Special Paleonews: วาสุกรี อินดีคัส งูยักษ์ พญานาค?
งูยักษ์ พญานาค เป็นตำนานของสัตว์ลึกลับที่มีการค้นพบ บอกเล่ากันมาอย่างยาวนาน เล่าถึงเรื่องราวของงูขนาดใหญ่ที่มีพละกำลังและอำนาจเหนือธรรมชาติ แต่เดี๋ยวก่อน ผมไม่ได้จะมาเล่านิทานให้ทุกท่านฟังหรอกนะ.... ผมจะมาเล่าถึงการค้นพบล่าสุดที่อาจจะทำให้คุณขนพองสยองเกล้าเลยก็เป็นได้
ในปี 2003 มีการค้นพบฟอสซิลชิ้นกระดูกสันหลังของงูขนาดใหญ่ในเหมืองแห่งหนึ่งที่รัฐคุชราท (Gujarat State) ประเทศอินเดีย ซึ่งจากการวิจัยวัดสารคาร์บอนไอโซโทปก็พบว่ามันมีอายุถึง 47 ล้านปีที่แล้ว หลังจากไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไปได้ 19 ล้านปี กระดูกนี้ถูกตั้งชื่อด้วยรหัส IITR/VPL/SB 3102-1-21 แต่ก็ไม่ได้ศึกษาเพิ่มเติมมากนัก ทำให้มันถูกเก็บเข้ากรุและไม่ได้ถูกสืบหาญาติในสายวิวัฒนาการจนจำแนกเป็นชนิดใหม่ จนล่วงเลยมาในปี 2024 ก็ได้มีการศึกษาเพิ่มเติมอีกครั้ง
นักวิทยาศาตร์ของสถาบันวิจัยเทคโนโลยีรุครีย์ (Indian Institute of Technology Rookree) คาดคะเนจากเส้นรอบวงของกระดูกสันหลังแล้วด้วยการคำนวนทางคณิตศาตร์ งูชนิดนี้อาจจะยาวถึง 10.5-15 เมตรได้เลย พวกเขาตั้งชื่อมันตามพญานาคตนหนึ่งจากตำนานฮินดู หรือพญาวาสุกรีผู้ร้อยเป็นสร้อยบนพระศอ (ลำคอ) ของพระศิวะ มหาเทพในศาสนาฮินดู กลายเป็น วาสุกรี อินดีคัส (Vasuki Indicus) เนื่องจากขนาดอันใหญ่โตน่าพรั่นพรึงของมันนั่นเอง
วาสุกรี อินดีคัส เป็นงูโบราณในวงศ์แมทโซเอียเด (Madtsoiidae) หรืองูใหญ่จากทวีปซีกโลกใต้ โดยคาดว่ามีบรรพบุรุษที่อาศัยในทวีปกอนด์วาน่าที่ครอบคลุมอเมริกาใต้ แอฟริกา อินเดีย ออสเตรเลีย และแอนอาร์ติกาในปัจจุบัน ก่อนจะแยกทวีปและวิวัฒนาการแยกกันในแบบของตนเอง โดยงูเหล่านี้มีการปรากฏในหลักฐานฟอสซิลมาตั้งแต่ปลายยุคครีเตเชียสล่วงมาจนถึงปัจจุบัน (66 ล้านปีที่แล้ว-ปัจจุบัน) พวกมันมีลักษณะคล้ายงูโบอา ที่เป็นงูกลุ่มไม่มีพิษที่ใช้การรัดเหยื่อแบบเดียวกับงูเหลือม วาสุกรีมีกระดูกที่เบากว่ามากจึงคาดว่ามันสามารถยกหัวจากพื้นชูคอได้แบบงูเหลือมในปัจจุบันซึ่งงูกลุ่มแมทโซเอียเดน้อยชนิดจะทำได้ และด้วยขนาดตัวที่ใหญ่มากจึงแซงเจ้าของสถิติเก่าอย่างงูไททันโอโบอา (Titanoboa) ที่ยาวถึง 13 เมตรซึ่งค้นพบก่อนหน้าในอเมริกาใต้
ศาตราจารย์ ซุนนิล ปาจไพร (Prof. Sunil Bajpai) ได้ตั้งสมมุติฐานว่า โลกในช่วง 47 ล้านปีมีอุณหภูมิร้อนและชื้น มีแสงอาทิตย์ส่องถึงตลอดเวลา แม้จะไม่ร้อนเท่ากับยุคปัจจุบัน แต่ก็ถือว่าเพียงพอให้สัตว์กลุ่มงูใช้ประโยชน์จากพลังงานแสงอาทิตย์และความอบอุ่นในการเจริญเติบโตได้ โดยเมื่อยิ่งมีอุณหภูมิสูงและอบอุ่น งูก็จะเติบโตจากการถูกกระตุ้นการย่อยอาหารดึงเอาสารอาหารมาใช้ได้มากขึ้น และในยุคนั้นอินเดียเองก็ร้อนชื้น ทั้งยังเป็นช่วงยุคที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กและขนาดใหญ่วิวัฒนาการกันมากมายจนน่าตกใจ จึงเป็นแหล่งอาหารดีๆ สำหรับงูชนิดนี้ แต่ก็เป็นข้อเสีย การมีร่างกายอันใหญ่โตหากไม่สามารถหาแหล่งพลังงานความร้อนที่มากพอมาหล่อเลี้ยงร่างกายได้ งูยักษ์ก็อาจจะป่วยถึงตายได้จากการทำงานผิดปกติในร่างกาย ซึ่งหลังจากนั้นโลกก็เริ่มแห้งแล้งและสร้างความผันพวนทางสภาพอากาศทำให้อุณภูมิเย็นลง วาสุกรี อินดิคัสที่วิวัฒนาการปรับตัวไม่ทันก็ต้องสูญพันธุ์ไป
ถึงแม้จะเป็นเพียงซากฟอสซิลไปแล้ว การค้นพบสัตว์ชนิดนี้ก็ช่วยให้นักวิทยาศาตร์เข้าใจระบบสภาพวนิเวศวิทยาในยุคนั้นมากขึ้น และยังทำความเข้าใจได้แล้วว่าสภาพแวดล้อมอาจจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรเช่นกัน ถึงแม้งูยักษ์จะมีจริง แต่มันก็เป็นเพียงสัตว์ธรรมดาผู้วิวัฒนาการมาบนระบบของธรรมชาติก็เพียงเท่านั้นเอง