ท่องโลกดึกดำบรรพ์: ป่าดงดิบแห่งเมซเซิลพิท
ยุคอีโอซีน (47-30 ล้านปีที่แล้ว) เป็นช่วงต้นกำเนิดของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เมื่อไร้ซึ่งไดโนเสาร์คอยครอบครองระบบนิเวศ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเริ่มมีขนาดตัวที่ใหญ่ขึ้นมากเรื่อยๆ และเริ่มครอบครองระบบนิเวศต่างๆ ทั้งบนบก ในน้ำ และบนต้นไม้ เช่นเดียวกับนกที่เป็นลูกหลานของไดโนเสาร์ที่ขนาดตัวใหญ่ขึ้นเช่นกัน วันนี้ เราจะพาทุกท่านมาแหล่งขุดค้นเมซเซลพิท (Messel Pit Formation) ที่อยู่นทางตะวันออกเฉียงใต้ของเยอรมันนี เป็นแหล่งรวมซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมดึกดำบรรพ์แรกเริ่ม และเราจะพาทุกคนไปชมสถานที่แห่งนี้กัน
ย้อนไปในช่วงเวลานั้นเมื่อ 47 ล้านปีที่แล้ว ยุโรปมีสภาพป่าเป็นป่าดงดิบกึ่งเขตร้อน มีอิธิพลของภูเขาไฟและโลกที่มีสภาพอากาศกึ่งเขตร้อน ป่าฝนเขตอบอุ่นเจริญเติบโตได้ดีมาก อุณหภูมิในยุคนั้นเฉลี่ยจะสูงกว่าปัจจจุบันถึง 5 องศาเซลเซียส เป็นช่วงเวลาที่พืชสมัยใหม่เริ่มปรากฏขึ้น อาทิเช่น กล้วยไม้ องุ่น มะเดื่อ เป็นต้น กระนั้น ป่าดิบชื้นแห่งนี้ก็ไม่ได้ไร้ซึ่งสิ่งมีชีวิตเสียทีเดียว ถึงแม้จะหมดอิธิพลของไดโนเสาร์ไปแล้ว แต่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเริ่มปรากฏตัวและเริ่มแทนที่ไดโนเสาร์
(เลปทิกทีเดียม)
เมื่อคุณเดินไปตามพื้นป่า คุณก็ได้เจอกับ เลปทิกทีเดียม (Leptictidium) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมยุคแรกที่มีหน้าตาคล้ายหนูผี แต่มีงวงเล็กๆ คล้ายช้าง มันกระโดดด้วยขาที่ยาวเรียวคล้ายจิงโจ้ไปตามพื้นป่า จมูกนั้นใช้ในการดมกลิ่นหาแมลงและผลไม้ที่มันชอบ พวกมันขุดรูอยู่ใต้ดินตามโคนต้นไม้ น่ารักและแปลกตาอะไรเยี่ยงนี้
(โปรพาลิโอเธอเรี่ยม)
เมื่อเดินต่อมา ก็จะได้พบกับสัตว์กีบคี่ดึกดำบรรพ์ขนาดเล็กอย่าง โปรพาลิโอเธอเรี่ยม (Propalaeotherium) พวกมันดูกลมๆ คล้ายม้าผสมกับหมาขนาดเล็ก กีบเท้าของมันมีนิ้วสามนิ้ว สัตว์กีบคี่เพิ่งเริ่มต้นวิวัฒนาการขึ้นมาในยุคนี้เอง โดยพวกมันมีการปรับตัวเพื่อความเร็วในการหลบหลีกนักล่าที่อาจจะมาล่าพวกมันได้ กระนั้น โปรพาลิโอเธอเรี่ยมก็ชอบอยู่กันเป็นฝูง นี่คือสังคมการอยู่กันเป็นฝูงแบบมีแบบแผนในหมู่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และในอนาคต ลูกหลานในสายวิวัฒนาการของพวกมันจะกลายเป็นทั้ง ม้า แรด และสมเสร็จ สัตว์กินพืชขนาดใหญ่ที่ปกครองระบบนิเวศในยุคต่อๆ ไป
(แกสตรอนนิส)
