เลี้ยงปลาดุกบ่อปูน โตเร็วทุนต่ำสร้างกำไรสูง
ปลาดุก จัดเป็นปลาน้ำยอดนิยม สามารถนำมาทำเป็นเมนูได้หลากหลาย รวมถึงยังเป็นที่ต้องการของตลาดจำนวนมาก และราคาสูงสร้างรายได้หลักหมื่นจนถึงหลักแสนต่อเดือนกันเลยทีเดียว เรานำวิธีเลี้ยงปลาดุกในบ่อปูนซีเมนต์ มาแนะนำซึ่งเป็นวิธีเลี้ยงที่ใช้ต้นทุนต่ำแต่กลับให้ผลตอบแทนสูง
ปลาดุก เป็นสกุลของปลาหนังน้ำจืดในสกุล Clarias (/คลา-เรียส/) ในวงศ์ Clariidae โดยคำว่า Clarias มาจากภาษากรีกคำว่า chlaros หมายถึง "มีชีวิต" มีความหมายถึง การที่ปลาสกุลนี้สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้บนบกหรือสภาพที่ขาดน้ำ มีการแพร่กระจายพันธุ์ในน้ำจืดและน้ำกร่อยตามแหล่งน้ำของทวีปเอเชียและแอฟริกา เป็นปลาไม่มีเกล็ด ลำตัวยาว มีหัวที่แบนและแข็ง มีหนวดยาวแปดนิ้ว มีครีบหลังและครีบก้นยาวเกินครึ่งของความยาวลำตัว จุดเริ่มต้นของครีบหลังอยู่ล้ำหน้าจุดเริ่มต้นของครีบท้อง ครีบหลังไม่มีเงี่ยงแข็ง ไม่มีครีบไขมัน ครีบหางมนกลม ครีบทั้งหมดเป็นอิสระจากกัน สามารถหายใจและครีบคลานบนบกได้เมื่อถึงฤดูแล้ง เป็นปลาวางไข่ เป็นปลากินเนื้อโดยเฉพาะเมื่อตัวโตเต็มที่ชอบกินปลาอื่นที่ตัวเล็กกว่าเป็นอาหาร รวมถึงกินซากพืชและซากสัตว์อีกด้วย เป็นปลาที่รู้จักกันดีในแง่ของการเป็นปลาเศรษฐกิจ ที่นิยมบริโภคกันโดยเฉพาะในทวีปเอเชีย
ปลาดุกชนิดพันธุ์ท้องถิ่นเดิมของไทยมีด้วยกันทั้งหมด 5 ชนิด ได้แก่ ปลาดุกอุย ปลาดุกด้าน ปลาดุกดัก ปลาดุกมอด และปลาดุกลำพัน แต่ในปัจจุบันสามารถพบเห็นและเพาะเลี้ยงขายได้ เหลือเพียงแค่ 2 ชนิดเท่านั้น คือ ปลาดุกด้าน และปลาดุกอุย
ปลาดุกอุย หรือปลาดุกนา (Broadhead catfish) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Clarias macroceohalus เป็นปลาดุกท้องถิ่นเดิม ปัจจุบันเป็นปลาที่หายากในธรรมชาติ เนื่องจากถูกแทนที่ด้วยปลาดุกชนิดพันธุ์ต่างถิ่น ปลาดุกอุยมีลักษณะสีของลำตัวค่อนข้างเหลือง มีจุดประตามด้านข้างของลำตัว 9-10 แถบ เมื่อโตเต็มวัยจุดประตามตัวจะหายไป ส่วนท้องมีสีขาวถึงเหลือง หัวค่อนข้างทู่ ส่วนที่สามารถสังเกตได้ชัดเจน คือส่วนกะโหลกท้ายทอยจะป้านและโค้งมนมาก
ปลาดุกด้าน (Walking catfish) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Clarias batrachus สีของลำตัวค่อนข้างคล้ำเล็กน้อย ส่วนหัวค่อนข้างแหลม รูปร่างเรียวยาว ส่วนหางแบน และส่วนปลายของกระดูกบริเวณท้ายทอยมีลักษณะแหลมยาว ซึ่งต่างจากปลาดุกอุยที่จะมีลักษณะโค้งมน และปลาดุกด้านสามารถเคลื่อนที่บนบกเป็นระยะทางสั้น ๆ ได้
ปลาดุกบิ๊กอุย ถือเป็น Invasive alien specie หรือชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน เป็นปลาดุกลูกผสมที่เกิดจากปลาดุกยักษ์จากทวีปแอฟริกากับปลาดุกอุย ซึ่งมีลักษณะภายนอกคล้ายปลาดุกอุย แต่มีขนาดใหญ่ มีกะโหลกท้ายทอยจะแหลมเป็นหยัก มีการเจริญเติบโตเร็ว เป็นหมัน กินได้ทุกอย่างที่ขวางหน้าทั้งพืชและสัตว์ และเบียดเบียนแย่งชิงทรัพยากรสัตว์น้ำท้องถิ่นจนหมดไป!
