ท่องโลกดึกดำบรรพ์: ราชันแห่งท้องทะเลและราชันแห่งผืนปฐพี
ยุคอีโอซีนตอนปลาย (37-30) ล้านปีที่แล้ว เริ่มเข้าสู่ช่วงเวลาที่โลกเริ่มเย็นตัวลงอย่างช้าๆ เป็นช่วงเวลาที่โลกเริ่มเย็นตัวลง สภาพอากาศเปลี่ยนจากป่าที่มีอยู่มากเริ่มกลายเป็นทุ่งหญ้า กระแสน้ำในน้ำทะเลก็เริ่มเกิดการปั่นป่วนเปลี่ยนแปลง เมื่อกระแสน้ำอุ่นที่เคยมีบริเวณทะเลเธธิส ช่องทะเลโบราณที่กินพื้นที่จากแอฟริกาเหนือยาวถึงตะวันออกกลางเริ่มค่อยๆ ปิดตัวลงจากการขยับของแผ่นดินอินเดียที่ชนเข้ากับยูเรเซียดันเทือกเขาหิมาลัยขึ้นมา กระนั้นเอง ยุคนี้ก็ถือเป็นช่วงเวลาในการวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิดเลยทีเดียว ถ้าทุกคนพร้อมแล้ว เราไปชมกัน
ตอนนี้ คุณเดินย่ำไปตามป่าดิบชื้นบริเวณปากแม่น้ำของทวีปแอฟริกาเหนือ ยากจะเชื่อว่าประเทศอียิปต์ในยุคนั้นมีต้นไม้หลากหลายชนิดรวมถึงโกงกางที่เราคุ้นเคย ป่ารกนี้ยังมีพืชชอนไชรากไปมาตามพื้นโคลนในป่าอีกด้วย ห่างออกไปจากที่นี่ จะเป็นป่าชายเลนที่น้ำเค็มมีอิธิพลมากขึ้นกว่าทางน้ำไหลที่เป็นน้ำจืดแบบนี้ แต่สักวันหนึ่ง พื้นที่ตรงนี้จะเป็นกรุงไคโรของประเทศอียิปต์ในไม่ช้าอย่างแน่นอน
(เอพีเดียม)
เมื่อคุณเดินทางมายังป่าแห่งนี้ คุณถูกต้อนรับโดยฝูงลิงมีหาง เอพิเดียม (Apidium) ลิงยุคแรกๆ หน้าตาก็ไม่ได้ต่างจากลิงยุคปัจจุบันมาก พวกมันหากินผลไม้และใบไม้อ่อนๆ เป็นหลัก จะไม่ค่อยลงมาที่พื้นมากนัก บนพื้นดินมีนักล่าหลากหลายชนิด ทั้งจระเข้และงูเหลือมก็มากมาย
(อาร์ซินโนเธอเรี่ยม)
เมื่อคุณเดินมาถึงที่เปิดโล่ง คุณได้พบกับสัตว์คล้ายแรดขนาดใหญ่ มันดูตัวใหญ่ดุร้าย มีนอสูงขึ้นไปที่หน้าผากแบะออก นอแต่ละอันยาวถึง 60 เซนติเมตร แม้จะดูคล้ายแรด นี่คือ อาร์ซินโนเธอเรี่ยม (Arsinotherium) มันกลับเป็นญาติที่ใกล้ชิดกับช้าง โดยเป็นสัตว์ในอันดับแอฟโรเธอเรีย (Afrotheria) ซึ่งปรากฏตัวขึ้นในช่วงยุคอีโอซีนนี้เองและกระจายพันธุ์ในแอฟริกา นอกจากนี้ เรายังเจอสัตว์ดึกดำบรรพ์จากอันดับเดียวกันได้อีกหลากหลายชนิด เช่น โมอิริธีเรี่ยม (Moeritherium) ที่มีลักษณะหัวกลมคล้ายฮิปโป แต่มีริมฝีปากที่ขยับขึ้นลง นี่คือรูปแบบแรกๆ ของงวง พวกช้างจะได้ใช้งวงเหล่านี้ในการหยิบจับ ขุด ดึงและดมกลิ่นหาอาหาร พวกมันหากินพืชยามเช้าโดยกินทั้งผลไม้และหญ้าตามแหล่งน้ำ แน่นอนว่าในป่าดงดิบแห่งนี้ในยุคอีโอซีน หญ้าและต้นกกวิวัฒนาการมาหลากหลายมากขึ้นแล้ว
(โมอิริธีเรี่ยม)
นอกจากนี้ในแหล่งน้ำเอง ยังมีตะโขงดึกดำบรรพ์อย่าง อีโอเกเวียลลิส (Eogavalis) และนกน้ำหลายๆ ชนิดด้วย อีโอเกเวียลลิสเป็นสัตว์กลุ่มตะโขงที่มีกระจายพันธุ์อยู่มาก ในยุคอีโอซีน พวกมันกระจายพันธุ์ไปไกลถึงอเมริกาใต้ เอเชีย ยุโรป และแอฟริกา ปัจจุบัน มีตะโขงเพียงสองสกุลอย่างละหนึ่งชนิดหลงเหลือบนโลก โดยพบในอนุทวีปอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั่นเอง