ขณะที่พวกโปรพาลิโอเธอเรี่ยมยืนหยุดรอใต้ต้นไม้อย่างต้นวอลนัท นกขนาดใหญ่ท่าทางน่ากลัวมีปากแหลมยาวเดินมาอย่างช้าๆ นี่คือนกยักษ์ดึกดำบรรพ์ที่บินไม่ได้ แกสตรอนนิส (Gastronis) ด้วยความสูงถึง 3 เมตร และหนักถึง 800 กิโลกรัม แกสตรอนนิสเคยถูกเชื่อว่าเป็นนกนักล่าขนาดใหญ่ที่กินสัตว์อื่นเป็นอาหาร แต่จากการศึกษาไอโซโทป โมเลกุลตกค้างในเศษกระดูกที่หลอมรวมกับคาร์บอนจนรู้ว่า อาหารของพวกมันเกือบ 90% เป็นพืชส่วนมาก พวกมันจึงได้กลายเป็นนกกินพืชที่ไม่ดุร้าย แต่ก็ควรจะอยู่ห่างๆ ไว้ดีกว่า
(โกดิโนเธีย)
แกสตรอนนิสเริ่มกัดขย่มต้นไม้ให้ผลวอลนัทตกลงมาที่พื้น พวกโปรพาลิโอเธอเรี่ยมก็เข้ามาร่วมแจมด้วยในทันทีด้วย พวกมันอิงอาศัยกันอย่างผาสุก และกิจกรรมนี้ก็ดึงดูดไพรเมทยุคแรกลงมาที่พื้นดินอย่างโกดิโนเธีย (Godinotia) พวกมันมีลักษณะคล้ายลีเมอร์ในมาดากัสการ์ และคาดว่าคงเป็นรูปแบบแรกเริ่มของสายพันธุ์สัตว์กลุ่มไพรเมท ปกติพวกมันจะหากินบนต้นไม้ แต่จะลงมาที่พื้นดินเมื่อรู้สึกปลอดภัยเท่านั้น
(โบเวอริซูคัส)
ทันใดนั้นเอง สัตว์เลื้อยคลานปากแหลมยาวลำตัวยาว 3 เมตรพุ่งออกมาแล้วกระโจนงับโกดิโนเธียได้ตัวหนึ่ง สัตว์ตัวนั้นส่ายหัวไปมาฟาดไพรเมตตัวจ้อยทำให้สัตว์อื่นทิ้งงานเลี้ยงผลวอลนัทไปทันที มันคล้ายกับจระเข้ แต่มีขายาวผิดปกติคล้ายตะกวด นี่คือ โบเวอริซูคัส (Boverisuchus) เป็นจระเข้ดึกดำบรรพ์จากสกุลของ Eusuchia ซึ่งเป็นสกุลจระเข้ดึกดำบรรพ์ที่ไม่หลงเหลือในปัจจุบัน พวกมันปรับตัวและล่าเหยื่อบนบกด้วยการกระโจนจับเหยื่อกินหลังพุ่มไม้ เมื่อได้เหยื่อแล้ว มันก็จะกลืนลงไปทั้งตัวแล้วเดินกลับไปนอนพักผ่อน
(เมเซโลบูโนดอน)
เมื่อเดินทางมาถึงแหล่งน้ำ ทะเลสาบแห่งนี้ได้อิธิพลจากภูเขาไฟ จึงมีแก็สอันตรายรอปะทุในแหล่งน้ำ คุณได้เจอกับฝูงสัตว์กีบคี่ขนาดเล็ก พวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกลุ่มนี้้มันมีจำนวนนิ้วเท้าเป็นเลขคู่เสมอต่างจากสัตว์กีบคี่ นี่คือ เมเซโลบูโนดอน (Messelobunodon) พวกมันมีขนาดเล็กคล้ายกระจง ตัวเล็กและอ่อนแอ แต่สัตว์กลุ่มนี้ก็รอจะวิวัฒนาการให้ตัวใหญ่ขึ้นเช่นกัน ในน้ำนอกจากจะมีปลาหลายชนิดแล้ว ยังมีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในน้ำอย่างเจ้าบุกโซเลสติส (Buxolestes) ซึ่งคล้ายกับตัวนากแต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกัน พวกมันหากินปลาในทะเลสาบและจะขึ้นมาพักผ่อนเป็นครั้งคราวด้วย
(บุกโซเลสติส)
(เลสเมโซดอน)
