รัชกาลที่ 5 กับภาพเหมือนแบบฝรั่ง
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ทรงประทับเป็นแบบ ให้นายเซซาเร แฟร์โร เขียนภาพพระบรมสาทิสลักษณ์
โดยมี หลวงสรลักษณ์ลิขิต (มุ่ย จันทรลักษณ์) ตำแหน่ง ณ ขณะนั้นของพระสรลักษณ์ลิขิต ตั้งเฟรมผ้าใบเขียนภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ ถัดจากนายแฟร์โร บริเวณเฉลียงด้านหน้าพระที่นั่งอภิเษกดุสิต ในพระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๔๙ โดยมี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทองแถมถวัลยวงศ์ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ และเจ้านายเล็กๆทอดพระเนตรอยู่ใกล้ด้วยความสนใจ บริเวณบันไดทางขึ้นด้านหน้าพระที่นั่ง
มีข้อสังเกตว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฉลองพระองค์โจงกระเบนและเสื้อกระดุม ๕ เม็ด และทรงปลอกแขนทุกข์ที่พระพาหุ (ต้นแขน) ด้านซ้าย รวมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ด้วย แสดงว่ากำลังทรงไว้ทุกข์ในพระราชสำนัก
เซซาเร แฟร์โร (พ.ศ. ๒๔๒๓ - ๒๔๗๘) จิตรกรจากเมืองตูริน ประเทศอิตาลี สันนิษฐานว่ารับสัญญาจ้างจากทางราชสำนักสยาม ราวพุทธศักราช ๒๔๔๗ ให้เข้ามาเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง ในเทคนิคปูนแห้ง ประดับฝาผนัง ภายในพระที่นั่งอัมพรสถาน โดย การเชื้อเชิญของสถาปนิกจากชาติเดียวกัน ที่รับสัญญาจ้างเข้ามาทำงานกับทางราชสำนักในช่วงก่อนหน้าอย่าง อันนิบาเล ริกอตติ และ คาร์โล อัลเลกรี
นอกจากผลงานเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังที่พระที่นั่งอัมพรสถาน ในสมัยรัชกาลที่ ๕ แฟร์โร ยังได้พำนักอยู่ในสยามต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๖ และมีส่วนร่วมในการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังประดับภายในพระที่นั่งอนันตสมาคม กับจิตรกรมีชื่อชาวอิตาลี ที่เดินทางเข้ามายังสยามในระลอกถัดมาอย่าง กาลิเลโอ คีนี คาร์โล ริโกลี และอัลฟอนโซ ทอร์นาเรลลี
นอกจากนี้ แฟร์โรยังได้รับมอบหมายให้เป็นผู้เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังตกแต่งภายในบ้านนรสิงห์ (ตึกไทยคู่ฟ้า)
พระสรลักษณ์ลิขิต (มุ่ย จันทรลักษณ์) เป็นจิตรกรภาพเหมือนบุคคล (portrait) ชาวไทยคนแรกผลงานสำคัญของพระสรลักษณ์ลิขิตเป็นผลงานที่สร้างถวายงานพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มหาราช เช่น พระบรมสาทิศลักษณ์จำนวนมากของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบรมราชวงศ์ พระบรมสาทิศลักษณ์แรกของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งเป็นต้นแบบของพระบรมสาทิศลักษณ์ของพระองค์ในยุคต่อ ๆ มา นอกจากนี้ท่านยังร่วมกับศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีก่อตั้งโรงเรียนวิจิตรศิลป์ (มหาวิทยาลัยศิลปากร ในปัจจุบัน) โดยท่านสอนวิชาจิตรกรรม
เดิมทีท่านศึกษาด้านจิตรกรรมจากโรงเรียนศิลปะในวังจนมีฝีมือที่ดี ต่อมาท่านได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวร่วมการเสด็จประพาสยุโรปพร้อมพระองค์ ซึ่งเป็นโอกาสที่ทำให้ท่านได้มีโอกาสศึกษาศิลปะการวาดภาพบุคคลแบบตะวันตก
อ้างอิงจาก: กรมศิลปากร, เรารักบรรพบุรุษไทย