(อีโอเกเวียลลิส)
(อีโอไซเรนและพะยูนชนิดอื่นๆ)
ตอนนี้ทางน้ำนำคุณไปยังทางแม่น้ำที่กว้างขึ้น ตรงนี้คือป่าชายเลนออกไปทางปากอ่าวซึ่งนำไปสู่ทะเลเปิดอันเวิ้งว้าง คุณได้นั่งแพไม้พายเรือไปตามทางน้ำของป่าโกงกาง ดูสิ! ที่นี่นอกจากปลาและปูตามดงหญ้าทะเลแล้ว มีพะยูนยุคแรกเริ่มอย่าง อีโอไซเรนด้วย (Eosiren) อีโอไซเรน ก็เป็นสัตว์กลุ่มพะยูนเช่นกัน ซึ่งพะยูนและช้างก็อยู่ในอันดับแอฟโรเธอเรียเช่นกัน แค่พะยูนเลือกวิวัฒนาการลงไปอาศัยในทะเลและกินพืชทะเลหรือสาหร่ายเป็นอาหารเพื่อเลี่ยงการแข่งขันกับสัตว์กินพืชอื่นๆ บนบก อีโอไซเรนยังคงมีขาหลัง แต่มันก็วิวัฒนาการสั้นลงจนจวนจะหดหายไปแล้ว หากเราเทียบกระดูกของพะยูนยุคปัจจุบันกับกระดูกของอีโอไซเรน จะเห็นได้ว่าพะยูนยุคปัจจุบันมีกระดูกขาหลังเหลือเหมือนบรรพบุรุษ แค่สั้นมากและไม่ได้กลายเป็นติ่งขายื่นมาจากลำตัว
(ไฟโซแกลเลียส)
นอกจากอีโอไซเรน ยังมีนักล่าอย่างฉลามไฟโซแกลเลียส (Physogaleus) เป็นญาติกับฉลามเสือในยุคปัจจุบัน โดยเพียงตรวจฟันแล้วก็พบว่ามันมีลักษณะกว้างแต่แหลมแบนคมข้างคล้ายของฉลามเสือที่สุด เพราะฉลามเป็นปลากระดูกอ่อน บางครั้งโครงกระดูกอื่นๆ ที่เป็นกระดูกอ่อนจะย่อยสลาไม่หลงเหลือเป็นฟอสซิลไปพร้อมกับฟันที่เป็นกระดูกแข็งพอให้มีแร่ธาตุเข้าไปอัดแน่นในกระบวนการกลายเป็นฟอสซิล อาหารของพวกมันคือปลากดทะเลยักษ์อย่างควาร์โมทัส (Quarmotus)
(ควาร์โมทัส)
แต่แล้ว เมื่อถึงลากูนเปิดหน้าชายหาด ที่นี่มีวาฬที่มีขาหลังเล็กๆ ว่ายออกมาต้อนรับคุณแทนเจ้าฉลาม พวกมันยาว 4 เมตร มีฟันแหลมคมทรงแปลกๆ และมีหัวที่ยาวแหลมพร้อมกับลำตัวยาวคล้ายไส้กรอก นี่คือ โดรูดอน (Dorudon) พวกมันเป็นวาฬดึกดำบรรพ์ขนาดเล็กที่วิวัฒนาการมาจากสัตว์บก วาฬมีกระดูกขาหลัง แสดงว่าพวกมันเคยอาศัยอยู่บนบก จากการค้นพบฟอสซิลของโดรูดอนและวาฬดึกดำบรรพ์ในยุคอีโอซีนได้บอกพวกเราว่า พวกมันเคยมีขาหลังและเป็นสัตว์บก แต่เมื่อลงมายังท้องทะเลเพื่อลดการเผชิญกับคู่แข่งบนบกที่เป็นสัตว์กินเนื้ออื่นๆ แล้ว ขาหลังที่ใช้เดินก็ลดรูปหายไป ขนตามลำตัวก็ไม่เหลือกลายเป็นผิวหนังเกลี้ยงๆ ลื่นๆ ช่วยในการลดแรงเสียดทานเมื่อว่ายน้ำ ใบหูสั้นลงและกระดูกเยื่อแก้วหูก็บางเล็กลงทำให้รับเสียงคลื่นความถี่สูงได้และไม่เกิดอาการหูอื้อเมื่อว่ายน้ำหรือดำน้ำลงไปเจอแรงดันน้ำที่ลึก วาฬจึงเป็นกลุ่มของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกีบคู่ที่ประสบความสำเร็จนั่นเอง ตอนนี้พวกโดรูดอนมาแวะพักเติมเสบียงที่ทะเลปิดส่วนนี้ ตอนนี้เป็นช่วงน้ำขึ้น พวกมันต้องการออกทะเลแล้ว รีบตามมันไปกันเถอะ!
