บ๊ะจ่าง ตำนานขนมของนักปราชญ์ซีหยวน
ชีหยวน ถือเป็นนักปราชญ์เป็นผู้ที่มีความรอบรู้ และความสามารถรอบด้าน รู้จักหลักการบริหารการปกครองเป็นอย่างดี เป็นเชื้อสายของกษัตริย์ผู้ครองแคว้นฉู่ ได้รับราชการเป็นขุนนางในสมัยพระเจ้าฉู่หวายอ๋อง เป็นที่ปรึกษา และดูแลเหล่าเชื้อพระวงศ์ เป็นขุนนางที่ซื่อสัตย์ และเปี่ยมด้วยความรู้ความสามารถอันสูงยิ่ง เป็นที่โปรดปรานอย่างมาก
เป็นธรรมดาเมื่อมีคนรัก แน่นอนย่อมต้องมีคนชังเป็นเรื่องธรรมดา เหล่าขุนนางกังฉินทั้งหลายต่างก็ไม่พอใจ จึงมีหลายครั้งที่การทำงานไปขัดขวางการโกงกินบ้านโกงกินเมือง จึงรวมหัวกันพยายาม ยุยงใส่ร้าย จนพระเจ้าฉู่หวายอ๋อง ก็เริ่มมีใจเอนเอียง
ชีหยวนรู้สึกทุกข์ระทมตรมใจมาก จึงได้แต่งกลอนขึ้นเพื่อคลายความทุกข์ใจ กลอนบทนั้นมีชื่อว่า "หลีเซา" หมายถึงความเศร้าโศก จนต่อมาพระเจ้าฉู่หวายอ๋องถูกกลลวงของแคว้นฉิน และสวรรคตในแคว้นฉิน รัชทายาทของฉู่หวายอ๋องจึงได้ขึ้นครองราชบัลลังก์แทน
หลังจากที่กษัตริย์องค์ใหม่ขึ้นครองราชย์ พระองค์ได้ทรงหลงเชื่อคำยุยงของเหล่าขุนนางกังฉินพวกนั้น ในที่สุดจึงได้มีพระบรมราชโองการให้เนรเทศชีหยวนออกจากแคว้นฉู่ไป
ชีหยวนเศร้าโศกเสียใจมาก หลังจากเดินทางรอนแรมมาถึงแม่น้ำเปาะล่อกัง (บางตำราว่าเป็นแม่น้ำแยงซีเกียง) ชีหยวนจึงได้ตัดสินใจกระโดดน้ำตายในวันขึ้น 5 ค่ำ เดือน 5 นั้นเอง
ชาวบ้านที่รู้เรื่องการตายของชีหยวน พวกเขาต่างก็รัก และอาลัย จึงได้ออกเรือเพื่อตามหาศพของชีหยวน ในขณะที่ค้นหาศพ พวกเขาก็เตรียมข้าวปลาอาหารไปโปรยลงแม่น้ำด้วย เพื่อล่อให้สัตว์น้ำมากิน จะได้ไม่ไปกัดกินซากศพของชีหยวน หลังจากนั้นทุกปีเมื่อถึงวันครบรอบวันตายของชีหยวน ชาวบ้านจะนำเอาอาหารไปโปรยลงแม่น้ำเปาะล่อกัง หลังจากที่ทำมาได้ 2 ปี ก็มีชาวบ้านผู้หนึ่งฝันเห็นชีหยวนที่มาในชุดอันสวยงาม กล่าวขอบคุณเหล่าชาวบ้านที่นำเอาอาหารไปโปรยให้เพื่อเซ่นไหว้ แต่เขาบอกว่าอาหารถูกเหล่าสัตว์น้ำกินเสียจนหมดเกลี้ยง ชีหยวนจึงแนะนำให้นำอาหารเหล่านั้นห่อด้วยใบไผ่ หรือใบจากก่อนนำไปโยนลงน้ำ
หลังจากนั้นในปีต่อมา ชาวบ้านต่างก็ทำตามที่ชีหยวนแนะนำ คือนำอาหารห่อด้วยใบไผ่ไปโยนลงน้ำเพื่อเซ่นให้แก่ชีหยวน หลังจากวันนั้นชีหยวนก็ได้มาเข้าฝันชาวบ้านอีก ว่าคราวนี้ได้กินมากหน่อย แต่ก็ยังคงโดนสัตว์น้ำแย่งไปกินได้ ชาวบ้านต้องการให้ชีหยวนได้กินอาหารที่พวกเขาเซ่นให้อย่างอิ่มหนำสำราญจึงได้ถามชีหยวนว่าควรทำเช่นไรดี ชีหยวนจึงแนะนำอีกว่าเวลาที่จะนำอาหารไปโยนลงแม่น้ำ ให้ตกแต่งเรือเป็นรูปมังกรไป เมื่อสัตว์น้ำทั้งหลายได้เห็นก็จะนึกว่าเป็นเครื่องเซ่นของพญามังกร จะได้ไม่กล้าเข้ามากิน ประเพณีการไหว้ขนมจั้ง (บ๊ะจ่าง) จึงเกิดขึ้นด้วยประการฉะนี้