รูดปื๊ดในต่างประเทศจ่ายแพงกว่าที่คิด
เข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยวกันอีกแล้ว ซึ่งหลายคนเตรียมตัวเก็บกระเป๋าเดินทางไปต่างประเทศ นอกจากพาสปอร์ตและตั๋วเครื่องบินแล้ว สิ่งสำคัญที่ต้องเตรียมอีกอย่างก็คือ Pocket Moneyหรือเงินติดกระเป๋านั่นเอง เวลาจะเดินทางไปต่างประเทศ บางคนอาจอยากแลกเงินไปเผื่อฉุกเฉิน เพื่อเอาไว้ใช้ซื้อของในระหว่างเดินทางในร้านที่ไม่รับบัตรเครดิต ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นร้านเล็กๆที่ขายขนมหรือขายของกระจุกกระจิก โดยปกติเราก็มักจะไปแลกเงินตามร้าน ซึ่งส่วนใหญ่จะมีอัตราแลกเปลี่ยนที่ดีกว่าธนาคาร เราสามารถเช็คอัตราแลกเปลี่ยน ทาง Online ผ่านเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชันได้เลย โดยอัตราพวกนี้จะค่อนข้าง Real time ด้วย ซึ่งการแลกเงินตามร้านต่างๆตอนนี้แลกได้สะดวกมากขึ้น เพราะบางร้านก็มีสาขาในห้างสรรพสินค้า แต่สำหรับคนที่ตั้งใจจะไป Shopping ใช้เงินโบนัสให้เพลิดเพลิน การใช้บัตรเครดิตจะสะดวกมากกว่าเพราะพกสะดวกและไม่อันตรายเหมือนกับการพกเงินสดจำนวนมาก
หลายคนที่เคยมีประสบการณ์ รูดปื๊ด รูดปื๊ดในต่างประเทศ จะเห็นว่าตอนที่บัตรเครดิตเรียกเก็บเงินจะมียอดเงินที่สูงกว่ายอดเงินที่เราคำนวณไว้ตอนซื้อ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ เพราะว่าเวลาที่เราใช้บัตรเครดิตนั้น นอกเหนือจากอัตราแลกเปลี่ยนที่อาจจะแพงกว่าการแลกเป็นเงินสดติดตัวไป ยกเว้นว่าเราจะไปในจังหวะที่ค่าเงินบาทแข็งก็จะจ่ายเงินน้อยลง ยังมีค่าใช้จ่ายอีกส่วนหนึ่งที่บัตรเครดิตเรียกเก็บคือค่าความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงิน โดยจะคิดเพิ่มอยู่ที่ประมาณ 2-2.5% ของยอดค่าใช้จ่าย ซึ่งค่าบริการนี้จะมีการเรียกเก็บทุกบัตร ทุกธนาคาร ไม่สามารถขอยกเว้นได้เหมือนค่าธรรมเนียมรายปี เพราะเป็นการลดความเสี่ยงจากการผันผวนของค่าเงินที่ขึ้นลงในแต่ละวัน สมมุติ เราใช้บัตรเครดิตที่ต่างประเทศ วันที่ 1ธันวาคม ธนาคารจ่ายเงินให้กับร้านในวันต่อมาคือวันที่2ธันวาคม ธนาคารเรียกเก็บจากเราวันที่ 19 ธันวาคม เราจ่ายเงินคืนให้ธนาคารภายในวันที่ 4มกราคม จะเห็นว่าตั้งแต่วันที่เรารูดบัตรซื้อของจนถึงวันที่เราต้องจ่ายเงินคืนให้ธนาคารใช้เวลาหลายวันมาก ระหว่างนี้ค่าเงินก็อาจจะขึ้นหรืออาจจะลง ดังนั้นธนาคารจึงผลักความเสี่ยงนี้ให้กับเราเป็นคนรับผิดชอบแทน
มาคำนวณดูกันว่าถ้าเรารูดบัตรเครดิตที่ต่างประเทศ จะถูกเรียกเก็บเป็นเงินบาทเท่าไหร่
1. ให้คำนวณค่าเงินจากอัตราแลกเปลี่ยนของUS Dollars โดยดูอัตราแลกเปลี่ยนจากเว็บไซต์ของบัตรที่เราใช้ เพราะแต่ละบัตรอาจมีการคิดค่าเงินต่างกันนิดหน่อย ถ้ากรณีที่เราไปเที่ยวประเทศที่ไม่ได้ใช้หน่วยเงินเป็นสกุล US Dollars เราจะโดนชาร์จอัตราแลกเปลี่ยน 2 ต่อ เช่น ถ้าเราไปรูดบัตรเครดิตที่เกาหลี หรือญี่ปุ่น และ ทาง Visa หรือ Mastercard จะแปลงเงินสกุลเกาหลีหรือญี่ปุ่น ให้เป็น US Dollars ก่อน แล้วค่อยแปลงจาก US Dollars เป็นเงินบาท
2. นำจำนวนเงินที่เรารูดบัตรเครดิต ไปคูณกับอัตราแลกเปลี่ยนที่แปลงจาก US Dollars เป็นเงินไทย ตามข้อ 1 จะได้ตัวเลขเป็นเงินบาท = A บาท
3. นำจำนวนเงินที่ได้จากข้อ 2 ไปคูณกับ “ค่าความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงิน” ตามที่แต่ละบัตรของธนาคารกำหนด เพื่อให้ได้ตัวเลขค่าธรรมเนียมความเสี่ยง = B บาท
4. นำจำนวนเงิน A บาทในข้อ 2 และจำนวนเงิน B บาทข้อ 3 มาบวกกัน ก็จะได้จำนวนเงินที่เราต้องชำระให้แก่ธนาคาร
อย่ามัวแต่กดเครื่องคิดเลขกันนะ จากที่ตั้งใจจะเดินทางเพื่อไปท่องเที่ยว ไปช้อปปิ้งคลายเครียด จะกลายเป็นเครียดกว่าเดิม