ท่องโลกดึกดำบรรพ์: เกาะจิ๋วและเจ้าเวหา
ทวีปยุโรปช่วงปลายยุคครีเตเชียสนั้นรายล้อมไปด้วยทะเล หมู่เกาะต่างๆ ก่อตัวขึ้นเป็นภูเขาไฟโบราณนานารูปแบบ สิ่งมีชีวิตจึงอยู่อย่างกระจัดกระจายมากมาย บางส่วนก็ย่อขนาดตัวให้เล็กลง และบางส่วนปรับตัวจนใหญ่โตและดุร้ายมากขึ้น วันนี้เราจะพาทุกท่านเดินทางมายังเกาะที่มีชื่อว่าเกาะแฮทเท็ก (Hateg Island) ที่เมื่อ 67 ล้านปีก่อน ปัจจุบันเป็นแม่น้ำและหุบเขาเล็กๆ ในประเทศโรมาเนียแล้ว ถ้าพร้อมแล้วก็ตามมาเลย!
เมื่อเดินย่างกรายมายังพื้นแผ่นดินเล็กๆ แห่งนี้ คุณก็ต้องประหลาดใจกับความเล็กจิ๋วของไดโนเสาร์บนเกาะ รอบๆ มีหญ้าถอดปล้อง พืชเขตร้อนดึกดำบรรพ์เต็มเกาะแห่งนี้ไปหมด และยังมีอิธิพลจากภูเขาไฟที่รอปะทุอีกด้วย พวกไดโนเสาร์บนเกาะแห่งนี้มีบรรพบุรุษร่วมกับพวกบนแผ่นดินใหญ่ และวิวัฒนาการจนตัวเล็กลงตามแหล่งอาหารที่จำกัด สภาวะนี้เรียกว่า สภาวะแคระแกร็นในพื้นที่จำกัด (Insular Dwarfism) ขณะเดียวกัน บนเกาะเองที่ไร้คู่แข่ง ก็อาจจะเร่งวิวัฒนาการให้กับสัตว์เหล่านี้มีขนาดตัวที่ใหญ่ขึ้นได้ จึงเรียกว่า สภาวะใหญ่โตที่พื้นที่จำกัดเช่นกัน (Insular Gigantism)
เมื่อเดินมาเรื่อยๆ คุณจะพบกับแซลม็อกเซส (Zalmoxes) ไดโนเสาร์กลุ่มแรบโบดอนท์ เป็นญาติห่างๆ ของพวกอีกัวโนดอน ไดโนเสาร์ปากนกขนาดเล็กเดินหากินพืชพุ่มเตี้ยในป่าลึก พวกมันมีขนาดตัวไม่ใหญ่ไปกว่าหมูบ้านในฟาร์มเลย ที่นิ้วโป้งของแซลม็อกเซสจะมีเล็บแหลมๆ อยู่ด้วย เดือยแหลมนี้ใช้ในการป้องกันตัว นอกจากนี้ ยังมีนกดึกดำบรรพ์ขนาดเล็กอย่างบาลาอูร์ (Balaur) คอยหาแมลงกินตามยอดหญ้าด้วย
(แซลม็อกเซส)
เมื่อเดินมาเรื่อยๆ คุณก็พบกับฝูงแม็กยาโรซอรัส (Magyarosaurus) ซอโรพอดขนาดเล็กกลุ่มไททันโนซอร์ แต่ว่า พวกมันไม่เหมือนไททันโนซอร์กลุ่มอื่นๆ ที่เจอในทวีปไกลๆ พวกมันตัวสูงและยาวไม่เกินวัวบ้าน กินหญ้าถอดปล้องเป็นอาหาร เนื่องจากความกันดารและไม่มีต้นไม้ใหญ่มากนัก จึงทำให้พวกมันอยู่ในพื้นที่อย่างจำกัดด้วย ฤดูนี้คือฤดูที่พวกลูกๆ แม็กยาโรซอรัสจะฟักออกจากไข่ ตัวเมียที่วางไข่เสร็จเดือนก่อนหน้านั้นจะมาเตรียมทำแปลงดินเพื่อวางไข่และเอาใบไม้กลบไว้แล้วจากไป ลูกๆ ของแม็กยาโรซอรัสที่เกิดใหม่จะมีขนาดตัวเล็ก และหากินตามราวป่า พวกมันในช่วงวัยนี้ต้องระวังตัวให้ดี เพราะนักล่าบนท้องฟ้ามีมากมายเหลือเกิน
