คว่ำตายหงายเป็น แก้พิษร้อนผ่อนพิษไข้
คว่ำตายหงายเป็น เป็นใบไม้ที่เราชอบเอามาเล่นกับเพื่อน ๆ ในตอนเด็ก เอาใบมาวางไว้ในสมุด เพื่อดูว่าถ้าหงายเขาจะงอกรากออกมาไหม ถ้าคว่ำเขาจะตายจริงหรือเปล่า
พอโตขึ้นมาตอนนี้เลยอยากจะมารู้ว่านอกจากเขาจะมีการโตแตกต่างจากต้นไม้อื่นๆ แล้ว เขายังมีประโยชน์อะไรบ้างเลยไปศึกษาหาข้อมูลมาบอกกันคะ
ลักษณะทั่วไปของคว่ำตายหงายเป็น เป็นไม้ล้มลุก อายุหลายปี ลำต้นตั้งตรง อวบน้ำ ใบเดี่ยวหรือใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย 5 ใบ รูปขอบขนาน แกมรูปไข่ หรือรีกว้าง ขอบใบหยักโค้งมน
ดอกออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ลักษณะเป็นทรงกระบอก ห้อยลง กลีบดอกด้านล่างสีเขียว ด้านบนสีแดง
ผลออกเป็นพวง มีเมล็ดขนาดเล็ก จำนวนมาก เมื่อแก่จัดจะแห้งและแตกด้านข้าง เมล็ดรูปขอบขนานแกมรี มีขนาดเล็ก
ตัวอย่างตำรับยาของ คว่ำตายหงายเป็น
รักษาและบรรเทาอาการปวดริดสีดวงทวาร นำใบเพสลาดมาตากให้แห้งสนิท แล้วนำมาตำหรือบดให้เป็นผงละเอียด นำผงสมุนไพร 1 ช้อนโต๊ะ มาชงในน้ำร้อน 1 แก้วชา แล้วเติมน้ำผึ้งป่า จำนวน 1 ช้อนโต๊ะ คนให้เข้ากัน แล้วนำมาดื่มอุ่นๆ 3 ครั้งต่อวัน
แก้ไข้ แก้ปวดหัวจากความร้อน นำใบมาล้างให้สะอาด แล้วนำมาขยำกับน้ำ จากนั้นนำมาชโลมศีรษะให้เปียกชุ่มตลอดเวลาจนกว่าอาการจะดีขึ้น
รักษาอาการปวดบวม แผลอักเสบ แก้พิษฝี รักษาแผลไฟไหม้พุพอง น้ำร้อนลวก นำใบมาล้างให้สะอาด แล้วนำมาตำให้ละเอียด จากนั้นนำมาพอกแผลบริเวณที่มีอาการบ่อยๆ จนกว่าอาการจะดีขึ้น ถ้ามีอาการมากหรือแผลเปิด คั้นเอาแต่น้ำแล้วเอาขนไก่ชุบทา
เคล็ดขัดยอกช้ำบวม ล้างให้สะอาดทุบให้ละเอียดพอกบริเวณที่เป็น เปลี่ยนยาวันละ 2-3 ครั้ง หรือตำผสมเหล้านำไปทาร่วมกับการนวด
ใบ ทั้งต้น ต้มน้ำดื่ม ช่วยให้คลอดง่าย ตำพอกหรือทาแก้ปวดกระดูก กระดูกหัก แผลไฟไหม้
ใบ ตำคั้นน้ำ แก้บิด ท้องร่วง อหิวาตกโรค นิ่ว ขับปัสสาวะ ตำพอกแก้ปวดอักเสบ ฟกบวม รักษาฝี ถอนพิษ
น้ำคั้นใบผสมการบูร ทาถูนวด แก้เคล็ด ขัดยอก และเเพลง กล้ามเนื้ออักเสบ ช่วยให้เลือดไหลเวียนดี
ใบเผาไฟเล็กน้อย หรือตำพอกแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ฝี ตาปลา
จากการศึกษาวิจัยยังพบฤทธิ์อื่นๆ อีกมากมาย เช่น ฤทธิ์ในการลดน้ำตาล ต้านเบาหวาน ต้านอาการซึมเศร้า ป้องกันแผลในกระเพาะ ลดความดันโลหิต คลายกังวล ต้านอนุมูลอิสระ
ต้านมะเร็ง ต้านการชัก ลดการบีบตัวที่ไวเกินของกระเพาะปัสสาวะ มีการทดลองทางคลินิกที่พบว่า ช่วยทำให้คนท้องและผู้ป่วยมะเร็งหลับได้ดีขึ้น
มีฤทธิ์รักษาแผลทำให้แผลหายเร็ว คลายกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ การพบสารพวกกรดแอสคอร์บิก ซาโปนิน และแทนนินในพืชจะช่วยห้ามเลือด มีฤทธิ์ต้านการปวดการอักเสบที่ดี ต้านการแพ้แบบทั่วไปและแพ้แบบรุนแรง
เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล) “คว่ำตายหงายเป็น”หน้า 136
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5 (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม) “คว่ำตายหงายเป็น” หน้า 170-172
LOMA🐬🐬
อ้างอิงจาก: คว่ำตายหงายเป็น
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5 (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม) “คว่ำตายหงายเป็น” หน้า 170-172