ปฏิบัติธรรมเข้าถึงที่สุด คือใจ
"ปฏิบัติธรรมเข้าถึงที่สุด คือใจ"
" .. พระพุทธศาสนาสอนให้ "เชื่อกรรม เชื่อผลของกรรม" ผู้ใดทำกรรมดีย่อมได้รับผลของกรรมดี ผู้ทำกรรมชั่วย่อมได้รับผลของกรรมชั่ว คนอื่นจะรับแทนไม่ได้ ๑
สอนให้ "ทำทาน" การสละสิ่งของของตนให้แก่สัตว์ อื่นแลบุคคลอื่น ด้วยจิตเมตตาปรารถนาความสุขแก่บุคคลอื่น ถึงวัตถุที่ให้นั้นจะเป็นของน้อยนิดเดียวก็ดี หากมากด้วยจิตเมตตาของก็จะเป็นของมากเอง ๑
สอนให้ "รักษาศีล" ด้วยจิตวิรัติเจตนางดเว้นตัวเดียว โดยมี "หิริ-โอตตัปปะเป็นมูลฐาน" จะเป็นศีล ๕-๘-๑๐-๒๒๗ ก็ตาม ถ้ามี "จิตวิรัติเจตนางดเว้นตัวเดียว" โดยมีหิริ-โอตตัปปะเป็นมูลฐานแล้ว เป็นอันถึงที่สุดของการรักษาศีลได้ทั้งนั้น ๑
"สมาธิ" สอนให้เห็นโทษของอารมณ์ที่เกิดมาอายตนะ ๖ ซึ่งมันแส่ส่ายไปยังโลกธรรมทั้งแปด เป็นทุกข์เดือดร้อน ไม่มีที่สิ้นสุด แล้วย่อมสละปล่อยวาง แล้วย้อนเข้ามาอยู่ที่จิตแห่งเดียว ๑
"ปัญญา" สอนให้ค้นคว้าสิ่งทั้งหมดที่มาปรากฏอยู่ที่จิต ทั้งสิ่งที่ดีและไม่ดีให้เห็นเป็นแต่เกิดจากปัจจัย เมื่อปัจจัยในสิ่งนั้น ๆ ดับไปแล้ว สิ่งเหล่านั้น ๆ ก็ดับไปหมด จะเหลืออยู่แต่ธรรมสิ่งเดียว ๑
ผู้มาพิจารณาเห็นชัดแจ้งด้วยใจของตนเองอย่างนี้แล้ว ผู้นั้นปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาอันนี้ไม่มีการเสื่อม และไม่หลงงมงายในสิ่งที่ไร้สาระ เข้าถึงธรรมอันแท้จริง จะเรียกผู้นั้นว่า "อริยบุคคลหรืออะไรก็แล้วแต่" เพราะ "ปฏิบัติธรรมเข้าถึงที่สุด คือใจ" แล้วสิ้นสงสัยในธรรมทั้งปวง .. "
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
๑๗ ตุลาคม ๒๕๒๙
อ้างอิงจาก: palungjit