เอเลี่ยนสปีชีส์ ใช่จะมีแต่เรื่องไม่ดี
จากการที่มีรายงานไปเมื่อก่อนหน้านี้เรื่องเจ้าของบ่อปลาแห่งหนึ่ง ถึงกับอึ้งเมื่อสูบน้ำออกจากบ่อ แต่กลับเจอแต่ปลาซัคเกอร์เป็นตันๆ ซึ่งถือเป็นสัตว์ที่อันตรายต่อระบบนิเวศปลาอย่างมาก จึงต้องตัดสินใจจับขึ้นมาทิ้งบนบกทั้งหมดเพื่อให้มันตายไปเองนั้น ซึ่งถือว่าปลาซัคเกอร์นั้นเป็นเอเลี่ยนสปีชีส์ชนิดหนึ่ง เอเลี่ยนสปีชีส์ (Alien Species) คือสิ่งมีชีวิจต่างถิ่นที่ไม่ได้มีต้นกำเนิดจากพื้นที่นั้นๆ หรือสิ่งแวดล้อมนั้นๆ แต่ถูกนำเข้ามา จนเกิดการแพร่กระจายพันธุ์ และสร้างผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศเดิม งั้นเรามาดูกันครับว่าในประเทศไทยของเรานั้นมีเอเลี่ยนสปีชีส์อะไรอีกบ้าง เริ่มต้นที่
1. ปลาทอง ซึ่งถือเป็นสัตว์น้ำต่างถิ่นที่ไม่รุกรานสัตว์หรือสิ่งแวดล้อมอื่น ปลาชนิดนี้เริ่มต้นนำเข้ามาจากจีนและญี่ปุ่นในรูปแบบของเครื่องบรรณการ เป็นของขวัญ หรือของกำนัล
2. ปลานิล ซึ่งเป็นสัตว์น้ำชนิดต่างถิ่นชนิดไม่รุกรานสัตว์อื่นในระบบนิเวศเดิม ซึ่งปลานิลนี้มีถิ่นกำเนิดอยู่ลุ่มแม่น้ำไนล์ แต่เมื่อครั้นสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโต ทรงดำรงพระอิสริยยศมกุฏราชกุมารแห่งประเทศญี่ปุ่น ได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อนถวายแด่พระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2508 ปลานิลจึงได้เข้ามายังประเทศไทยครั้งแรกและเป็นแหล่งโปรตีนราคาถูกสำหรับคนไทยตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
3. ผักตยชวา ที่ถือเป็นพืชต่างถิ่นชนิดรุกราน ที่ถูกนำเข้ามาจากประเทศอินโดนีเซีย ในฐานะพืชประดับเพื่อความสวยงามต่อมาได้มีคนเอาไปทิ้งลงแม่น้ำลำคลองจนแพร่กระจายไปทั่วจนเกิดความเสียหายในที่สุด
4. ปลาซัคเกอร์ ซึ่งเป็นสัตว์ต่างถิ่นชนิดรุกรานระบบนิเวศ ที่ถูกนำเข้ามาในฐานะสัตว์ทำความสะอาดตู้ ทำให้กลายเป็นไอเท็มยอดฮิตที่สาวกคนเลี้ยงปลาต้องมี
5. ปลาดุก ปลาสุดฮิตที่คนไทยหลายคนนิยมปล่อยลงแม่น้ำ เพื่อเป็นการทำบุญมากที่สุด แต่ที่จริงแล้วปลาชนิดนี้ถือเป็นปลาต่างถิ่นชนิดรุกรานระบบนิเวศ เพราะปลาดุกมีความทนทาน แถมกินไม่เลือก หากปล่อยลงแหล่งน้ำ จึงมักยึดครองพื้นที่จนทำให้สัตว์สายพันธุ์ท้องถิ่นต้องสูญพันธุ์ นอกจากนี้ปลาดุกยังเป็นพาหะของปรสิตหรือพยาธิได้อีก เช่น โรคหนอนสมอ และราปุยฝ้าย ดังนั้นแล้วจึงไม่แนะนำให้นำเข้าหรือปล่อยปลานี้ลงแหล่งน้ำจะดีที่สุด แม้เนื้อปลาดุกนั้นจะแสนอร่อย ไม่ว่าจะเป็นปลาดุกย่างหรือปลาดุกฟูก็ตาม