มีสัตว์ขนาดใหญ่อีกชนิดเดินมาที่ริมน้ำ มันเริ่มวิ่งกวดฝูงเมเซโลบูโนดอนด้วยความเร็วจนทั้งฝูงแตกกระเจิง แต่มันก็จับเหยื่อตัวไหนไม่ได้เลย นี่คือเลสเมโซดอน (Lesmesodon) มันมีรูปร่างคล้ายชะมดหรือหมาขนาดกลาง แต่นี่คือ สัตว์จำพวกไฮยีโนดอนทิด (Hyeanodontidae) ซึ่งเป็นสัตว์กินเนื้อยุคแรกเริ่มที่ไม่มีทายาทในสายวิวัฒนาการหลงเหลืออีกต่อไป พวกมันถือเป็นนักล่าที่ใหญ่ที่สุดในป่าแห่งนี้นี้เช่นกัน กระนั้นก็ยังตัวเล็กจนทำอันตรายแก่ชีวิตถึงมนุษย์ไม่ได้แน่นอน
(ยูโรทาแมนดัว)
เมื่อเริ่มตกกลางคืน ป่าในตอนนี้เริ่มสงบ มากด้วยเสียงแมลงเรไร คุณนอนพักบนต้นไม้สูงและเริ่มเห็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมลิ้นยาวหน้าตาแปลกกำลังทลายรังดินบนต้นไม้ นี่คือ ยูโรทาแมนดัว (Eurotamandua) เป็นสัตว์จำพวกตัวลิ่นยุคแรก โดยมีขนที่หนาคล้ายเกราะ ลูกหลานในสายวิวัฒนาการจะพัฒนาเกล็ดแข็งขึ้นมาจากขนที่สานตัวเหล่านี้เพื่อป้องกันการกัดของมัน อาหารของมันคือไข่ของมดอย่างไททันโนเมอร์ม่า (Tytanomyrma) มดยักษ์หน้าตาคล้ายมดตะนอยที่ตัวใหญ่ ยาวถึง 2 นิ้วกำลังออกมากัดไล่ผู้บุกรุก แต่ก็ทำให้เจ้ายูโรทาแมนดัวสะดุ้งไม่ได้ง่ายๆ
และแล้ว เหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น แก็สซัลฟิวริกและมีเทนจากใต้ทะเลสาบปะทุขึ้นพร้อมกับภูเขาไฟไหลไปยังพื้นป่าด้านล่าง สัตว์ต่างๆ บนพื้นป่าพากันส่งเสียงร้องพร้อมกับพื้นดินที่สั่นไหว เกาะกิ่งไม้ไว้เร็ว! แล้วอย่าลงไปข้างล่าง ต้องอยู่ให้สูงเกินกว่าที่แก็สจะไปถึงคุณ พวกสัตว์ต่างๆ ตอนนี้เริ่มสำลักควันพิษและล้มตายลงช้าๆ ไปทีละตัว
เมื่อคืนแห่งความโหดร้ายจบลง ตอนนี้ท้องฟ้าสว่างพร้อมเช้าวันใหม่ คุณลงมาที่พื้นป่าก็พบกับสัตว์จำนวนมากนอนตาย ทั้งนกยักษ์แกสโตรนิส โปรพาลิโอเธอเรี่ยม โบเวอริซูคัส เลสเมโซดอน และ เมเซโลบูโนดอนนอนแน่นิ่งจากควันพิษตายกันไปหลายตัวแล้ว แน่นอนว่านี่คือเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในสถานที่แห่งนี้ พวกสัตว์ที่รอดก็จะพากันอพยพเข้าไปยังสถานที่อื่นให้พ้นจากภัยธรรมชาติ ตัวที่ไม่รอดก็จะต้องตายไป แต่ในอนาคต พวกมันจะกลายเป็นฟอสซิลเมื่อยุคอีโอซีนสิ้นสุดลง และรอวันที่นักวิทยาศาตร์เข้ามาศึกษาอย่างแน่นอน
เดินทางต่อไปอีก 10 ล้านปีข้างหน้า เมื่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลตัวใหญ่ขึ้น เราจะพาคุณเดินทางไปยังอียิปต์ครั้งที่ทะเลท่วมมิดตะวันออกกลาง พบกับวาฬดึกดำบรรพ์ขนาดใหญ่ บาซิโลซอรัส และบนบก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตัวใหญ่และใหญ่ขึ้นมากๆ จะมีอะไรรอเราอยู่กันแน่ เชิญติดตามใน ท่องโลกดึกดำบรรพ์!