พระสมเด็จวัดระฆังฯ มีกี่พิมพ์
พระสมเด็จวัดระฆังฯ จัดได้ว่าเป็นสุดยอดพระเครื่องตลอดกาล อีกทั้งเป็นสุดยอดความปรารถนาที่จะได้ไว้ในครอบครองของบรรดาเหล่าผู้นิยมพระเครื่อง หรือนักสะสมของเก่าทั้งหลาย ปรารภได้ว่าเป็น "จักรพรรดิแห่งพระเครื่อง" เลยทีเดียว แถมเป็นองค์ประธานสำหรับพระเครื่อง "ชุดเบญจภาคี" อีกด้วย
ผู้สร้าง สมเด็จพระพุฒจารย์ (โต พรหมรังสี)
สร้าง สมัยรัตนโกสินทร์ ปี พ.ศ. 2409 ในสมัยรัชกาลที่ 4 ณ วัดระฆังโฆษิตาราม
พุทธศิลปะ พุทธลักษณะ องค์พระนั่งปางสมาธิ ประทับบนฐาน๓ชั้น สถิตภายในซุ้มเรือนแก้ว
ขนาด ประมาณ : ฐาน ๒.๕ ซ.ม. , สูง ๓.๖ ซ.ม. , หนา ๐.๕ ซ.ม.
พระพุทธคุณ เมตตามหานิยม , แคล้วคลาดภัยพิบัติ , คงกระพัน , โชคลาภ ฯลฯ
ภาพสมเด็จพระพุฒจารย์ (โต พรหมรังสี)
วัตถุที่ใช้ทำพระนั้น ใช้วัตถุหลายอย่างต่างกันคือ ผงดินสอ ที่ได้จากการเรียนมูลกัจจายน์ ตามวิธีโบราณ ดินสอเหลือง ปูนขาว เกสรดอกไม้ กล้วยน้ำว้า เปลือกกล้วย ชานหมาก ใบลานเผา อาหารสํารวม และน้ำอ้อย เป็นต้น
พระสมเด็จวัดระฆังฯ ตามความนิยมในวงการพระเครื่อง มี 5 พิมพ์ ด้วยกันคือ
๑. พิมพ์ใหญ่ เป็นพิมพ์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในบรรดาพิมพ์พระทั้ง 5 แม่พิมพ์ มีทั้งเนื้อละเอียด เนื้อหยาบ เนื้อแก่น้ำมันตังอิ๊ว หรือเนื้อสังขยา และเนื้อแก่ปูน ลักษณะพิมพ์ทรง เป็นรูปสมมติของพระพุทธเจ้านั่งในระฆังคว่ำ องค์พระแลดูนั่งเอียงไปทางขวา ปลายพระเกศสะบัดเอียงไปทางซ้าย ในบางองค์อาจทะลุซุ้มด้านบน แลเห็นหูพระด้านซ้ายเป็นแนวจางๆยาวลงมา ไหล่ซ้ายดูยกสูงกว่าไหล่ขวา มองเห็นปลายพระบาทยื่นเล็กน้อย ฐานขั้นล่างสุดเหมือนสี่เหลี่ยมคางหมู
๒. พิมพ์ทรงเจดีย์ ลักษณะพิมพ์เป็นพระนั่งในระฆังคว่ำ แลเห็นตั้งแต่พระเกศจรดฐานชั้นล่างสุดเรียงเสมอเป็นแนวรูปทรงเจดีย์ ลักษณะลำตัวพระแลดูหนากว่าทุกพิมพ์
๓. พิมพ์ฐานแซม ลักษณะพิมพ์เป็นพระนั่งในระฆังคว่ำ หูเป็นแบบบายศรี มีเส้นแซมระหว่างใต้องค์พระ กับ ฐานชั้นบนสุด และใต้ฐานชั้นบนสุด กับ ฐานชั้นกลาง
๔. พิมพ์เกศบัวตูม เป็นพระพิมพ์ของวัดระฆังที่พบจำนวนน้อยที่สุดในบรรดาพระพิมพ์ทั้งหมด ลักษณะพิมพ์ทรงเป็นพระนั่งในระฆังคว่ำ พระพักตร์กลมป้อม พระเกศเป็นมุ่นมีลักษณะคล้ายดอกบัวตูม (เป็นที่มาของชื่อพิมพ์) ต่างจากพิมพ์อื่น ตรงที่ปลายพระเกศไม่จรดเส้นซุ้ม องค์พระเป็นล่ำสัน มองเห็นเส้นสังคาฏิชัดเจน
๕. พิมพ์ปรกโพธิ์ ลักษณะพิมพ์เป็นพระนั่งในระฆังคว่ำคล้ายพิมพ์ฐานแซม เหนือพระเกศและหัวไหล่ปรกคลุมด้วยใบโพธิ์ (พิมพ์นี้มีน้อย จนหนังสือบางเล่มไม่ได้กล่าวถึง)
อ้างอิงจาก: วิกกิพีเดีย , เบญจภาคี , Google , Rangsan Torsuwan