เฉลยแล้ว หุ่นนางรำในตู้คือใคร
หากพูดถึงนาฏศิลป์ไทย ดนตรีไทย หลายคนก็คงไม่พ้นที่จะนึกไปถึงเรื่องผีสาง สิ่งลี้ลับ อาถรรพ์ ดวงวิญญาณครูบาอาจารย์ต่าง ๆ ตามแต่จะเคยได้ฟังได้เห็นกันมา แต่หลายครั้งที่เรื่องราวเหล่านั้นกลับเป็นแค่เรื่องปั้นเสริมเติมแต่งขึ้นมาจากจินตนาและความไม่รู้จนเกินจริง อย่างเช่นหุ่นละครตัวพระ ตัวนาง ในตู้กระจก ที่ตั้งอยู่หน้าลานมรกต ณ ตึกอำนวยการ ภายในสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ หรือวิทยาลัยนาฏศิลป วังหน้า
ซึ่งนักศึกษาหลายรุ่น หลายคน หรือแม้แต่บุคคลภายนอกที่เข้าไปเยี่ยมเยือน ก็คงจะเคยเห็นและไปยืนกราบไหว้บูชากันมานักต่อนัก ซึ่งก็ได้มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับที่มาที่ไปของหุ่นละครพระ ละครนางคู่นี้อยู่หลายกระแส อย่างที่เคยได้ยินมาเมื่อตอนไปสอบรอบรับตรงเมื่อหลายสิบก่อนก็ว่า เป็นหุ่นที่ปั้นขึ้นมา เพื่อเป็นตัวแทนของนักเรียนละครพระ ละครนางคู่หนึ่ง ในยุคที่ยังเป็นโรงเรียนนาฏศิลป ซึ่งได้เสียชีวิตคณะเดินทางไปทำการแสดง หลังจากที่ทั้งคู่เสียชีวิตก็มีครูบาอาจารย์และนักเรียนในโรงเรียนนาฏศิลปพบเห็นดวงวิญญาณของทั้งสองคนนี้อยู่บ่อย ๆ จึงได้มีการสร้างหุ่นขึ้นมาเพื่อให้เป็นที่สิงสถิต แต่เมื่อสอบถามจากคุณครูผู้ใหญ่ รุ่นพี่ที่เคยเรียน ณ วิทยาลัยนาฏศิลปวังหน้า จึงทำให้ได้รู้ความจริงว่า หุ่นละครพระ ละครนางคู่นี้ แท้จริงแล้วเป็นเพียงหุ่นที่ปั้นขึ้นมาเพื่อเป็นแบบแสดงท่ารำ และแสดงแบบของการสวมใส่ชุดยืนเครื่องสำหรับการแสดงโขน ละครเทานั้น และผู้ที่เป็นต้นแบบให้นั้นก็เป็นระดับครูอาจารย์ที่มีชื่อเสียงอย่าง
แบบของหุ่นตัวพระ โดย ครูรำเพยพรรณ หุตะจิตร
แบบของหุ่นตัวนาง โดย ครูบุนนาค ทรรทรานนท์ นางมโนห์ราบูชายัญคนแรกของไทย
ครูบุนนาค ทรรทรานนท์ ถ่ายรูปคู่กับหุ่นละครนางที่ท่านเป็นต้นแบบในการปั้น
หากใครเป็นแฟนคลับแม่ยกของแม่แหง่ หรือครูบุนนาค ทรรทรานนท์ แค่เห็นจังหวะท่ารำ วงแขน เหลี่ยมขาของหุ่น ก็คงจำได้ทันทีว่านี่คือแม่แหง่ บุนนาค เพราะตัวนางที่รำหมดไม้หมดมือ มีความสง่า แต่ไม่มากเกินงามจนกลายเป็นอย่างตัวพระ ได้จังหวะที่พอ เป็นลีลาท่ารำที่เป็นเอกลักษณ์ของแม่แหง่ บุนนาค ซึ่งปัจจุบันท่านเพิ่งจะมีอายุครบรอบ 83 ปี และสุขภาพยังแข็งแรงดี ยังไปสอนรำมโนห์ราบูชายัณให้กับนักเรียนโรงเรียนเบญจมราชาลัย ในพระราชูปถัมภ์ จนกลายเป็นไวรัลในติ๊กต๊อกเมื่อช่วงต้นปี ด้วยท่ารำที่ยังคงความแข็งแรง สง่างาม กระฉับกระเฉง ไม่ทิ้งลายนางเอกแถวหน้าระดับตำนานของเวทีกองการสังคีต กรมศิลปากร และนางมโนห์ราบูชายัญคนแรก ที่ได้รับถ่ายทอดกระบวนท่ารำจาก หม่อมครูแผ้ว ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี ศิลปินแห่งชาติ ผู้ประดิษฐ์ท่ารำ
ครูบุนนาค ทรรทรานนท์ รำท่าจิกพื้น เมื่อครั้งแสดงเป็นนางกินรีมโนห์รา บทบูชายัญ
ครูบุนนาค ทรรทรานนท์ ถ่ายทอดท่ารำมโนห์ราบูชายัญ ให้แก่นักเรียนโรงเรียนเบญจมราชาลัย ในพระราชูปถัมภ์