ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของ "น้ำแข็ง" และขนม "จ้ำบ๊ะ" ในประเทศไทย
น้ำแข็งเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ที่สั่งมาจากสิงค์โปร์ จะส่งตรงเข้าไปในวัง จนกระทั่งมีการตั้งโรงน้ำแข็งสยามขึ้นมา สิ่งที่นิยมคือ นำน้ำแข็งมาทำให้เป็นเกล็ด อัดเป็นแท่งเสียบไม้ ราดด้วยน้ำหวาน กินกันให้ชื่นใจ ยิ่งในสมัยก่อนนั้น ไม่มีแอร์คอนดิชั่นกันในบ้านมากมายแพร่หลายอย่างในปัจจุบัน การได้กินน้ำแข็งไสนั้นจึงเป็นอะไรที่สุดยอดมากๆเลยเด้อ
ส่วนขนมจ้ำบ๊ะ (ปัจจุบันน่าจะหากินยากแล้ว แต่กลายเป็น น้ำแข็งไส ใส่ถ้วยพร้อมเครื่องเคียงต่างๆ เช่น ลูกชิด , ถั่วแดง , ข้าวโพด , เฉาก๊วย , มันต้ม และอื่นๆ อีกมากมาย ) ขนมจ้ำบ๊ะนี้ มีต้นกำเนิดจากชาวจีนในจังหวัดเพชรบุรี คิดค้นจากการนำของกินที่เหลือตอนเช้า คือ ปาท่องโก๋ ไปทอดกรอบแล้วใส่น้ำแข็งไสลงไป เทน้ำหวานสีแดง โดยยังไม่เรียกว่า จ้ำบ๊ะ จนปี พ.ศ. 2490 มีการบริโภคนมข้นหวานอย่างแพร่หลาย จึงมีการราดนมข้นหวานลงไป มีลำดับองค์ประกอบคือ ชั้นฐานประกอบด้วย ปาท่องโก๋ทอด/ขนมปังหัวกะโหลก หั่นเป็นชิ้นพอคำ ต่อมาคือชั้นน้ำแข็งไสในลักษณะพูนคล้ายทรงภูเขาหรือกะลาครอบ และชั้นที่ 3 คือ ชั้นน้ำเชื่อม และชั้นยอด โรยนมข้นหวาน จากนั้นจ้ำบ๊ะมีความแพร่หลายในจังหวัดขอนแก่นราวปี พ.ศ. 2525 จนเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยม ที่มาของชื่อ จ้ำบ๊ะ น่าจะมาจาก น้ำแข็งไสสีขาวที่พูนขึ้นคล้ายหน้าอกของนางระบำจ้ำบ๊ะในขณะนั้นนั่นเอง