(โดรูดอน)
เมื่อคุณว่ายออกมายังทะเลเปิด ปลากะตัก ปลาซาร์ดีน ทูน่า ต่างว่ายโผกระโจนกันออกมาอย่างรวดเร็ว ฉลามนานาชนิดรวมถึงไฟโซแกลเลียสก็ออกมาหากินด้วยเช่นกัน ฝูงโดรูดอนอาศัยรวมกันอย่างมีสังคม โดยตัวเมียในฝูงจะคอยต้อนปลาและสอนการล่าให้กับเหล่าลูกๆ ในฝูงให้พวกมันหัดออกล่าเวลาที่แม่ของพวกมันไม่อยู่
(บาซิโลซอรัส)
แต่แล้ว เงาขนาดใหญ่ว่ายตรงมาและงับไปที่หางของเจ้าฉลาม นั่นคือญาติตัวใหญ่ที่สุดของโดรูดอน และเป็นนักล่าขนาดใหญ่ที่สุดในท้องทะเล บาซิโลซอรัส (Basilosaurus) โดยมันมีความยาวถึง 13-15 เมตร ในช่วงแรกของการค้นพบ มันถูกเข้าใจว่าเป็นงูทะเลหรือสัตว์เลื้อยคลานในทะเลยุคก่อนหน้า แต่จากการศึกษาในช่วงหลังๆ พบว่ามันเกี่ยวข้องกับวาฬและโลมา โดยดูจากสรีระครีบเท้าหลังและโครงสร้างของกระโหลกและฟัน ถึงรูปร่างของมันจะเหมือนวาฬที่ถูกยืดออกให้ดูตลก แต่พวกมันว่ายได้อย่างรวดเร็วและทำให้พวกมันโฉบกินสัตว์ทะเลอื่นๆ ในบางครั้ง โดรูดอนก็เป็นอาหารของมันได้ แต่ตอนนี้มันสนใจจะกินฉลามที่จับง่ายมากกว่า ด้วยฟันสำหรับตัด บด และแล่หลากหลายชุดในกราม ทำให้มันเป็นสุดยอดนักล่า
ในไม่ช้า เมื่อโลกเย็นตัวลง กระแสน้ำเย็นจะเริ่มทำให้แหล่งอาหารหายไป ปลาทะเลเปิดที่น้อยลงจะทำให้วาฬที่ปรับตัวได้เริ่มหันไปวิวัฒนาการเพื่อกินอาหารที่หลากหลาย บาซิโลซอรัสและสัตว์ทะเลขนาดใหญ่จะหายไป เช่นกันกับป่าไม้ที่อยู่บนแผ่นดินที่ลดน้อยลง แต่สัตว์กินพืชแน่นอนว่ามีบางจำพวกที่อาจจะไม่สูญพันธุ์ลงไป แต่กลับขยายขนาดจนใหญ่ขึ้น
ตอนต่อไป เดินทางต่อไปยังมองโกเลียในยุคโอลิโกซีน เมื่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตัวใหญ่ขึ้นและครอบครองแผ่นดินของเอเชียอย่างน่าสะพรึง พวกมันใหญ่ พวกมันดุร้าย และน่าเกลียด และยังกระจายพันธุ์ไปทุกที่ มีอะไรรอเราอยู่กันแน่ โปรดติดตามใน ท่องโลกดึกดำบรรพ์!
อ้างอิงจาก: https://ucmp.berkeley.edu/tertiary/eocene.php#:~:text=The Eocene is the second,were%20small%2C%20under%2010%20kg.
https://www.britannica.com/science/Eocene-Epoch
https://ucmp.berkeley.edu/tertiary/eoc.html