ทำไมต้องเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม
ทำไมต้องเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม ?
กลายเป็นกระแสในโลกโซเชียล เรื่องการไปใช้สิทธิเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมชุดใหม่ จะมีขึ้นวันที่ 24 ธ.ค. 66 ผู้ประกันตนที่เป็นลูกจ้างและนายจ้าง ต้องลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ ก่อนการไปลงคะแนน เดิมกำหนดให้ลงทะเบียนได้ถึงวันที่ 31 ต.ค. 66 แต่ด้วยจำนวนคนลงทะเบียนน้อยกว่าที่คาดไว้ จึงขยายวันลงทะเบียนถึง 10 พ.ย.นี้
วันนี้เราชาวแว่นขยายจะมาให้ความรู้เกี่ยวกับการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม ว่ามีความสำคัญกับเรามากน้อยเพียงใด
เลือกตั้ง บอร์ดประกันสังคม เพื่ออะไร
การเลือกตั้ง "บอร์ดประกันสังคม" นับเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกของประเทศไทย ซึ่งบอร์ดประกันสังคม เป็นบุคคลที่ถูกเลือกให้เป็นตัวแทนของผู้ประกันตน และนายจ้างกว่า 24 ล้านคนในระบบประกันสังคม ให้เข้าไปทำหน้าที่เสนอความเห็นและนโยบายในการดูแลจัดการบริหารกองทุนประกันสังคม ที่บอกว่า ครั้งนี้เป็นครั้งแรก ไอลอว์ ได้อธิบายไว้ว่า
พ.ร.บ.ประกันสังคม ที่ถูกแก้ไขในยุคสมัยของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อปี 2558 เขียนขึ้นเป็นครั้งแรก ไว้ในมาตรา 8 ว่า ให้ผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนฝ่ายละเจ็ดคน "มาจากการเลือกตั้ง โดยคํานึงถึงการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตน สัดส่วนระหว่างหญิงและชาย รวมทั้งการมีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิผลของคนพิการ และผู้ด้อยโอกาส"
แต่การเลือกตั้งกลับไม่ได้เกิดขึ้น เพราะเมื่อ พ.ย.2558 มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 40/2558 ออกมาตามอำนาจพิเศษของ "มาตรา 44" สั่งว่าให้ "งดการบังคับใช้" บางมาตราที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง แต่ได้แต่งตั้งคณะกรรมการประกันสังคมทุกตำแหน่งเข้ามาทำหน้าที่เลย โดยให้มีกำหนดวาระการทำงาน 2 ปี
ต่อมาก่อนที่ คสช. จะหมดอำนาจไปก็ได้ออกคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 9/2562 ให้คณะกรรมการประกันสังคมชุดเดิมที่แต่งตั้งไว้เมื่อปี 2558 พร้อมที่ปรึกษา อยู่ในตำแหน่งไปก่อนระหว่างการร่างระเบียบหลักเกณฑ์การเลือกตั้งซึ่งใช้เวลาอีกอย่างน้อย 2 ปี ทำให้ พ.ร.บ.ประกันสังคม ที่บอกให้มีการเลือกตั้งยังไม่เคยได้ใช้จริง และคณะกรรมการชุดแต่งตั้งมีอยู่ในตำแหน่งยาวนานกว่า 8 ปี
ความสำคัญ - บทบาท ของ บอร์ดประกันสังคม
"บอร์ดประกันสังคม" จะเป็นคนที่จะเข้ามาดูแล "กองทุนประกันสังคม" ซึ่งเป็นกองทุนที่ใหญ่สุดของประเทศ ในปี 2566 (ณ 30 มิ.ย.) มีเงินจำนวนกว่า 2.3 ล้านล้านบาท โดยบอร์ดประกันสังคมที่ได้รับเลือกเข้าไปจะมีบทบาท ดังนี้
-เสนอความคิดเห็นต่อรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายและมาตรการในการประกันสังคม
-พิจารณาให้ความเห็นต่อรัฐมนตรีในการตราพระราชกฤษฎีกา การออกกฎกระทรวง และระเบียบต่าง ๆ
-วางระเบียบเกี่ยวกับการรับเงิน การจ่ายเงิน และการเก็บรักษาเงินของกองทุน โดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง
-พิจารณางบดุลและรายงานการรับจ่ายเงินของกองทุน และรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีของสำนักงานประกันสังคม
-ให้คำปรึกษาและแนะนำแก่คณะกรรมการอื่นหรือสำนักงาน
-ปฎิบัติการอื่นตามที่กฎหมาย หรือตามที่รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานมอบหมาย