ที่มาของชื่อเรียก อุทัยเทวี?
มีเพื่อนบ้านเห็นคางคก กระโดดเข้ามาในรั้วบ้าน ทักบอกเรื่องให้ระวังจะมีงูเห่า หรืองูอื่นๆ ในบ้าน เออก็จริงนะ หลายวันต่อมาก็เจองูเห่ามากินน้องจริง แต่ช่วยได้ทัน เพราะมีน้องแมวในบ้าน
แต่ติดใจสงสัย เมื่อได้ยินเรียกคางคกว่า แม่นางอุทัยเทวี มาให้โชคลาภ และเพื่อนบ้านก็หยิบน้องขึ้นมา หงายท้องอย่างไว อุ๊ต๊ะคุณพระช่วย ลายที่ท้องมีเลขเจ้าข้าเอ๊ย!! ใต้ท้องมีเลขจริงๆ ตั้งแต่นั้นมา เห็นที่ไหนหงายท้องตลอด แต่ไม่ขนาดเอาแป้งมาทานะคะ เพราะตาเห็นจริงๆ บางคนเชื่อเรื่องโชคลาภปะแป้งน้องจนขาวโพลน ถ้าพูดได้ คงบอกว่า มาปะแป้งหนูทำไม? อันนี้ได้โชคลาภก็หลายครั้งจริงๆ นะคะ
เข้าเรื่องๆ แม่นางอุทัยเทวี เป็นนิทานพื้นบ้านของไทยเรื่องหนึ่ง โดยตัวละครเอกของเรื่องนี้คือ นางอุทัยเทวี หญิงสาวชาวบ้านที่มีเชื้อชาติเป็นพญานาค ต่อมาได้อภิเษกกับ เจ้าชายสุทธราช โอรสกษัตริย์แห่งการพนคร ซึ่งได้รับความนิยมมากในอดีต และเล่ากันเป็นนิทานชาดก
โครงเรื่องกล่าวถึงท้าวนาคาเจ้าเมืองบาดาล มีพระธิดาชื่อนางสมุทรมาลา คราวหนึ่งนางเกิดความรุ่มร้อนจึงขออนุญาตพระบิดาขึ้นไปเที่ยวยังแดนมนุษย์ นางลักลอบได้เสียกับรุกขเทวดาจนตั้งครรภ์ เกรงว่าหากพระบิดาล่วงรู้ความ นางจะต้องได้รับโทษจึงสำรอกบุตรในครรภ์ออกมาเป็นไข่ ซ่อนไว้ริมฝั่งน้ำกับพระธำมรงค์ซึ่งมีอานุภาพเนรมิตสิ่งต่างๆ ได้ พร้อมกับผ้ารัตกัมพล แล้วนางก็กลับไปยังเมืองบาดาล
ยังมีคางคกตัวหนึ่งมาพบสิ่งของทั้งนั้นเข้าจึงกลืนกินเข้าไปทั้งไข่ พระธำมรงค์และผ้ารัตกัมพล พิษแห่งนาคทำให้คางคกถึงแก่ความตายเป็นคราบห่อหุ้มไข่ไว้ ครั้นครบกำหนดก็กำเนิดเป็นกุมารีอาศัยอยู่ในคราบคางคก ต่อมาสองตายายผู้ยากจนข้นแค้นมีอาชีพสุ่มปลาขายเลี้ยงชีพ วันหนึ่งขณะที่กำลังสุ่มปลาได้พบคางคกพูดภาษาคนได้ อ้อนวอนขอให้ตายายนำไปเลี้ยงแล้วจะแทนคุณในภายหน้า ตายายจึงนำมาเลี้ยงไว้ กุมารีในคราบคางคกมีความกตัญญูรู้คุณ ได้เนรมิตข้าวปลาอาหารไว้คอยท่าเมื่อทั้งสองไม่อยู่ ครั้นซุ่มดูก็ทราบว่าในคราบคางคกนั้นเป็นที่ซ่อนตัวของกุมารีรูปงาม เวลาผ่านไปจนนางมีอายุย่างเข้ารุ่นสาว วันหนึ่งเป็นวันอุโบสถ ชาวบ้านทั้งหลายเตรียมไปฟังเทศน์ที่วัด นางจึงขอให้ตายายพานางไปฟังเทศน์ด้วย ทั้งสองจึงขอให้นางออกจากคราบคางคก พอดีได้เวลาตรงกับตอนเช้าวันอาทิตย์ นางจึงได้ชื่อว่า “อุทัย” หรือ “อุทัยเทวี” นางอุทัยได้เนรมิตหญิงงามจำนวนมากไว้เป็นข้ารับใช้แล้วพากันเดินทางไปฟังเทศน์ที่วัด
ท้าวการพกับนางกาวิน มีพระโอรสนามว่า เจ้าชายสุทธราชกุมาร อายุได้ ๑๖ ปี วันนั้นเจ้าชายสุทธราชกุมารไปฟังเทศน์ที่วัด ได้พบนางอุทัยเข้าก็หลงรัก จึงให้ทหารหลวงติดตามไปล้อมเรือนของสองตายายไว้ ฝ่ายนางอุทัยก็เข้าหลบอยู่ในคราบคางคกแล้วสอนให้ตายายบอกแก่ทหารหลวงว่า หากเจ้านายมีความประสงค์ที่จะได้นางอุทัยเป็นชายาก็ให้แต่งสะพานทอง มีห้องประดับด้วยทอง 150 ห้อง