(แม็กยาโรซอรัส)
(อัลบาดราโก้)
ถึงแม้บนเกาะจะไม่มีนักล่าบนพื้นดินมากนัก มีเงาของบางสิ่งร่อนเหนือหัวของคุณไปอย่างรวดเร็ว นักล่าขนาดใหญ่ร่อนลงมาและเริ่มมองหาเหยื่อบนพื้นดิน นี่คือ อัลบาดราโก้ (Albadraco) เป็นเทอโรซอร์หรือสัตว์เลื้อยคลานบินได้ขนาดใหญ่ พวกมันอยู่ในวงศ์แอซดาร์คิด (Azdarchidae) ลักษณะของเทอโรซอร์กลุ่มนี้มีรูปร่างรวมๆ คล้ายกันคือ ปีกกว้าง หัวโต คอยาว ปากแหลมยาวเป็นจะงอยที่ไม่มีฟันแต่มีแรงบดสูง สามารถเดินสี่ขาบนพื้นดินได้ และเมื่อโผทะยานขึ้นฟ้าจะต้องใช้พลังมาก แต่ก็มีศูนย์ถ่วงกระจายทั่วร่างกายทำให้เบาและมวลกระดูกเบา เวลาที่บินจึงสามารถยกตัวลอยสูงได้แม้จะตัวใหญ่มากก็ตาม
อัลบาดราโก้เริ่มคุ้ยไปตามกอไม้ ลูกๆ แม็กยาโรซอรัสซ่อนตัวหลบนิ่งอย่างในทันที จนกระทั่งมีตัวหนึ่งวิ่งหลุดไปจากพุ่มไม้ดึงความสนใจ อัลบาดราโก้กระโดดไล่ตามไปในทันทีด้วยความเร็ว แต่มันก็ยังช้าพอสมควร
(แฮทซีก็อปเทอริกซ์)
ทันใดนั้น เงาขนาดยักษ์ทอดตัวลงมาในทันที นั่นคือราชาแห่งท้องฟ้าของทวีปยุโรปยุคดึกดำบรรพ์ นี่คือ แฮทซีก็อปเทอริกซ์ (Hatzegopteryx) เทอโรซอร์จากวงศ์แอซดาร์คิด สายพันธุ์นี้สูงถึง 10 เมตร ปีกกว้างถึง 6 เมตร เป็นเทอโรซอร์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่เคยมีการค้นพบมา มันเมื่อยล้าจากการบินข้ามเกาะแก่งระยะไกลและหิวโหย จึงตัดสินใจลงมาและเริ่มร้องขู่ด้วยเสียงแหลมสูงไล่อัลบาดราโก้ที่ตัวเล็กกว่าไป อัลบาดราโก้จึงต้องล่าถอยด้วยขนาดตัวที่เล็กกว่า ทางสะดวกแล้ว! เจ้านักล่าตัวใหญ่ฉวยโอกาศงับลูกแม็กยาโรซอรัสอย่างรวดเร็วและกระดกเหยื่อลงคอในทันที บนเกาะแห่งนี้ที่มีไดโนเสาร์แคระมากมาย มันสามารถลงมาหากินได้เรื่อยๆ