ดังนั้น ก่อนที่เราจะเลือกปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ ‘เราควรศึกษาชนิดพันธุ์ที่จะปล่อย ความเหมาะของสถานที่ รวมถึงตระหนักถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมด้วย
การเลี้ยงปลาดุกในบ่อซีเมนต์กลมแบบง่ายๆ
การเลี้ยงปลาดุกในบ่อซีเมนต์กลมแบบง่ายๆ
การเลี้ยงปลาดุกในท่อปูนซีเมนต์เป็นวิธีการเลี้ยงปลาอีกวิธีหนึ่งที่ สามารถเลี้ยงกันได้ง่าย สำหรับสถานที่ก็ใช้พื้นที่ไม่เยอะ และสามารถเคลื่อน ย้ายท่อปูนซีเมนต์ได้ง่ายด้วย ค่าลงทุนในการการเลี้ยงก็ไม่มากสามารถนำไป ประกอบเป็นอาชีพเสริมได้และผลตอบแทนก็เป็นที่น่าภูมิใจ จากการลงพื้นที่ของ เจ้าหน้าที่ร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด จ.สงขลา ได้พบกับคุณชา ลี สุวรรณชาตรี อยู่บ้านเลขที่ 319 ม.18 ต.ท่าช้าง อ.บางกล่ำ จ. สงขลา เกษตรกรผู้ที่เลี้ยงปลาดุกในท่อปูนซีเมนต์ ได้บอกถึงวิธีการเลี้ยงปลา ดุกด้วยระบบชีวภาพซึ่งมีขั้นตอนการเลี้ยงดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 การเตรียมอุปกรณ์
1.ท่อปูนซีเมนต์ขนาด 100*50 เซนติเมตร
2.ท่อพีวีซี ขนาด 1 นิ้ว ยาว 20 เซนติเมตร จำนวน 1 เส้น และยาว 40 เซนติเมตร จำนวน 1 เส้น
3.ข้องอพีวีซีขนาด 1 นิ้ว จำนวน 1 อัน
4.ยางนอกรถสิบล้อจำนวน 1 เส้น
5.ยางนอกรถจักรยานยนต์จำนวน 1 เส้น
6.ตาข่าย
7.น้ำหมักสูตรเลี้ยงปลา
8.ปูน ทราย หิน
9.อาหารสำหรับเลี้ยงปลาดุก
10.พืชผักที่ปลากิน เช่น ผักบุ้ง ผักตบชวา ฯลฯ
11.ลูกปลาดุก 70-80 ตัว
ขั้นตอนที่ 2 การเตรียมบ่อปูนซีเมนต์สำหรับเลี้ยงปลาดุก
1.จะต้องทำการฆ่ากรดฆ่าด่างในบ่อปูน โดยให้นำหัวกล้วยหรือโคนกล้วยมาสับให้เป็นชิ้นเล็กๆ นำมูลวัวมาผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วนำใส่ไปในบ่อใส่น้ำให้เต็ม แล้วหมักไว้ 5 วัน จากนั้นให้เปิดน้ำทิ้งแล้วเอาโคนกล้วยออกทิ้งด้วย
2.นำน้ำสะอาดใส่ไปในบ่อแล้วแช่ทิ้งไว้ 1 วัน หลังจากนั้นก็ให้เปิดน้ำทิ้ง
3.นำผักบุ้งมาถูให้ทั่วบ่อ ทิ้งไว้ตากบ่อให้แห้ง
ขั้นตอนที่ 3 การทำน้ำหมักสูตรเลี้ยงปลา
1.ถังพลาสติกที่มีฝาปิดจำนวน 1 ถัง