จากเมืองมาจนถึงเรือนที่นางพำนัก ท้าวการพได้ทรงทราบข้อเสนอเช่นนั้นก็ทรงพระพิโรธคิดจะฆ่าสองตายายแต่นางกาวินห้ามไว้แล้วยื่นข้อเสนอกลับให้ฝ่ายตายายสร้างปราสาททองไว้รอรับสะพานทอง หากไม่สำเร็จจะลงอาญาถึงชีวิต คืนนั้นนางอุทัยก็เนรมิตปราสาททองขึ้น ท้าวการพกับนางกาวินร้อนพระทัยนักที่ไม่สามารถสร้างสะพานทองไปยังปราสาทของนางอุทัยได้ ด้วยบุพเพสันนิวาสที่ทั้งสองเคยสร้างบุญร่วมกันไว้แต่ชาติปางก่อน ร้อนถึงพระอินทร์ต้องลงมาเนรมิตสะพานทองให้ นางอุทัยได้เข้าพิธีอภิเษกกับเจ้าชายสุทธราชกุมาร ทั้งสองครองรักอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข
แต่เดิมมา เจ้าชายสุทธราชกุมาร ได้สู่ขอนางฉันทนา (บางฉบับเรียกว่า "นางฉันทา") พระธิดาของท้าวกัญจาเจ้าเมืองอุโลมนครไว้เป็นคู่หมั้น ครั้นนางมีอายุได้ 15 ปี ท้าวกัญจาจึงส่งราชทูตมาเตือนขันหมาก ทั้งยังประกาศว่าถ้าฝ่ายชายไม่มาอภิเษกตามสัญญาจะต้องทำสงครามกัน เจ้าชายสุทธราชกุมารจำต้องจากนางอุทัยไปทั้งที่รักนางอย่างสุดซึ้ง ก่อนที่จะออกเดินทางได้ให้ช่างหล่อรูปนางอุทัยด้วยทองคำ นำใส่หีบไปเชยชมต่างหน้าที่เมืองอุโลมนครด้วย นางฉันทนานั้นแม้ว่าจะอยู่ในวัยรุ่นสาวแต่เกศากับหงอกขาว หลังจากเข้าพิธีอภิเษกแล้ว เจ้าชายสุทธราชกุมารก็มิได้มีความเสน่หา เฝ้าแต่เชยชมรูปนางอุทัยอยู่ไม่สร่างจนนางฉันทนาสืบทราบจึงให้คนมาลักรูปทองไปทิ้งในแม่น้ำ ทำให้เจ้าชายสุทธราชกุมารไม่พอพระทัยเป็นอย่างยิ่ง
อยู่มานางฉันทนาติดสินบนสองตายายนักโกหก มีสำเภายนต์ลอยไปได้ในอากาศให้ไปลวงนำตัวนางอุทัยมายังเมืองอุโลมนคร นางฉันทนาให้คนทำร้ายนางอุทัยจนถึงแก่ความตายแล้วนำไปทิ้งในแม่น้ำ นางอุทัยเป็นธิดาของนางนาค เมื่อจมลงในน้ำก็กลับฟื้นชีพขึ้นมา นางนั่งร้องไห้อยู่ที่ริมฝั่งน้ำกระทั่งมีแม่เฒ่าขายผักพายเรือผ่านมาพบนางเข้าก็นำไปอุปการะ นางอุทัยเมื่อหายจากอาการพาดเจ็บแล้วได้ช่วยแม่เฒ่าพายเรือขายผัก นางผูกใจเจ็บคิดจะล้างแค้นนางฉันทนาให้จงได้ จึงแปลงร่างเป็นหญิงชราแต่เส้นเกศายังดำขลับ พายเรือขายผักไปจนถึงหน้ารัง
นางฉันทนาเห็นเข้าจึงเรียกไปถามถึงสาเหตุที่หญิงชรายังมีผมดกดำ นางอุทัยแปลงลวงว่า ตนมีวิชาปลูกผมหงอกให้กลับดำได้ แต่ต้องทำพิธีในที่รโหฐานไม่ให้ผู้อื่นล่วงรู้ ทั้งต้องทนเจ็บปวดอย่างแสนสาหัสได้ นางเรียกค่าทำพิธีสูงถึง 105 ตำลึงทอง ซึ่งนางฉันทนาก็ไม่ขัดข้อง
ถึงวันกำหนดนัด ยายเฒ่านางอุทัยแปลงให้กั้นม่านมิดชิด จับนางฉันทนาโกนหัว เอาปลายมีดสับทั่วทั้งร่าง หมักด้วยปลาร้าเน่าแล้ว นำหม้อแกงมาครอบหัวไว้ เมื่อเสร็จการล้างแค้นนางก็จากไปพร้อมด้วยเงินรางวัล นางฉันทนาทนทุกข์ทรมานอยู่ไม่กี่วันก็ถึงแก่ความตาย ท้าวกัญจาให้สืบหาตัวแม่ค้าเฒ่าผมดำก็ไม่พบ จึงจัดการเผาศพพระธิดา ตามประเพณี ฝ่ายเจ้าชายสุทธราชเมื่อพบกับนางอุทัยจึงพากันเดินทางกลับบ้านเมือง และครองรักกันอย่างมีความสุข
ก็เป็นที่มาของเรื่องราวน้องคางคกนะคะ โปรดใช้วิจารณญาน