“ขนมสี่ถ้วย” ขนมหวานมงคล สำหรับงานแต่งงาน ของคนไทยสมัยก่อนเด้อครับเด้อ
การทำ " ขนมสี่ถ้วย " มักทำกันในงานมงคลสมรส เพื่ออวยพรให้บ่าวสาวรักกันยืนยาว ถือไม้เท้ายอดทอง กระบองยอดเพชรโดยปราศจากคำพูด ในสมัยก่อนจะเป็นที่รู้กันว่า หากมีชาวบ้านพูดว่า “ไปกินสี่ถ้วย” ก็คือให้ทราบทั่วกันว่าจะไปงานแต่ง
วัฒนธรรมการกินขนม " สี่ถ้วย " นี้ว่ากันว่าเป็นความเชื่อเรื่องการแต่งงานของคนแผ่นดินพระร่วงเดิม ก่อนจะมีการนับถือศาสนาพุทธ จวบจนสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ถึงกรุงรัตนโกสินทร์ก็ยังปรากฏการกินขนมเช่นนี้อยู่ แต่อาจลดความสำคัญเรื่องประเพณีไป หลงเหลือเพียงแค่การกินเพื่อความอร่อยเท่านั้น
ขนมสี่ถ้วย หรือ 4 ชนิดนี้นั้น ประกอบด้วย ไข่กบ (เม็ดแมงลักหรือเม็ดสาคู), นกปล่อย (ลอดช่องไทย), บัวลอย มะลิลอย หรือนางลอย (ข้าวตอก) และ อ้ายตื้อ (ข้าวเหนียว) ซึ่งทั้งหมดนี้มีส่วนผสมสำคัญคือ “น้ำกะทิ” เอาไว้คลุกเคล้าให้เอร็ดอร่อยยิ่งขึ้น
โดยขนมทั้ง 4 ชนิดมีความหมายที่ซ่อนอยู่แตกต่างกันออกไป แต่ยังอิงอยู่กับการอวยพรให้ความรักของบ่าวสาวชื่นมื่นอบอวลไปด้วยความรักอันหอมหวาน อย่าง ไข่กบ หมายถึง มีลูกเต็มบ้านมีหลานเต็มเมือง (เนื่องจากกบเมื่อเข้าสู่ฤดูผสมพันธุ์จะออกไข่ครั้งละมาก ๆ), นกปล่อย หมายถึง ความยืนยาวและความราบรื่น, นางลอย หมายถึง ความรักอันเบ่งบาน, อ้ายตื้อ หมายถึง ความรักอันเหนียวแน่นนั่นเอง
สำหรับวิธีการกินขนม " สี่ถ้วย " นี้ก็ไม่ยากเลย เพียงเรานำข้าวเหนียวดำ มาใส่ลอดช่อง และเม็ดแมงลัก ราดตามด้วยน้ำกะทิจากน้ำตาลโตนดกลิ่นหวานหอม ก่อนจะโรยด้วยข้าวตอกเอาพออิ่มน้ำ ตักเข้าปากเป็นอันว่าฟินสุด ๆ เรียกได้ว่าเป็นการผสมผสานของหวาน 4 อย่างเข้าด้วยกันได้อย่างลงตัวมากๆเลยทีเดียวนั่นเอง เด้อครับเด้อ
ขอบคุณ ภาพ และข้อมูลจาก page The Earth