Special Paleo News: เทียแมต มังกรในตำนานถูกค้นพบแล้ว!
มังกร สัตว์ในตำนานที่มีลักษณะคอยาว พ่นไฟได้ มีปีกและเดินสี่ขา คงเป็นภาพจำมาอย่างยาวนาน หากมองลักษณะของไดโนเสาร์แล้ว บางตัวก็มีความคล้ายมังกรไม่มากก็น้อย แต่ถึงจะมีวิทยาศาตร์ก้าวหน้าไปมากแล้ว ก็ยังมีการตั้งชื่อไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ๆ อยู่มากมายตามเหล่ามังกรในตำนาน
เทียแมต วัลเดซิอิ (Tiamat valdecii) เป็นไดโนเสาร์ซอโรพอดกลุ่มไททันโนซอร์ ซึ่งถูกค้นพบในประเทศบราซิลครั้งแรกในปี 2018 มันมีอายุอยู่ในช่วง 115-93 ล้านปีที่แล้ว ช่วงต้นยุคครีเตเชียส โดยมีการค้นพบกระดูกสันหลังส่วนชิ้นหลังยาวต่อไปถึงส่วนหาง และยังค้นพบแผ่นผิวหนังหนา (Osteoderm) ที่เป็นปุ่มแข็ง โดยผู้นำวิจัย ดร. วัลเดซิ โดส ซานโตส จูนิโอ้ (Dr. Valdeci dos Santos Júnio) ได้ทำการศึกษาและศึกษาสายวิวัฒนาการ จึงเดาได้ว่ามันเป็นไททันโนซอร์กลุ่มแรกเริ่มที่น่าจะเพิ่งวิวัฒนาการขึ้นมา ส่วนชื่อเทียแมต เอามาจากมังกรในตำนานสุเมเรียนโบราณที่เป็นมารดาของเหล่าอสูรกายทั้งหลาย
โดยอเมริกาใต้ในยุคครีเตเชียสตอนต้นมีความหลากหลายของระบบนิเวศอยู่พอสมควร จากสรีระวิทยาที่สามารถเดาได้จากญาติในสายวิวัฒนาการชนิดอื่นๆ เทียแมตเองก็อาจจะมีลักษณะคอยาว สูงได้สัก 15 เมตร หนัก 7 ตัน มีเล็บเท้าแหลมยื่นออกมาเป็นลักษณะเด่นของซอโรพอดกลุ่มนี้ และยังมีผิวหยาบแข็งเป็นตุ่มหนาใช้ป้องกันตัวจากนักล่าที่เป็นสัตว์กินเนื้อ พวกมันอาจจะกินพืชที่อยู่สูงได้ด้วยคอที่ตั้งจากพื้นทำมุม 60 องศา และท่องไปท่ามกลางป่าและทุ่งหญ้าของบราซิลในยุคนั้น นอกจากนั้น ยังมีทั้งสไปโนซอริด อเบลิซอริดแขนสั้น และเหล่าเทอโรซอร์อีกนับหลายสายพันธุ์ อันเป็นระบบนิเวศที่หลากหลายโดยแท้ การมีร่างกายติดอาวุธและเพื่อป้องกันตัวนั้นสำคัญมาก แต่ลำพังเองด้วยขนาดตัว ก็เพียงพอแล้วที่จะขับไล่นักล่าได้ง่ายๆ
ถึงแม้มังกรจะไม่มีจริง แต่การค้นพบซอโรพอดชนิดนี้ทำให้เราเข้าใจถึงความหลากหลายและรูปแบบการค้นพบสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่ปรากฏขึ้นทุกปี ช่วยให้เราเข้าใจถึงความลึกลับของสัตว์ดึกดำบรรพ์เหล่านี้ ไม่แน่ว่า อาจจะมีซอโรพอดและไดโนเสาร์ชนิดใหม่ๆ รอการขุดค้นพบที่ไหนอีกสักที่อย่างแน่นอน