โรคไต...ต้องเตือนกันอีกกี่ครั้ง ???
ปัจจุบันสถานการณ์ของโรคไตเรื้อรังในประชากรไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นับเป็นปัญหาสาธารณสุขและกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก การหาแนวทางป้องกันผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังไม่ให้กลายเป็นไตวายเรื้อรังเร็วเกินควรหรือชะลอความเสื่อมของไต จึงเป็นสิ่งสำคัญเพราะไตเป็นระบบอวัยวะสำคัญที่เชื่อมโยงไปยังอวัยวะส่วนอื่น เมื่อไตทำงานน้อยลงมักเกิดปัญหาความดันโลหิตสูงและโลหิตจางร่วมด้วย โดยเฉพาะคนที่เริ่มมีอาการของโรคไต ในช่วงแรกแทบไม่มีสัญญาณเตือนอะไรเลย และมักพบว่าตนเองเป็นโรคไตก็ต่อเมื่อไตได้รับความเสียหายไปมากแล้วจนเป็นไตเรื้อรังและอย่าลืมว่าไตที่เสื่อมไปแล้วจะไม่กลับมาฟื้นเป็นปกติเหมือนเดิมอีก
ต้องเตือนกันอีกกี่ครั้ง ???
ลองสำรวจตัวเองดังต่อไปนี้ว่าตัวเราเองนั้นอยู่ในกลุ่มเหล่านี้หรือไม่และมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคไตเรื้อรังหรือไม่
- โรคเบาหวาน ไตเรื้อรังมีสาเหตุมาจากเบาหวาน 30-40 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ป่วยไตเรื้อรังทั้งหมด
- ความดันโลหิตสูง
- โรคหัวใจและหลอดเลือด
- โรคไตอักเสบ หรือโรคแพ้ภูมิตนเอง
- ได้รับยาหรือสารที่เป็นพิษต่อไต เช่น กลุ่มยาต้านการอักเสบ ยาสมุนไพรบางชนิด ยาปฏิชีวนะบางชนิด
- เป็นนิ่วในไตหรือในระบบทางเดินปัสสาวะ
- โรคถุงน้ำในไต
- โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะส่วนบนซ้ำหลายครั้ง
- มีมวลไตน้อยหรือลดลง หรือมีไตข้างเดียว
- ผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 60 ปี ขึ้นไป
- มีประวัติโรคไตเรื้อรังในครอบครัว
- ผู้ที่มีภาวะอ้วน หรือ โรคอ้วน
- สูบบุหรี่
แล้ว...คุณมีอาการเหล่านี้หรือไม่
คลำพบก้อนเนื้อบริเวณไต ปัสสาวะเหลืองเข้ม ปัสสาวะกลางคืนบ่อยผิดปกติ หน้าและเท้าบวม อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย น้ำหนักลดหรือเพิ่มผิดปกติ ผิวหนังซีด คัน มีจ้ำเลือดขึ้นง่าย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ ปากขมบางครั้งไม่รู้รสอาหาร ถ้าคุณมีอาการเหล่านี้ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนเลยว่าเป็นเป็นโรคไตแน่ๆ
และทำอย่างไร ??? ให้ไตทำงานได้อย่างปกติ
-ผู้ที่มีความเสี่ยงควรเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคไตปีละ 1 ครั้ง
-รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็มจัด หวานจัด
-ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
-ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว
-คนที่มีโรคประจำตัวควรควบคุมอาการของโรคอย่างใกล้ชิด
-หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
-หลีกเลี่ยงการรับประทานยาติดต่อกันเป็นเวลานานๆ