2.น้ำตาลทรายแดง 3 กิโลกรัม
3.ฟักทองแก่ 3 กิโลกรัม
4.มะละกอสุก 3 กิโลกรัม
5.กล้วยน้ำหว้าสุก 3 กิโลกรัม
วิธีทำ
หั่นมะละกอ, กล้วยน้ำหว้า, ฟักทองทั้งเปลือกและเมล็ดใส่ไว้ในภาชนะที่มีฝาปิด ผสมน้ำตาลทรายแดง แล้วคนให้เข้ากันและปิดฝาให้แน่นหมักทิ้งไว้ 7 วัน แล้วเติมน้ำสะอาด 9 ลิตร ปิดฝาให้แน่นแล้วหมักต่ออีก 15 วัน
ประโยชน์
-เป็นฮอร์โมนพืช เร่งดอก เร่งผล รสชาติหวานอร่อย
-ปลาไม่เป็นโรค
-ปลาไม่มีกลิ่นสาบ
-ปลาไม่มีมันในท้อง
-ปลาจะมีเนื้อหวานรสชาติอร่อย
ขั้นตอนที่ 4 การเลี้ยง
1.นำท่อปูนที่มีรอยคราบผักบุ้ง หรือบ่อปูนที่ไม่มีกรดไม่มีด่าง ใส่น้ำให้มีความสูง 10 เซนติเมตร (ช่วงปลาขนาดเล็ก เพิ่งนำมาปล่อย) แล้วเติมน้ำหมัก 1 ช้อนโต๊ะ
2.นำปลาดุกมาแช่น้ำในบ่อปูนทั้งถุง แล้วค่อยๆเปิดปากถุงให้ปลาว่ายออกมาเอง
3.วันแรกที่นำปลามาปล่อยไม่ต้องให้กินอาหาร
4.นำพืชผักที่ปลากิน เช่นผักบุ้ง ผักตบชวาและอื่นๆมาใส่ในบ่อ
5.การให้อาหาร ปลา 1 ตัวให้อาหาร 5 เม็ด/เมื้อ ในช่วงปลาเล็กให้อาหารวันละ 2 เมื้อ เช้า-เย็น ปลาอายุ 1 เดือนครึ่งให้อาหารปลาขนาดกลาง โดยให้อาหารวันละ 1 ครั้ง ให้ปลากินตอนเย็น
หมายเหตุ ก่อนให้อาหารต้องนำอาหารมาแช่น้ำก่อนเสมอประมาณ 10-15 นาที
เหตุผลเพื่อ
1.ปลาจะได้กินอาหารทุกตัว
2.ปลาตัวที่แข็งแรงจะทำให้ท้องไม่อืด
3.ปลาไม่ป่วย
4.การเจริญเติบโตใกล้เคียงกัน
5.อาหารไม่เหลือในบ่อและน้ำก็ไม่เสีย
6.ถ่ายน้ำทุกๆ 7 วัน หรือ 10 วัน/ครั้ง ทุกครั้งที่ถ่ายน้ำจะต้องใส่น้ำหมัก 1 ช้อนโต๊ะเสมอ
ขั้นตอนที่ 5 การจำหน่าย
1.ก่อนจะจำหน่าย 2 วัน ให้นำดินลูกรังสีแดงหรือซังข้าวมาแช่ไว้ในบ่อ จะทำให้ปลาดุกมีสีเหลืองสวย ขายได้ราคาดี
2.ปลาดุก 3 เดือนครึ่ง จำนวน 70 ตัว จะมีน้ำหนัก 14-15 กิโลกรัม หรือประมาณ 4-5 ตัว/กิโลกรัม จำหน่ายได้กิโลกรัมละ 60-70 บาท
3.ต้นทุนอาหารกิโลกรัมละ 19-20 บาท หมายเหตุ ต้นทุนครั้งแรก 1 ชุด 430 บาท น้ำที่ถ่ายทิ้งจากบ่อปลาสามารถนำมารดต้นไม้ พืชผักสวนครัว เป็นปุ๋ยอย่างดี
ท่านได้ที่นำวิธีที่เราแนะนำไปใช้หรือท่านที่เลี้ยงด้วยวิธีนี้อยู่มาแชร์ประสบการณ์กันได้ที่ใต้คอมเม้นเลยนะครับ