ปลาหมอมายัน นักล่าลายแถบผู้รุกรานแสนดุร้าย
นอกจากปลาหมอคางดำแล้ว มีปลากลุ่มปลาหมอสีอีกชนิดที่กำลังระบาดและรุกรานแห่งที่อยู่อาศัยตามปากแม่น้ำและป่าชายเลน บึงน้ำหลายๆ ที่ในประเทศไทยเช่นกัน พวกมันได้ฉายาว่า "เสือโคร่งสีส้ม" เป็นนักล่าที่ว่องไว และทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นจากวงการปลาสวยงามและการไร้ความรับผิดชอบ ถ้าพร้อมแล้วไปดูกันเลย
ประวัติของปลาหมอมายัน
ปลาหมอมายัน ชื่อวิทยาศาตร์ (Mayaheros urophthalmus) เป็นปลาหมอสีขนาดกลางค่อนไปทางใหญ่ ยาวได้ 20-39 เซนติเมตร มีลักษณะแบนข้าง หัวแหลม ในปากมีเขี้ยวแหลมคมสองข้างไว้งับเหยื่อ มีลักษณะคล้ายปลาหมอสีชนิดอื่นๆ แต่มีจุดเด่นที่ครีบที่มีสีสันคล้ายสายรุ้ง และลำตัวสีส้มพร้อมลายพาดกลอนสีเขียวเข้มคล้ายเสือโคร่ง พบตามแหล่งน้ำ ทะเลสาบ หลุมธารใต้น้ำ ป่าชายเลน ชะวากทะเลและชายฝั่งทะเลของทวีปอเมริกากลาง ไล่ตั้งแต่เม็กซิโกใต้ยาวไปถึงปานามา สามารถทนค่าความเค็มได้ถึง 15-30 ppt และทนน้ำที่มีอ๊อกซิเจนคุณภาพต่ำได้ดี โดยมักหากินกลางน้ำและพื้นน้ำ โดยว่ายไล่โฉบกินกุ้ง ปู ปลาขนาดเล็ก แมลงน้ำ หนอนทะเล ไส้เดือน เป็นปลาที่ชาวเม็กซิกันรู้จักกันดีในชื่อ Mojarra และนิยมนำมาประกอบอาหาร โดยทั้งทอดราดซอส หรือใส่เป็นไส้ห่อกินกับทาโก้
ปลาหมอมายันมีฤดูวางไข่กว้างตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนพฤจิกายน จะผสมพันธุ์ออกไข่ได้เมื่ออายุ 1 ปีขึ้นไป โดยมีพฤติกรรมตีแปลงหรือขุดหลุมขนาดใหญ่กลางพื้นน้ำ เมื่อวางไข่ที่ได้รับเชื้อในการผสม พ่อแม่ปลาจะปกป้องไข่จากนักล่าอื่นๆ และให้อ๊อกซิเจนกับไข่ ประมาณ 25 วันลูกปลาจะฟักตัวแล้วก็จะอาศัยข้างๆ พ่อกับแม่สักพักจนโตพอดูแลตัวเอง จึงแยกย้ายกันต่อไป
นักล่าตามธรรมชาติของปลาหมอมายันนั้น มีหลากหลาย มีทั้งงูกินปลา นกน้ำ จระเข้ทั้งเคแมนและจระเข้อเมริกากลางขนาดใหญ่ เสือจากัวร์ แมวป่าโอเซล็อต ในน้ำเอง ปลาหมอมายันก็ถูกล่าจากปลากดทะเล ปลาหมอสีชนิดอื่น ปลาสาก ปลาฉลามได้อีกด้วย
การรุกรานประเทศไทยและจุดเริ่มต้น
ปลาหมอมายัน เป็นปลาที่ถูกนำเข้ามาในตลาดปลาสวยงามตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว ต่างจากปลาหมอคางดำที่มาเป็นแหล่งอาหารในอุตสาหกรรมอาหารทะเล โดยนำเข้าเพื่อผสมเป็นปลาหมอสีครอสบรีดชนิดอื่นๆ แต่ทว่า บางฟาร์มปลาขาดทุน หรือเริ่มขายไม่ออก จึงเกิดความมักง่ายปล่อยพวกมันลงแหล่งน้ำธรรมชาติ ทำให้ปลาหมอมายันและปลาหมอสีลูกผสมชนิดอื่นๆ เข้ายึดครองแหล่งน้ำธรรมชาติ ไล่กันปลาขนาดเล็กและสัตว์น้ำอื่นๆ ของไทย ด้วยความทนทานต่อภาวะอ๊อกซิเจนต่ำและนิสัยกินไม่เลือก พวกมันจึงหลุดไปกับประตูน้ำ ท่อระบายน้ำ ท่อส่งน้ำไปตามสถานที่ต่างๆ ได้ โดยสถานที่ที่ระบาดมากที่สุด คือบางขุนเทียนของกรุงเทพมหานคร และจังหวัดสมุทรปราการ โดยมีชื่อเรียกเล่นๆ ว่า "ปลานิลกา" อีกด้วย
โชคดีที่พวกมันมีรสอร่อย และยังขยายพันธุ์โตช้า แถมมีสีสันสะดุดตา จึงทำให้ทั้งมนุษย์และสัตว์ป่าท้องถิ่นของไทยสามารถจับพวกมันกินได้ กระนั้นจำนวนของพวกมันก็ยังคงมีมากและเจอได้เรื่อยๆ ในปัจจุบัน จึงเป็นหนึ่งในปลาหมอสีที่พบได้ในแหล่งน้ำธรรมชาติของไทยนอกจากปลาหมอสีคางดำ ปลาหมอสีไตรมาคูหรือปลาหมอสีฟลาวเวอร์ฮอร์น ปลาหมอไมดาส และปลาหมอบัตเตอร์อีกด้วย นอกจากนี้ประเทศไต้หวัน ประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศสิงค์โปร และรัฐฟลอริด้า สหรัฐอเมริกา ก็เจอกับการรุกรานของปลาหมอมายันที่มาจากอุตสาหกรรมปลาสวยงามเช่นกัน
ปัจจุบันด้วยกฏหมายใหม่ ปลาหมอมายันไม่สามารถนำมาเลี้ยงไว้ในครอบครองหรือเพาะขยายพันธุ์ทางเชิงพาณิชย์อย่างเสรีได้ ว่าด้วยกฏหมายสัตว์น้ำต่างถิ่น 13 ชนิดต้องห้ามที่ออกในปี พ.ศ. 2567 การจะเพาะศึกษาจะเป็นไปเพื่อการวิจัยโดยได้รับการยินยอมจากกรมประมงเท่านั้น และจะต้องเพาะในพื้นที่ปิดอีกด้วย แต่สามารถจับปลาหมอมายันมาขายเพื่อประกอบอาหารได้ โดยต้องทำให้ปลานั้นตายเสียก่อน