“สุขภาพดี โลกดี” 5 หนทางปรับพฤติกรรม สู่การมีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน (Sustainable Wellness)
1.อาหารจากพืช คืออาหารที่ยั่งยืน
การบริโภคโปรตีนจากสัตว์บ่อย ๆ และมาก ๆ ทำลายทั้งสุขภาพและทำร้ายโลกไปพร้อม ๆ กัน ผลกระทบจากการเลี้ยงปศุสัตว์อย่างวัวและแกะ ปล่อยก๊าซมีเทนทำลายบรรยากาศได้พอ ๆ กับการปล่อยของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม การหันมากินอาหารจากพืช อย่างเช่น วีแกน มังสวิรัติ Flexitarian หรือวิถีการกินแบบยืดหยุ่นตามใจ เน้นกินพืชผักให้มากและกินเนื้อให้น้อย นอกจากจะดีต่อร่างกายแล้ว ยังช่วยลดการปล่อยมลพิษ และต่อสู้กับภาวะโลกร้อนให้เย็นลงได้ถึง 50%
สำหรับประเทศไทย การหันมาหาวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม อย่างการบริโภคพืชผักสวนครัวที่หาได้ตามท้องถิ่น หรือผักผลไม้ตามฤดูกาล ช่วยสนับสนุนแนวทางการรับประทานอาหารสุขภาพแบบยั่งยืนได้ เพราะสามารถลดการใช้น้ำ สารเคมี และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกระบวนการผลิตและการขนส่ง การรับประทานอาหารพื้นบ้านแบบไทย ๆ ที่อุดมไปด้วยผักและสมุนไพรหลากหลายชนิด ยังให้คุณประโยชน์ต่อสุขภาพ เพราะมีวิตามิน แร่ธาตุ สารต้านอนุมูลอิสระสูง และยังผ่านกระบวนการแปรรูปน้อยอีกด้วย
2.ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพและโลก หรือ กิจกรรมทางกายที่ยั่งยืน (Exercise and Sustainable Physical Activity)
การออกกำลังกายไม่จำเป็นต้องมีเครื่องมือแพงๆ ก็สามารถทำได้ อย่าง เดิน วิ่ง หรือปั่นจักรยาน ก็ได้ออกกำลังกาย ได้การเผาผลาญไขมัน ดีต่อหัวใจ ห่างไกลเบาหวาน ความดัน ไขมัน ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมา (Carbon Footprint) ได้แต้มสุขภาพแล้วยังได้แต้มทำดีต่อโลก ง่าย ๆ แค่เปลี่ยนก็ช่วยโลกและสุขภาพพร้อมกัน
การเดินทางที่ไม่ก่อให้เกิดคาร์บอน (Carbon-Free) และเพิ่มโอกาสในการออกกำลังกาย ช่วยสร้างเสริมสุขภาพในทุกช่วงอายุ ในรายงานปี พ.ศ. 2554 ตีพิมพ์ในวารสาร Environment International พบว่า การเดินทางแบบใช้แรงกาย มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดประมาณ 11% รวมถึงลดความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และโรคมะเร็งบางชนิด
3.อากาศดี โลกดี ชีวิตดี เริ่มต้นที่พฤติกรรมสุขภาพ
ภาวะโลกร้อนทำให้อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้น เกิดเหตุการณ์ความร้อนที่รุนแรง บ่อยครั้ง และยาวนานมากขึ้น วงจรการหมุนเวียนอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปจากภาวะโลกร้อน ยังส่งผลให้คุณภาพอากาศแย่ลง อากาศที่ไม่ดีนำไปสู่ปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การระคายเคืองที่ตา จมูกและคอ อาการไอ อาการภูมิแพ้ การหายใจลำบาก ส่งผลกระทบต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ในระยะยาวมลพิษทางอากาศ เพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งบางชนิด ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง
เพียงแค่เริ่มจากการลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว ไม่สูบบุหรี่ ลดอาหารแปรรูป กินให้หมด เปลี่ยนพฤติกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและฝุ่น PM2.5 เป็นส่วนหนึ่งในการทำให้อากาศสะอาด ลดความเสี่ยงต่อโรคระบบทางเดินหายใจต่าง ๆ ช่วยให้สุขภาพแข็งแรงขึ้น ไม่เฉพาะแค่ตัวเรา แต่รวมไปถึงครอบครัวและผู้คนอื่น ๆ บนโลกอีกด้วย
4.การนอนหลับที่ดีและยั่งยืน
ยิ่งมนุษย์เรานอนหลับน้อยลงมากเท่าใด ก็ยิ่งเผาผลาญทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้นเท่านั้น การใช้ทรัพยากรในยามตื่น การนอนหลับที่ไม่มีคุณภาพและระยะเวลาไม่เพียงพอ ยังส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น โรคหัวใจและหลอดเลือด ปัญหาสุขภาพจิต และระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอลง การที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในระบบการรักษาพยาบาล เป็นการเพิ่มของเสียทางการแพทย์ ที่มีทั้งขยะติดเชื้อ ของมีคม สารเคมี สารกัมมันตภาพรังสี การกำจัดของเสียที่ไม่เหมาะสม สามารถทำให้เกิดการปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมได้ และการเผาทำลายก็ต้องใช้อุณหภูมิสูง การนอนหลับที่มีคุณภาพอย่างยั่งยืน จึงไม่ใช่เพียงแค่การดูแลสุขภาพของตัวเองเท่านั้น แต่เป็นการดูแลสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน
5.กิจกรรมอาสา สร้างอารมณ์แห่งความสุข
การมีจิตอาสาไม่เพียงแค่ทำให้โลกใบนี้สดใสขึ้น แต่ยังช่วยให้ใจของเราสดชื่นขึ้นด้วย กลับมาบ้านพร้อมรอยยิ้มและความรู้สึกว่า "ฉันทำอะไรดี ๆ ให้โลกแล้ว!" อารมณ์ดี ๆ ช่วยลดความเครียดและทำให้สมองปลอดโปร่ง ไม่ต้องห่วงเรื่องสุขภาพจิต ยิ่งช่วยคนอื่น ยิ่งทำให้เราแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ
กิจกรรมเหล่านี้ นอกจากจะช่วยโลกแล้ว ยังทำให้เราได้มีโอกาสสร้างความสัมพันธ์กับผู้คน มีการศึกษาระบุว่าเมื่อทำกิจกรรมจิตอาสา Mesolimbic System หรือ Reward Pathway ในสมองจะถูกกระตุ้น ซึ่งระบบนี้ตอบสนองต่อรางวัลตามธรรมชาติ โดยการปล่อยสารสื่อประสาทที่ให้ความรู้สึกดี เช่น Dopamine, Oxytocin, Serotonin, และ Endorphins (DOSE) ส่งผลทางบวกต่ออารมณ์ของเรา เรียกว่า “ทำดีเพื่อโลก ทำดีเพื่อเรา”