ตากระตุก สัญญาณเตือนจากร่างกายที่อาจไม่ใช่แค่เรื่องโชคลาง
ตากระตุก (Eye Twitching) คือ อาการที่เปลือกตามีการขยับเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว อาจเป็นเพียงเล็กน้อย หรืออาจเกิดขึ้นถี่ จนทำให้เกิดความรำคาญ เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้บ่อย สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งเปลือกตาบนและเปลือกตาล่าง แต่มีอัตราการเกิดที่เปลือกตาบนมากกว่า
โดยทั่วไปอาการตากระตุกนั้นมักเป็นอาการที่ไม่รุนแรง ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด มักไม่เป็นอันตราย สามารถเกิดขึ้นและหายได้เองในเวลาอันสั้น แต่ในบางกรณีอาการอาจรุนแรงและไม่สามารถหายเองได้ เช่น อาการตากระตุกเกร็งจนทำให้เปลือกตาด้านบนปิดลงมา หรือ อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคร้ายแรงบางอย่าง เช่น โรคอัมพาตใบหน้า (Bell’s Palsy) โรคกล้ามเนื้อบิดเกร็ง (Dystonia) เป็นต้น แต่กรณีนี้พบได้น้อยมาก
ตากระตุก เกิดจากอะไร
1.นอนหลับไม่เป็นเวลา พักผ่อนไม่เพียงพอ
2.มีความเครียดสะสมเป็นเวลานาน
3.ดื่มกาแฟ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนมากเกินไป
4.สูบบุหรี่ หรือ ดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป
5.อยู่ในที่มีแสงสว่างมาก แสงจ้า นานเกินไป
6.ลม หรือ มลพิษทางอากาศ
7.ตาล้า ตาแห้ง เกิดการระคายเคืองที่ตา
8.เกิดการระคายเคืองที่เปลือกตาด้านใน โรคภูมิแพ้
9.การขาดวิตามิน แร่ธาตุ และสารอาหารบางชนิด
10.ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด
การดูแลตัวเองเบื้องต้นเมื่อมีอาการ ตากระตุก
1.นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
2.พยายามลดการใช้ Smart phone ลดการอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ลง
3.ลด/หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ
4.งดการสูบบุหรี่ รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
5.พยายามหาสิ่งที่ช่วยให้ผ่อนคลาย ไม่เครียดกับอาการที่เป็น
6.นวดกล้ามเนื้อรอบดวงตา ประคบร้อน/อุ่นบริเวณดวงตา ประมาณ 10 นาที
7.หากเกิดอาการตาแห้ง หรือเกิดอาการระคายเคืองตา สามารถหยอดน้ำตาเทียมได้
อาการตากระตุกที่ต้องไปพบแพทย์ทันที
- ตากระตุกติดต่อกันนานเป็นเวลา 2 สัปดาห์ขึ้นไป
- เกิดการกระตุกเพิ่มเติม ใกล้บริเวณที่ตากระตุก
- ดวงตามีอาการบวม แดง และมีของเหลวไหลออกมา
- เปลือกตาด้านบนเลื่อนลงมา ไม่สามารถมองเห็นได้เป็นปกติ
- เมื่อเกิดอาการตากระตุกแล้วเปลือกตาปิดสนิททันที
การรักษาตากระตุก
การรักษาด้วยการรับประทานยา
- Clonazepam
- Lorazepam
- Trihexyphenidy
การฉีด Botulinum Toxin หรือ Botox
- แพทย์จะฉีดยาโบท็อกซ์บริเวณกล้ามเนื้อรอบดวงตาที่มีอาการกระตุก เพื่อให้กล้ามเนื้อเหล่านั้นอยู่ในสภาพอ่อนแรงชั่วคราว ไม่สามารถหดเกร็งตัวได้ และ ช่วยป้องกันไม่ให้เส้นประสาทส่งสัญญาณไปที่กล้ามเนื้อให้เกิดการกระตุกนั่นเอง การรักษาด้วยวิธีนี้ จะช่วยไม่ให้เกิดตากระตุกได้ 3-6 เดือน เพียงเท่านั้น
อาการตากระตุกนั้น แม้ไม่อันตราย ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นและหายไปเองอย่างรวดเร็ว แต่สร้างความรำคาญให้ได้พอสมควร ดังนั้น เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดอาการตากระตุก ดูแลตัวเองด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยการเกิดตากระตุกแทน ด้วยการกินอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ พักผ่อนให้เพียงพอ จำกัดการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จำกัดปริมาณการสูบบุหรี่ ลดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
หากิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายความเครียดด้วยเช่นกัน เช่น โยคะ ออกกำลังกาย ปลูกต้นไม้ เป็นต้น เท่านี้ก็จะช่วยลดความเสี่ยงและโอกาสการเกิดตากระตุกได้
แต่หากมีอาการต่อเนื่องยาวนาน ดูแลตัวเองเบื้องต้นแล้วยังไม่ดีขึ้น ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม