ผญาภาคอีสาน ไม่ให้เชื่อคนง่าย
ผญาภาคอีสาน ไม่ให้เชื่อคนง่าย
ผญาคำสอน ไม่ให้เชื่อคนง่าย
ผญาคำสอน หรือ ผญาภาษิต คือ การใช้ถ้อยคำที่กล่าวเป็นร้อยกรองสั้น ๆ ที่แฝงไว้ด้วยคติธรรม คำเตือนใจ หรืออีกนัยหนึ่ง คือ ข้อความที่เป็นอุปมาอุปมัย ทำให้ผู้ฟังได้คิด ได้ตีความ และสามารถนำไปประพฤติปฏิบัติตนในทางที่ดีงาม ในทางที่ถูกต้อง
ผญาคำสอน : ไม่ให้เชื่อคนง่าย
กกบ่เตื้อง ติงตายตั้งแต่ง่า ง่าบ่เหลื้อง ไปเตื้องตั้งแต่ใบ
ผญาที่ว่า กกบ่เตื้อง ติงตายตั้งแต่ง่า แปลว่า ต้นไม้ที่ยังไม่ตาย แต่กิ่งไม้กลับตาย
กก แปลว่า ลำต้น
เตื้อง ติง แปลว่า เคลื่อนไหว
ง่า แปลว่า กิ่งไม้
ผญาที่ว่า ง่าบ่เหลื้อง ไปเตื้องตั้งแต่ใบ แปลว่า กิ่งไม้ไม่ไหวติง แต่ใบไม้ยังเคลื่อนไหวอยู่
เหลื้อง แปลว่า เคลื่อนไหว
ดังนั้นคำผญาที่ว่า กกบ่เตื้อง ติงตายตั้งแต่ง่า ง่าบ่เหลื้อง ไปเตื้อง ตั้งแต่ใบ จึงมีความหมายว่า ต้นไม้ที่ยังไม่ตาย แต่กิ่งนั้นกลับตาย และกิ่งไม้ก็ไม่เคลื่อนไหว แต่ใบไม้ยังเคลื่อนไหวอยู่
เป็นผญาคำสอนที่เปรียบให้รู้จักพิจารณาคน แต่ละคนให้ถ้วนถี่ ก่อนที่เราจะคบหาหรือหลงเชื่อใคร เพราะคนที่ภายนอกดูน่าเชื่อถือ คือ แต่งกายดูภูมิฐาน แต่ภายในจิตใจนั้น อาจจะมีสิ่งไม่ดีซ่อนเร้นอยู่ และใช้คำพูดที่ฟังดูมีหลักการ น่าศรัทธามาหว่านล้อมให้คนอื่นหลงเชื่อตน ตรงกันข้ามกับคนที่มองดูว่า ไม่น่าไว้วางใจ แต่จริง ๆ แล้ว เขาเป็นคนดีมีคุณธรรม น่าคบหา น่าคบค้าสมาคมด้วยมากกว่า คนที่แต่งตัวภูมิฐานและใช้วาจาดี แต่จิตใจไม่มีคุณธรรม
อ้างอิงจาก: ภาษิต สำนวนไทย 4 ภาค ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. ผู้เขียน : ราชบัณฑิตยสถาน; สำนักพิมพ์ : กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน; ปีพิมพ์ : 2555; จำนวนหน้า : 185
https://www.mcu.ac.th/article/detail/465