โรค'คิดว่าตัวเองไม่เก่ง' โรคที่มักเกิดกับคนประสบความสำเร็จ
เคยไหมที่ประสบความสำเร็จในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่แทนที่จะรู้สึกภูมิใจ กลับมีความคิดแว่บขึ้นมาในหัวว่า สิ่งที่เราทำออกมานั้นเป็นเพราะโชคช่วย หรือ เรื่องนี้ใครๆก็ทำได้ แม้คนอื่นจะมองว่าคุณเก่งมากแค่ไหนคุณก็ยังคิดว่าตัวเองไม่เก่งอยู่ดี งานวิจัยหนึ่งพบว่ากว่า 70% ของผู้คนเคยเผชิญความรู้สึกแบบนี้ในช่วงหนึ่งของชีวิต เรียกว่าอาการ โรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง (Imposter syndrome)
โรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง(Impostor Syndrome) คืออะไร?
Imposter Syndrome หรืออีกคำเรียกหนึ่งว่า impostor phenomenon ถูกบัญญัติขึ้นในปี 1978 โดย Pauline Rose Clance และ Suzanne Imes นักจิตวิทยา ได้วิจัยว่าเป็นอาการทางจิตชนิดหนึ่ง ซึ่งให้คำจำกัดความว่าเป็นความรู้สึกภายในว่าเราไม่ใช่คนรู้จริง เก่งจริง (An internal experience of intellectual phoniness) แต่ที่สำเร็จได้กลับเป็นเพราะโชคช่วยมากกว่า มักจะมีความรู้สึกที่คิดว่าตัวเองไม่เก่งพอ ไม่เหมาะสมกับความสำเร็จที่ได้มา และกลัวคนอื่นจะมองว่าเราไม่มีความสามารถมากพอ
อาการ Impostor Syndrome นี้เกิดขึ้นได้กับทุกคนตั้งแต่ CEO ของบริษัทหรือเด็กจบใหม่ที่เพิ่งจะเริ่มต้นชีวิตการทำงาน ในงานวิจัยหนึ่งเปิดเผยว่ากว่า 82% ของคนทำงานรู้สึกว่าตัวเองไม่คู่ควรกับคำชมที่ได้รับการยกย่องจากผู้อื่น ซึ่งส่งผลเสียอย่างร้ายแรงต่อทั้งชีวิตส่วนตัวและอาชีพการงาน เช่น
1) การพลาดโอกาส: ความกลัวว่าจะถูก “จับได้” ว่าไม่เก่งจริง อาจนำไปสู่การหลีกเลี่ยงโอกาสในการเลื่อนตำแหน่ง หรือการรับมอบหมายโครงการใหม่ๆ และแม้แต่โอกาสในการพูดในที่สาธารณะ
2) การทำลายอนาคตตนเอง: การผลัดวันประกันพรุ่งและความสมบูรณ์แบบ สามารถขัดขวางไม่ให้ทำงานให้สำเร็จหรือแม้แต่เริ่มทำงานที่สามารถทำได้
3) อาการ Burnout: เพราะต้องทำงานหนักอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากกลัวว่าคนอื่นจะหาว่าไม่เก่ง อาจนำไปสู่ความเหนื่อยล้าและประสิทธิภาพการทำงานลดลง รวมถึงกระทบในด้านอื่นๆ ของชีวิต
4) ผลกระทบต่อสุขภาพจิต (Mental Health): กลุ่มอาการ Imposter Syndrome มักเกี่ยวข้องกับความวิตกกังวล ความเครียด และแม้แต่ภาวะซึมเศร้าที่เพิ่มมากขึ้น
วิธีรับมือกับโรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง
- พูดคุยกับเพื่อนหรือคนที่ไว้ใจ เพื่อแบ่งปันความรู้สึกของตัวเอง อย่าเก็บทุกอย่างไว้คนเดียว จะยิ่งทำให้เครียดและวิตกกว่าเดิม
- ไม่เปรียบเทียบตัวเองกับใคร ความเก่งของทุกคนไม่เหมือนกัน เอามาเทียบกันไม่ได้
- จดบันทึกความสำเร็จของตนเอง มองเห็นคุณค่าในงานที่ทำ ชื่นชมผลงานของตัวเองให้มากขึ้น อย่ากดดันตัวเองมากเกินไป
- ยอมรับคำติชมจากผู้อื่น และมีความสุขกับความสำเร็จของตัวอง ลองมองทุกอย่างในแง่ดี อย่าคิดว่าที่คนอื่นชมก็เพราะเป็นมารยาท
- อย่าปิดโอกาสตัวเอง เปิดรับสิ่งใหม่ๆ เข้ามาบ้าง อย่าทำแต่งานเดิมๆ ซ้ำไปซ้ำมา ลองเปิดใจทำงานที่ไม่เคยทำ ไม่ปฏิเสธโอกาสใหม่ๆที่เข้ามา
- ยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น และพร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้า
ผู้มีแนวโน้มสูงที่จะมีอาการ Impostor Syndrome ล้วนเป็นผู้ที่มักพึ่งพาตนเองเป็นหลัก และยังกดดันตนเองมากเกินไปอีกด้วย ถ้ารู้ว่าตัวเองเป็นโรคนี้ ก็พยายามปรับตัว ลองยื่นมือขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นบ้างเป็นครั้งคราว ปล่อยวางแล้วพร้อมที่จะเริ่มใหม่