30 บาท ปรับระบบใหม่ "ยืนยันสิทธิ" หลังรักษาแบบ ขรก. รับบัตร ปชช.รักษาทุกที่
สปสช. ปรับระบบยืนยันสิทธิบัตรทอง 30 บาทใหม่ ยืนยันตัวตนหลังรับบริการ 4 จังหวัดนำร่อง เริ่ม 7 ม.ค.นี้
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ปรับระบบยืนยันสิทธิบัตรทอง 30 บาทใหม่ รองรับนโยบายเร่งด่วน 30 บาทอัปเกรด โครงการ “บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่” โดยผู้ป่วยสามารถใช้สิทธิบัตรทอง 30 บาท เข้ารับบริการที่หน่วยบริการใดก็ได้ทั่วประเทศโดยไม่ต้องรอคิวตรวจสอบสิทธิก่อนเข้ารับบริการ โดยระบบใหม่นี้ ผู้ป่วยจะยืนยันตัวตนหลังรับบริการ โดยเจ้าหน้าที่หน่วยบริการจะสแกนบัตรประชาชนหรือใช้ QR Code ของผู้ป่วย เพื่อตรวจสอบสิทธิและยืนยันตัวตน จากนั้นจึงบันทึกข้อมูลการยืนยันตัวตนลงในระบบของ สปสช.
สำหรับวิธีในการยืนยันตัวตนหลังการรับบริการ มี 6 วิธีด้วยกัน ใช้วิธีใดวิธีหนึ่งก็ได้ขึ้นอยู่กับความสะดวกและการจัดบริการของหน่วยบริการและประชาชน ที่ดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่มี 1 วิธี โดยทำการยืนยันการรับบริการผ่านเครื่องรูดบัตรเคลื่อนที่ (EDC: Electronic Data Capture) เครื่องเดียวกับที่กรมบัญชีกลางใช้กับระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ขณะที่อีก 5 วิธี ประชาชนดำเนินการได้เองวิธีใดวิธีหนึ่ง ดังนี้
- ยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชันไลน์ (Line Application) ได้แก่ ไลน์ OA. สปสช. ไลน์ไอดี @nhso เลือกเมนูขอรหัสเข้ารับบริการ
- ยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชันที่สามารถเชื่อมต่อกับระบบของ สปสช. ที่มีมาตรฐานความปลอดภัยขั้นสูงสุด ปัจจุบันที่ใช้งานแล้วคือ
- แอปพลิเคชัน “สปสช. ใกล้มือ”
- แอปพลิเคชัน “หมอพร้อม”
- ยืนยันตัวตนผ่าน QR Code ของหน่วยบริการ
- ยืนยันตัวตนผ่านบัตรประชาชนแบบสมาร์ทการ์ด (Smart Card) โดยให้เจ้าหน้าที่หน่วยบริการสแกนบัตรประชาชนของผู้ป่วย
- ยืนยันตัวตนด้วยตนเองผ่านเครื่องอ่านบัตรประชาชน (Smart Card Reader) โดยให้ผู้ป่วยสแกนบัตรประชาชนของตนเองผ่านเครื่องอ่านบัตรประชาชนของหน่วยบริการ
โดย นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ย้ำว่า ผู้ป่วยสามารถเลือกวิธียืนยันตัวตนหลังรับบริการได้ตามสะดวก โดยไม่จำเป็นต้องเลือกวิธีใดวิธีหนึ่งโดยเฉพาะ
ทั้งนี้ สปสช. คาดหวังว่า ระบบแสดงตนยืนยันสิทธิเมื่อสิ้นสุดการรับบริการ จะช่วยลดระยะเวลาในการรับบริการของผู้ป่วยลงได้ประมาณ 20-30 นาที และช่วยให้ผู้ป่วยได้รับความสะดวกในการเข้ารับบริการมากยิ่งขึ้น โดยไม่ต้องรอคิวตรวจสอบสิทธิก่อนเข้ารับบริการ และช่วยลดความแออัดในหน่วยบริการ
เริ่มใช้ระบบใหม่ใน 4 จังหวัดนำร่อง ตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม 2567 เป็นต้นไป ได้แก่ แพร่ ร้อยเอ็ด เพชรบุรี และนราธิวาส หากพบว่าระบบมีความพร้อมและมีประสิทธิภาพ จะขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ต่อไป