Introvert แตกต่างกับ โรคกลัวสังคม อย่างไร ?
Introvert เป็นคำที่บอกถึงลักษณะนิสัยหรือพฤติกรรมของคนที่ชอบเก็บตัว พูดน้อย ไม่ชอบเริ่มบทสนทนาก่อนเมื่อต้องอยู่กับคนแปลกหน้า ชอบทำกิจกรรมต่าง ๆ เพียงคนเดียว ซึ่งผู้คนที่มีบุคลิกภาพประเภทนี้สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ และไม่ได้มีความวิตกกังวลเมื่อต้องพบปะพูดคุยกับผู้อื่น แม้บางครั้งอาจรู้สึกหมดพลัง แต่สามารถเพิ่มพลังให้กับตัวเองได้เมื่ออยู่คนเดียว
โรคกลัวสังคม (Social anxiety disorder) เป็นอาการวิตกกังวลอย่างหนึ่ง กลุ่มคนนี้จะมีความกังวลอย่างรุนแรงในการเข้าสังคม พบปะพูดคุยกับผู้อื่น กลัวการถูกตัดสิน วิพากษ์วิจารณ์ หรือกลัวผู้อื่นมองว่าตนเองไม่ปกติ จนส่งผลให้หลีกเลี่ยงการเข้าสังคม เช่น การสนทนากับผู้อื่น หรือ พูดคุยต่อหน้าผู้คนจำนวนมาก ส่งผลต่อปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน
Introvert กับ โรคกลัวสังคม แตกต่างอย่างไร ?
พฤติกรรมของบุคคลที่เป็น Introvert แม้จะมีลักษณะคล้ายคลึงกับผู้ป่วยที่เป็น โรคกลัวสังคม แต่ยังมีพฤติกรรมบางอย่างที่มีความแตกต่างกัน เนื่องจาก Introvert จะเป็นการบ่งบอกถึง บุคลิกภาพ มากกว่า ปัญหาทางด้านสุขภาพจิต ซึ่งบุคคลที่เป็น Introvert ไม่ได้กลัวการเข้าสังคมหรือพูดคุยกับผู้อื่น แต่การสื่อสารกับผู้อื่นจะต้องใช้พลังงานมาก ซึ่งการที่ได้อยู่กับตนเองได้ทำกิจกรรมที่ชื่นชอบจะเป็นการเติมพลังมากกว่าการพบปะผู้คน ในขณะที่ผู้ที่เป็นโรคกลัวสังคม จะมีความวิตกกังวลอย่างรุนแรงเมื่อต้องอยู่ในสถานการณ์ที่มีคนแปลกหน้า กังวลว่าจะทำเรื่องน่าอายต่อหน้าผู้อื่น หลีกเลี่ยงสภาวะกดดัน ไม่สามารถทำงานหรืออยู่ร่วมกันกับผู้อื่นได้ ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และการทำหน้าที่หรือได้รับโอกาสที่สำคัญต่าง ๆ
สาเหตุโรคกลัวสังคม
- คนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรควิตกกังวล
- ความผิดปกติของสมองส่วนความกลัว
- วิธีการเลี้ยงดูของครอบครัว เช่น มีการใช้ความรุนแรงในครอบครัว
- ความกดดันจากการทำงาน
- ความผิดปกติด้านร่างกาย เช่น ใบหน้าเสียโฉม พูดติดอ่าง
- เกิดเหตุการณ์เลวร้ายที่ทำให้เกิดปมในใจ
- สภาพแวดล้อมรอบตัว เช่น ถูกเพื่อนรังแก
อาการโรคกลัวสังคม
- หัวใจเต้นเร็ว
- มือสั่น
- เหงื่อออก
- ลืมสิ่งที่กำลังจะพูด
- คลื่นไส้หรือมวนท้องเมื่อต้องพูดคุยกับผู้อื่น
- เวียนศีรษะ
- กล้ามเนื้อเกร็ง
- หายใจเร็ว
- กลัว กังวล ทุกข์มาก หรือ หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ต้องพบปะสื่อสารกับผู้คน
- คิดเชิงลบกับการมอง หรือ ตัดสินจากผู้อื่น
- มีปัญหาทางสุขภาพจิตอื่นร่วม เช่น ภาวะซึมเศร้า
วิธีรักษา
- ฝึกสติให้เท่าทันความคิดตนเอง
- ปรับมุมมองในเชิงบวก และ มองโลกตามความจริง
- ฝึกกำหนดลมหายใจ ผ่อนคลาย
- ฝึกซ้อมการสื่อสาร-การแสดง
- หลีกเลี่ยงสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ทำให้กังวล
- ชื่นชมให้กำลังใจตนเองในทุกครั้งที่จะเริ่มต้นพยายามทำอะไร
- ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหากอาการไม่ดีขึ้น
- จัดการกับความเครียด เช่น ออกกำลังกาย
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- ฝึกการเข้าสังคม เช่น สบตาทำความรู้จักกับคนใหม่ ๆ เตรียมเนื้อหาพูดคุยหรือซักซ้อมกับคนใกล้ชิด
- หากอาการไม่ดีขึ้นควรพูดคุยกับนักจิตบำบัด
- รักษาด้วยยา เช่น ยาต้านเศร้า ยารักษาภาวะวิตกกังวล