ลูกๆ แม็กยาโรซอรัสที่เหลือวิ่งไป พวกมันเจอเงาของสัตว์ขนาดใหญ่จึงไปหลบข้างหลังโดยมีแฮทซีก็อปเทอริกซ์กระโดดตามมา เมื่อมาถึง เจ้าของเงาที่ให้ที่กำบังนั้นคือ สตรูทีโอซอรัส (Struthiosaurus) โนโดซอริดหรือไดโนเสาร์หุ้มเกราะขนาดใหญ่ บนหลังประกอบด้วยแผ่นกระดูกจำนวนมาก และมันเป็นโนโดซอริดที่คอยาวจนเมื่อมีการค้นพบฟอสซิลแรกๆ ทำให้เหล่านักวิจัยคิดว่ามันคือนกกระจอกเทศ สัตว์ชนิดนี้ยาวห้าเมตร จึงถือว่าใหญ่ที่สุดบนเกาะนี้ แฮทซีก็อปเทอริกซ์จิกหลังของสตรูทีโอซอรัสเพื่อไล่มันออกไป แต่เจ้าสัตว์กินพืชตัวยักษ์หันหลังกลับมาและวิ่งชนกระแทกแฮทซีก็อปเทอริกซ์ยักษ์จนล้มลงก่อนจะเดินหันหลังนี้ไป เมื่อถูกกระแทกและขูดจากแผ่นกระดูกเป็นหนามแหลม เจ้าแฮทซีก็อปเทอริกซ์กระดูกแขนเดาะด้วยความเจ็บปวด มันอาจจะบินไม่ได้อีกเลยและตายลงจากการอดอาหารในไม่ช้า ขณะนั้นเอง กลิ่นเลือดล่อฝูงจระเข้บกอย่างอัลโลดาโปซูคัส (Allodaposuchus) เข้ามา ฝูงจระเข้บกเริ่มลงมือกัดรุมทึ้งนักล่าตัวยักษ์ในทันทีและกดร่างของมันลง จนเจ้านักล่าร้องด้วยความเจ็บปวดแล้วแน่นิ่งไป หลังจากนั้นไม่นานเหล่าจระเข้บกก็เริ่มรุมกินและฉีกเนื้อออกมา นี่ก็คือวัฏจักรธรรมชาติ เมื่อคุณพลาดท่า คุณก็จะกลายเป็นอาหารจานด่วนบนมื้ออาหารของคนอื่นไปในที่สุด
(สตรูทีโอซอรัส)
(อัลโลดาโปซูคัส)
เกาะแห่งนี้จะอยู่ต่อไปอีกเล็กน้อย บวกกับที่ภูเขาไฟบนเกาะปะทุและการสูญพันธุ์จากมหาภัยพิบัติที่อุกกาบาตถล่มลงทำลายทุกชีวิตบนโลกจนสูญสิ้น ตำนานของสัตว์ยักษ์คล้ายมังกรทั้งหลายเหล่านี้จึงหายสาบสูญไปตามกาลเวลานั่นเอง
ตอนต่อไป เดินทางมาถึงช่วงสุดท้ายที่เหล่าไดโนเสาร์จะต้องสูญพันธุ์ เชิญพบกับ ไทแรนโนซอรัสเร็กซ์ และ มาลุ้นกันว่า ในช่วงเวลาสุดท้ายของยุคครีเตเชียสที่เป็นจุดสิ้นสุดของไดโนเสาร์ จะนำไปสู่ใบเบิกทางให้สัตว์กลุ่มใหม่ขึ้นมาบนโลกใบนี้ จะมีอะไรรอเราอยู่กัน โปรดติดตามใน ท่องโลกดึกดำบรรพ์!
https://www.smithsonianmag.com/science-nature/the-dwarf-dinosaurs-of-hateg-island-70517504/
https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S0031018210000386
pb-eu-w2.wpmucdn.com/blogs.bristol.ac.uk/dist/5/537/files/2019/07/2010Hateg-Dwarfing.pdf