ภาวะหมดไฟ หรือ burnout syndromes คืออะไร????
ภาวะหมดไฟ (burnout syndromes) คืออะไร?
ภาวะหมดไฟ หรือ burnout syndromes คือ
ภาวะมลพิษทางอารมณ์ที่เกิดจากการสะสมความเครียดจากการทำงานมาในระยะหนึ่ง จนเกิดเป็นความเหนื่อยล้าที่ส่งผลต่อสุขภาพใจและกาย องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ขึ้นทะเบียนให้การรับรองภาวะหมดไฟ เป็นโรคใหม่ที่เกิดขึ้นกับผู้คนในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะในสภาพแวดล้อมการทำงานที่มีความเร่งรีบ กดดัน จนทำให้รู้สึกหมดพลัง หมดไฟ ไร้เรี่ยวแรง หมดแรงจูงใจในการทำงานและการใช้ชีวิต ผู้ที่มีภาวะหมดไฟในการทำงานควรเข้ารับการการรักษาและรับการบำบัดกับแพทย์เฉพาะทางที่มีประสบการณ์เพื่อให้ทราบถึงที่มาของปัญหา และร่วมกันหาแนวทางในการจัดการกับปัญหา อันเป็นที่มาของ"ความเครียด"
อาการ และสัญญาณเตือนของภาวะหมดไฟ เป็นอย่างไร?
อาการ และสัญญาณเตือนของผู้ที่มีภาวะหมดไฟ แบ่งออกเป็น 3 ด้าน
- อาการทางอารมณ์ เช่น รู้สึกเครียด เหนื่อยล้า อ่อนแรง ไม่สดชื่น ไม่มีความกระตือรือร้น รู้สึกเศร้า ท้อแท้ สิ้นหวัง หดหู่ หงุดหงิดง่าย โกรธง่าย เพิกเฉย ไม่พอใจในงานที่ทำ รู้สึกไม่มีความสุขในการทำงาน ไม่มีเป้าหมายในการทำงาน ไม่อยากมาทำงาน อยากลาออกจากงาน
- มีทัศนคติในแง่ลบ เช่น มองโลกในแง่ร้าย มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อเพื่อนร่วมงาน หวาดระแวงเพื่อนร่วมงาน กล่าวโทษเพื่อนร่วมงาน มีความวิตกกังวล เลี่ยงปัญหา มองว่าตนเองไร้ความสามารถ ไม่มีประสิทธิภาพ ไร้ศักยภาพไม่สามารถจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นจากการทำงานได้
- อาการแสดงออกทางด้านพฤติกรรม เช่น มีพฤติกรรมแยกตัว ห่างเหิน ปลีกตัว ชอบอยู่ตัวคนเดียว หวาดระแวงผู้อื่น มีอารมณ์แปรปรวน หุนหันพลันแล่น ไม่มีสมาธิในการทำงาน ขาดความความกระตือรือร้นเอาใจใส่ในงานไม่สามารถบริหารจัดการงานได้ มาทำงานสาย รู้สึกหมดเรี่ยวแรง และหมดไฟในการทำงาน
อาการแทรกซ้อนของภาวะหมดไฟ เป็นอย่างไร?
- การนอนผิดปกติ นอนไม่หลับ หลับยาก
- น้ำหนักตัวเพิ่ม หรือลดลงอย่างมาก
- มีอาการปวดกล้ามเนื้อ
- ภูมิต้านทานโรคต่ำ
- ความเครียดที่มากเกินไป
- เสี่ยงต่อการเสพติดแอลกอฮอล์ และสารเสพติด
- โรคซึมเศร้า
- โรคหัวใจ
- ความดันโลหิตสูง
- เบาหวานประเภทที่ 2
- เสี่ยงต่อการเจ็บป่วย
ระยะอาการของภาวะหมดไฟ มีกี่ระยะ???
ระยะอาการของภาวะหมดไฟตามการแบ่งระยะของ Miller & Smith (1993) แบ่งเป็น 5 ระยะ โดยภาวะหมดไฟในการทำงานจะค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นเป็นระยะ ๆ ดังนี้
- ระยะฮันนีมูน (The honeymoon) เป็นช่วงเริ่มงานของบุคคลส่วนใหญ่ เป็นระยะที่บุคคลมีไฟในการทำงานพยายามที่จะทำงานอย่างเต็มที่ พยายามปรับตัวให้เข้ากับองค์กรและสภาพแวดล้อมในการทำงาน เป็นระยะที่บุคคลสามารถรับแรงกดดันจาการทำงานได้
- ระยะรู้สึกตัว (The awakening) เป็นระยะที่บุคคลเริ่มรู้สึกคาดหวังกับการทำงาน และอาจต้องรู้สึกผิดหวังเมื่อพบว่าไม่สามารถตอบสนองต่อการทำงานในองค์กรได้ รู้สึกว่าองค์กรมีความไม่สมดุลระหว่างปริมาณงาน ค่าตอบแทน และการเป็นที่ยอมรับในที่ทำงาน รู้สึกผิดพลาดในการทำงาน และไม่สามารถจัดการงานได้
- ระยะไฟตก (Brownout) เป็นระยะเริ่มต้นของภาวะหมดไฟ โดยเริ่มมีความรู้สึกเหนื่อยล้า โดยสามารถสังเกตเห็นได้ถึงอารมณ์ที่หงุดหงิด แปรปรวน เริ่มปลีกตัวออกห่างเพื่อนร่วมงานเพื่อหลีกหนีความคับข้องใจ วิพากษ์วิจารณ์องค์กรหรือที่ทำงานในแง่ลบ และอาจเริ่มมีการเสพติดการดื่มแอลกอฮอล์
- ระยะหมดไฟเต็มที่ (Full scale of burnout) เป็นระยะที่หมดไฟในการทำงานอย่างสมบูรณ์ รู้สึกท้อแท้ สิ้นหวังและสูญเสียความมั่นใจ รู้สึกว่าตนเองล้มเหลวในการจัดการงาน ไม่ประสบความสำเร็จในการทำงาน หมดpassion ในการทำงาน
- ระยะฟื้นตัว (The phoenix phenomenon) ผู้ที่มีภาวะหมดไฟในการทำงาน หากได้รับการผ่อนคลายความตึงเครียด หรือได้รับการบำบัดทางการแพทย์เพื่อร่วมกันหาทางออกให้กับปัญหา และรวมถึงการปรับวิธีคิดปรับmindset ในการทำงาน และสร้างสมดุลระหว่างงานและชีวิต ก็จะสามารถกลับมามีไฟในการทำงานและการดำเนินชีวิตได้ใหม่อีกครั้ง
"สำหรับใครที่กำลังหมดไฟในการทำงาน แนะนำควรไปพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อทำการรักษา"
ก่อนที่ปัญหาสุขภาพอื่นๆจะตามมาค่ะ