ผ้าปูที่นอน ควรเปลี่ยนผ้าปูที่นอนบ่อยแค่ไหน?
ผ้าปูที่นอน เป็นแหล่งเพาะเชื้อแบคทีเรียอย่างดี เพราะ การนอนหลับทำให้ผิวของเราใช้เวลานี้ในการสร้างตัวเองขึ้นมา ส่งผลให้เซลล์ผิวที่ตายแล้วและเซลล์ผิวใหม่ ถูกดักจับโดยผ้าปูที่นอน ทำหน้าที่เหมือนตาข่ายดักจับปลา ที่คอยจับเซลล์ของมนุษย์หลายพันชนิด รวมถึงน้ำมันที่ออกมาจากร่างกาย ของเหลวต่าง ๆ รวมถึงปัสสาวะ และอุจจาระ ด้วย
คนเรายังหลั่งเหงื่อออกมาถึง 26 แกลลอนบนเตียงทุก ๆ ปี และเมื่อเตียงเจอกับความชื้น จะทำให้เกิดเชื้อรา หากตามตัวมีรอยชีดข่วน อาจเกิดการติดเชื้อได้ เซลล์ผิวที่ตายแล้ว ยังเป็นตัวการในการดึงไรฝุ่นให้มาอยู่บนที่นอน สามารถส่งผลต่อผู้ที่เป็นโรคหอบหืดได้ด้วย
ผลเสียหากไม่เปลี่ยนผ้าปูที่นอนทุกสัปดาห์
- ไร ร่างกายผลัดเซลล์ผิววันละ 500 ล้านเซลล์ เซลล์ที่ตายแล้วจะกองอยู่บนผ้าปูที่นอน ไรฝุ่นชอบกินเซลล์ที่ถูกผลัดออก โดยไรฝุ่นที่เกิดขึ้นนี้อาจส่งผลทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ โรคหอบหืด อาจทำให้เป็น กลาก คัน ได้อีกด้วย
- ติดเชื้อรา คนที่ชอบเอาสัตว์เลี้ยงมานอนด้วย ต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก เพราะไรฝุ่นอาจทำให้ผิวของสัตว์กลายเป็นโรคเรื้อนได้ ทั้งยังสามารถแพร่กระจายมายังผิวหนังของเราได้อีกด้วย อาจจะทำให้เกิดความระคายเคือง และคัน สัตว์เลี้ยงยังสามารถติดเชื้อรา หรือที่เรียกว่า กลากของหนังศีรษะจากเราได้อีกด้วย
- แบคทีเรีย เซลล์ผิวที่ตายแล้ว เหงื่อ น้ำลาย และอื่นๆ สามารถเปลี่ยนเตียงเป็นจานเพาะเชื้อโรคได้ไม่ยาก ตัวอย่างการทดลองในห้องปฏิบัติการ พบว่า ปลอกหมอนที่ไม่ได้ซักเป็นเวลา 1 สัปดาห์ มีแบคทีเรียถึง 17,000 เท่า ซึ่งเท่ากับเชื้อโรคที่เกิดขึ้นบนที่นั่งชักโครก
- สิว เนื้อจากเซลล์ผิวที่ตายแล้ว และแบคทีเรีย สามารถอุดตันรูขุมขน จนทำให้เกิดเป็นสิวขึ้นได้
- จุลินทรีย์ แบคทีเรียหรือไวรัสส่วนใหญ่ สามารถอยู่รอดได้บนพื้นผิวที่อ่อนนุ่มเป็นเวลาหลายนาทีถึงหลายชั่วโมง ระยะเวลาจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับลักษณะของจุลินทรีย์ อย่างเช่น ไวรัสไข้หวัดใหญ่ จะอาศัยอยู่ในเนื้อผ้าเป็นเวลา 15 นาที แต่จุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดการระคายเคืองในกระเพาะอาหาร สามารถอยู่รอดในเนื้อผ้าได้นานถึง 4 ชั่วโมง
- โรคราน้ำค้าง เชื้อราบางชนิดมีผลกระทบต่อผู้ที่เป็นโรคหอบหืด ดังนั้นการซักผ้าปูที่นอน รวมถึงปลอกหมอนจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่เมื่อซักแล้วก็ต้องแน่ใจว่าตากไว้จนแห้ง เพราะไม่เช่นนั้นก็อาจจะมีโรคราน้ำค้าง ติดมากับเครื่องนอนก็เป็นได้
ควรเปลี่ยนผ้าปูที่นอนบ่อยแค่ไหน?
ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าควรเปลี่ยนให้บ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทางที่ดีควรเปลี่ยนผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน และปลอกหมอนข้าง ทุก ๆ สัปดาห์ ควรเปลี่ยนหมอน หมอนข้าง รวมถึงผ้านวม ทุก ๆ 1-3 เดือน เช่นกัน
นักจุลชีววิทยา แนะนำว่า ควรซักผ้าปูที่นอน ผ้านวม และปลอกหมอนอย่างสัปดาห์ละ 1 ครั้ง โดยใช้อุณหภูมิที่ 60 องศาเซลเซียส เพื่อทำลายแบคทีเรียให้สะอาด ควรใช้ผ้าปูที่นอนและปลอกหมอนที่แห้งสนิทเท่านั้น โดยเมื่อซักเสร็จควรนำไปตากให้โดนแสงแดด เพื่อทำการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ ใช้เตารีด รีดผ้าปูที่นอน และปลอกหมอน เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เหลือ
เคล็ดลับทำความสะอาดผ้าปูที่นอน
- ผ้าปูที่นอนจากผ้าฝ้าย ให้ทำความสะอาดโดยการซักในเครื่องซักผ้า จากนั้นนำไปตากแดดอ่อน ๆ หรือใส่ในเครื่องอบผ้า ปรับอุณหภูมิต่ำ ๆ ไม่ให้ร้อนเกินไป เพื่อป้องกันไม่ให้เนื้อผ้าแข็งตัว
- ผ้าปูที่นอนจากผ้าฝ้ายผสมใยสังเคราะห์ ถือเป็นผ้าปูที่นอนที่ทำความสะอาดง่ายที่สุด สามารถซักทำความสะอาดด้วยเครื่องซักผ้า แล้วนำไปปั่นแห้งได้เลย
- ผ้าปูที่นอนจากผ้าซาติน สำหรับผ้าซาติน ต้องใช้ความละเอียดอ่อนซักนิดเพื่อถนอมเนื้อผ้าไม่ให้เสื่อมสภาพและใช้ได้นานที่สุด ผ้าปูที่นอนจากผ้าซาตินจึงควรซักทำความสะอาดด้วยมือ โดยผสมน้ำเย็นกับผงซักฟอกสูตรอ่อนโยน แล้วตากในที่ร่มหรืออบแห้งที่อุณหภูมิต่ำ ๆ
- ผ้าปูที่นอนจากผ้าสักหลาด การทำความสะอาดผ้าปูที่นอนจากผ้าสักหลาด ให้นำผ้าปูที่นอนแช่ในน้ำร้อนจัด ปล่อยทิ้งเอาไว้โดยไม่ต้องขยี้จนน้ำเริ่มอุ่น จากนั้นนำผ้าขึ้นมาบิดจนหมาด แล้วนำไปตากแดด หมั่นสะบัดและกลับด้านตากบ่อยๆ จนผ้าแห้ง
- ผ้าปูที่นอนจากผ้าไหม สำหรับผ้าไหม สามารถซักทำความสะอาดด้วยเครื่องซักผ้าได้ แต่ให้เลือกโหมดการซักแบบผ้าเนื้อบาง (Delicate wash) หลังจากซักเสร็จให้นำไปตากแดดให้แห้ง แต่ระวังอย่าใช้ไม้หนีบผ้า เพราะจะทำให้ผ้าไหมเป็นรอยหมดสวยได้
ข้อควรระวังในการทำความสะอาดผ้าปูที่นอน
- ไม่ควรแช่ผ้าปูที่นอนในน้ำผสมผงซักฟอกนานเกินไป ควรแช่เอาไว้เพียง 5-10 นาทีเท่านั้น เพราะการแช่เอาไว้นานเกินไปหรือแช่ผ้าทิ้งไว้ข้ามคืน จะทำให้เนื้อผ้าโดนทำลายจากฤทธิ์ของผงซักฟอก จนไม่นุ่มเหมือนเดิม
- อย่าซักผ้าปูที่นอนรวมกับเสื้อผ้ากองโต ผ้าปูที่นอนควรซักทำความสะอาดแยกจากเสื้อผ้า ผ้าขนหนู และผ้าอื่นๆ ทุกชนิด เพราะซิป ตะขอ หรือกระดุมจากเสื้อผ้า อาจไปขีดข่วนและทำลายผ้าปูที่นอน จนเนื้อผ้าเสียหาย หมดความนุ่ม และจะทำให้ผ้าปูที่นอนไม่สะอาดหมดจดเท่าที่ควรนั่นเอง