น ๆ ในร่างกาย ที่ย่อมมีความเสื่อม ทำงานช้าลง หรือตายไป และมีการสร้างเซลล์ใหม่มาทำหน้าที่แทน แต่มีปัจจัยบางอย่างที่อาจทำให้เซลล์เสื่อมเร็วกว่าปกติ หรือเมื่อเซลล์ตายแล้วกลับไม่มีเซลล์ใหม่มาทำงานแทน จึงเกิดเป็นภาวะที่เรียกว่า ‘ผมหงอก’
โดยค่าเฉลี่ยเส้นผมบนศีรษะจะเริ่มหงอกเมื่ออายุประมาณ 30-40 ปี โดยในกลุ่มคนผมหงอกก่อนวัย จะมีผมหงอกก่อนอายุ 25 ปี เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ส่วนใหญ่เกิดจากกรรมพันธุ์ ในเพศชายมักพบผมหงอกบริเวณจอนและขมับ ก่อนจะเริ่มพบกระจายบริเวณกระหม่อม และพบผมหงอกน้อยบริเวณท้ายทอย ส่วนในเพศหญิงมักเริ่มพบผมหงอกบริเวณไรผมก่อนบริเวณอื่น
สาเหตุที่เร่งให้เกิดผมหงอก
- การสูบบุหรี่ เกิดสารอนุมูลอิสระซึ่งทำลายเซลล์โดยตรง
- การดื่มสุรา หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ยาหลายชนิด
- โรคประจำตัว ได้แก่ โรคไทรอยด์ชนิดเกรฟ (Graves disease)โรคผิวหนังอักเสบ (atopic dermatitis) ภาวะผิดปกติของภูมิต้านทาน โรคโลหิตจางชนิดขาดวิตามิน B12 โรคไตเรื้อรัง โรคผิวหนังบางชนิด อย่างเช่น โรคด่างขาว นอกจากทำให้ผิวหนังบริเวณที่เป็นโรคไม่มีสี มีลักษณะขาวซีดเป็นวงแล้ว เส้นผมบริเวณดังกล่าวมักกลายเป็นผมหงอกไปด้วย
- ภาวะขาดสารอาหารรุนแรง การขาดโปรตีน ขาดธาตุเหล็กรุนแรง และภาวะขาดทองแดง
- ความเครียด
- มลภาวะทางอากาศ
วิธีลดความเสี่ยง การเกิดผมหงอกก่อนวัย
1.งานวิจัยพบว่า การสูบบุหรี่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับการเกิดผมหงอกก่อนวัย ควรงดสูบบุหรี่ เพื่อลดความเสียหายต่อเซลล์สร้างเม็ดสีในรากผม
2.รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ช่วยป้องกันการขาดสารอาหารของร่างกาย โดยเฉพาะอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ วิตามินมี 12 โอเมก้า 3 ธาตุเหล็ก ทองแดง และสังกะสีสูง อย่างเช่น เนื้อสัตว์ เนื้อปลา ตับ ไข่ นมไขมันต่ำ ผักใบเขียว ถั่วและธัญพืชชนิดต่าง ๆ
3.ผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือสงสัยว่ามีอาการของโรคที่เกี่ยวข้องกับการเกิดผมหงอกก่อนวัย อย่างเช่น โรคทางพันธุกรรมบางชนิด โรคไพบอลดิซึมกลุ่มอาการวาร์เดนเบิร์ก โรคด่างขาว โรคผมร่วงเป็นหย่อม โรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง หรือโรคไทรอยด์ ควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างเหมาะสม