พบปลาหายากในรอบ 20 ปี โผล่แม่น้ำโขง
20 ก.พ. 2567 ระดับน้ำในแม่น้ำโขง บริเวณจุดวัดระดับน้ำบ้านพันลำ ม.2 ต.วิศิษฐ์ อ.เมืองบึงกาฬ จ.บึงกาฬ วันนี้วัดได้ 1.87 เมตร ต่ำกว่าตลิ่ง 12.03 เมตร ระดับน้ำที่ลดลงยังทำให้ เกิดสันดอนทราย กลางแม่น้ำโขงหลายจุด น้ำนิ่งไหลช้า จนเกิดตะไคร่หรือสาหร่ายบริเวณรอบๆเกาะแก่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นอยู่บริเวณกลางแม่น้ำโขง
ชาวประมงพื้นบ้านฝั่ง สปป.ลาว ออกเรือไหลมองจับปลา และใส่ลอบดักปลารอบๆเกาะดอนดังกล่าว จนสามารถจับปลาหว้าหน้านอ ปลาที่นับได้ว่าพบเจอและหายากมากในรอบกว่า 20 ปี ได้มา 1 ตัว นำมาผูกไว้กับเรือบนเกาะดอนไข่ ชาวประมงพื้นบ้านชาวไทย หลังรู้ข่าวได้ไปดูพบว่าเป็นปลาหว้าหน้านอ จริง น้ำหนักราว 3 กิโลกรัม เป็นปลาที่หายากและใกล้ที่จะสูญพันธุ์แล้ว ซึ่งพยายามขอซื้อแต่ชาว สปป.ลาว ไม่ขาย
ปลาหว้าหน้านอ เป็นปลาน้ำจืด ที่อยู่ในวงศ์ปลาตะเพียน (Cyprinidae) มีลักษณะเด่นคือ ปลาโตเต็มวัยแล้ว โดยเฉพาะตัวผู้ ส่วนหัวจะมีโหนกและตุ่มเม็ดคล้ายสิวเห็นได้ชัด และเป็นที่มาของชื่อปลาชนิดนี้ ปลาหว้าหน้านอมีลักษณะเด่นดังนี้
- ปลาโตเต็มวัยแล้ว
- ตัวผู้มีโหนกและตุ่มเม็ดคล้ายสิวเห็นได้ชัด
- โคนหางมีจุดสีดำเห็นได้ชัด และเมื่อโตขึ้นจะจางหาย
- ริมฝีปากหนา หากินบริเวณพื้นน้ำและแก่งหินที่น้ำไหลเชี่ยว โดยแทะเล็มตะไคร่หรือสาหร่าย
- บริเวณที่ปลาหากินจะเห็นเป็นรอยทางยาว
- โตเต็มที่ได้กว่า 60 เซนติเมตร
- อาศัยอยู่ตามแม่น้ำสายใหญ่ ๆ ในประเทศ เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา, แม่น้ำโขง, แม่น้ำสาละวิน ในเขต จังหวัดกาญจนบุรี
ปัจจุบัน พบหาได้ยากในธรรมชาติ แต่สามารถเพาะขยายพันธุ์ได้แล้ว เนื้อมีรสชาติอร่อย นิยมปรุงสด และเลี้ยงเป็น ปลาสวยงาม ซึ่งค่อนข้างหายาก