โรคการเรียนรู้บกพร่อง(Learning disorder)
โรคการเรียนรู้บกพร่อง(Learning disorder : LD)
เป็นความผิดปกติของกระบวนการเรียนรู้ที่แสดงออกทางด้านการอ่าน การเขียนสะกดคำ การคำนวณและเหตุผลเชิงคณิตศาสตร์ เกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของสมอง ทำให้ผลการเรียนของเด็กต่ำกว่าศักยภาพที่แท้จริง โดยที่เด็กอาจทำไม่ได้เลย หรือทำได้ต่ำกว่าเด็กอื่นที่อายุเท่ากัน ในเด็กไทยพบได้ร้อยละ 6-10 ของเด็กวัยเรียน
ลักษณะอาการ และชนิดของโรคการเรียนรู้บกพร่อง LD แบ่งเป็น 3 ด้าน
1.ความบกพร่องด้านการอ่าน
เป็นปัญหาที่พบได้มากที่สุดของเด็ก LD ทั้งหมด จะมีความบกพร่องในการจดจำ พยัญชนะ สระ และขาดทักษะในการสะกดคำ จึงอ่านหนังสือไม่ออก หรืออ่านหนังสือได้ช้า อ่านออกเสียงไม่ชัดเจน ผันเสียงวรรณยุกต์ไม่ได้ อ่านข้าม อ่านเพิ่มคำ จับใจความของเรื่องที่อ่านไม่ได้
2.ความบกพร่องด้านการเขียนสะกดคำ
จะพบร่วมกับความบกพร่องด้านการอ่าน เด็กจะมีความบกพร่องในการเขียนพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ไม่ถูกต้อง บางครั้งเรียงลำดับตัวอักษรผิด ทำให้เขียนหนังสือ และสะกดคำผิด ไม่สามารถถ่ายทอดความคิดผ่านการเขียนได้
3. ความบกพร่องด้านคณิตศาสตร์
ขาดทักษะและความเข้าใจค่าของตัวเลข การนับจำนวน การจำสูตรคูณ การใช้สัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ จึงไม่สามารถคำนวณคำตอบจากการบวก ลบ คูณ หาร ตามกฎเกณฑ์ทางคณิตศาสตร์ได้ ขาดทักษะในการประยุกต์ใช้ หลักการคิดคำนวณในการแก้ปัญหาได้ อาการที่กล่าวถึงมีความแตกต่างชัดเจนกับเพี่อนวัยเดียวกัน และเป็นปัญหาที่กระทบด้านการเรียนอย่างต่อเนื่อง
สาเหตุของโรค LD ?
- การทำงานของสมองบางตำแหน่งบกพร่อง โดยเฉพาะตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้และการใช้ภาษา
- กรรมพันธุ์ มีพ่อแม่ หรือญาติพี่น้องมีปัญหาเดียวกัน
- ความผิดปกติของโครโมโซม
ปัญหาพฤติกรรม และอารมณ์ที่พบในเด็ก LD
- มีพฤติกรรมไม่สนใจเรียน ไม่ตั้งใจเรียน ดื้อ เกเร
- ไม่มีสมาธิในการเรียน ทำงานช้า ทำงานไม่เสร็จ ทำงานสะเพร่า
- หลีกเลี่ยงการอ่าน การเขียน
- ความจำไม่ดี เรียนได้หน้าลืมหลัง
- หงุดหงิด อารมณ์ ขึ้น ๆ ลง ๆ ไม่อดทน และไม่มั่นใจการอ่านเขียน
- ไม่มั่นใจในตนเอง มักจะตอบว่า “ทำไม่ได้” “ไม่รู้”
- เครียดมากเวลาทำการบ้าน อาจทำให้ผู้ใหญ่มองว่าเด็กขี้เกียจ
- ก้าวร้าวกับเพื่อน พี่น้อง ครู หรือพ่อแม่
เด็กมีแนวโน้มที่จะเกิดปัญหาทางอารมณ์และการปรับตัวตามมาได้มาก อย่างเช่น อารมณ์หงุดหงิด ท้อแท้ เบื่อหน่ายมีอารมณ์เศร้า ไม่มั่นใจในตัวเอง ขาดความภาคภูมิใจในตนเอง รู้สึกด้อยกว่าเพื่อนเพราะตนเองทำไม่ได้ บางรายถึงขั้นต่อต้านหรือไม่อยากไปโรงเรียน
ช่วยเด็ก LD ได้อย่างไรบ้าง?
การช่วยเหลือทางการแพทย์
โรค LD สามารถเกิดรวมกับโรคอื่น ๆ ได้บ่อย อย่างเช่น โรคสมาธิสั้น แพทย์จึงมีบทบาทในการประเมิน วินิจฉัยภาวะต่าง ๆ ที่เด็กมี ร่วมถึงให้การรักษาภาวะเหล่านั้น อย่างเช่น โรคสมาธิสั้น หากได้รับยาช่วยสมาธิ อาการของโรคก็จะดีขึ้นมาก
การช่วยเหลือทางการศึกษา
โรงเรียนควรจัดทำแผนการเรียนรายบุคคล เพื่อให้สอดคล้องกับระดับความบกพร่องของเด็กแต่ละด้าน โดยทำความเข้าใจกับครูถึงปัญหา และความบกพร่องของเด็ก เน้นการสอนเสริมในทักษะที่บกพร่อง อย่างเช่น การสะกดคำ อ่าน เขียนสอนเป็นกลุ่มย่อย หรือตัวต่อครั้งละ 30-45 นาที สัปดาห์ละ 4-5 วัน ช่วยอ่านบทเรียนให้ฟัง เพื่อให้เด็กได้เนื้อหา ความรู้ ได้เร็วขึ้น การให้เวลาในการทำสอบที่เพิ่มขึ้น เพื่อให้เด็กมีเวลาเพียงพอในการ อ่านโจทย์ และเขียนตอบ จะช่วยให้เด็กเรียนได้ดีขึ้น และควรส่งเสริมทักษะด้านอื่น ๆ ที่เด็กสนใจ อย่างเช่น ดนตรี กีฬา ศิลปะ เพื่อให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง
การช่วยเหลือจากครอบครัว
- อธิบายให้เด็กและครอบครัวทราบถึงปัญหาและความบกพร่องเฉพาะด้านของเด็ก รวมทั้งความรู้สึกของเด็กที่มีต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ
- เปลี่ยนพฤติกรรมจากการตำหนิ ลงโทษ มาเป็นความเข้าใจ และสนับสนุนในการส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ของเด็ก
- ชื่นชมเมื่อเด็กทำสำเร็จ แม้ในเรื่องเล็กน้อย เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจในตนเอง