ไขปริศนาคำว่าดอกไม้ทัด..ดอกไม้ทัดคืออะไร
ไขปริศนาคำว่าดอกไม้ทัด..ดอกไม้ทัดคืออะไร
ดอกไม้ทัดคืออะไรและอะไรคือดอกไม่ชัดเรามีคำตอบและข้อมูลมานำเสนอข้อมูลเหล่านี้มีการอ้างอิงหลักฐานและภาพถ่ายยืนยันรวมทั้งวัฒนธรรมในการทัดดอกไม้ของแต่ละชาติ
ดอกไม้ทัด
ระวังสับสนกับ ทัดดอกไม้
ดอกไม้ทัด คือการนำดอกไม้ใด ๆ มาทัดระหว่างหูกับขมับเรียกว่าทัดดอกไม้ เพื่อความสวยงาม บางกรณีอาจแฝงด้วยนัยบางประการ
ใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา หรือใช้เพื่อการลงโทษ พบการทัดดอกไม้ได้ในหลายวัฒนธรรมทั่วโลก ในประเทศไทยมีการพัฒนาดอกไม้ทัดให้เป็นเครื่องประดับใบหู เรียกว่า จอนหู โดยทำจากวัสดุที่ทนทานแทน ใช้เป็นเครื่องประดับสำหรับมนุษย์และสถาปัตยกรรมให้มีความสวยงาม
นักแสดงโขนไทยทัดดอกไม้
หญิงชาวสยามไว้ผมปีก และทัดดอกไม้
ใน อักขราภิธานศรับท์ ระบุถึงคำว่า ทัด ไว้ว่า "ทัดดอกไม้, เหน็บดอกไม้ไว้ที่หู, ทรงดอกไม้. คือ คนเอาดอกไม้เหน็บไว้ที่หูนั้น, พวกเจ้าชู้ทัดดอกไม้เที่ยวเล่น" ส่วนราชบัณฑิตยสภา ให้ความหมายไว้ว่า "สอดหรือเสียบสิ่งใดสิ่งหนึ่งไว้ตรงซอกเหนือใบหู เช่น ผู้ที่รำสีนวลทัดดอกไม้ดอกโต เจ้าเงาะทัดดอกไม้แดง"
นอกจากการทัดแล้ว ยังสามารถนำดอกไม้มาตกแต่งมวยผมได้ เรียกว่าการแซมดอกไม้ ถือเป็นเอกลักษณ์ด้านการแต่งกายที่โดดเด่นของชาวพม่าและชาวไทยวนทางตอนเหนือของไทย แต่หากเป็นสตรีมีฐานะก็จะตกแต่งผมด้วยดอกไม้ไหวซึ่งทำมาจากทองเหลืองแทนดอกไม้สด
ความหลากหลายประเทศไทย
ชุดนักแสดงสวมชฎา จอนหู ทัดดอกไม้ และห้อยอุบะ
ในประเทศไทย มีการกล่าวถึงดอกไม้ทัด มาตั้งแต่ยุคอาณาจักรสุโขทัย ดังปรากฏใน ไตรภูมิพระร่วง อันเป็นเอกสารทางศาสนาไว้ ความว่า "...อันว่าฝูงผู้ชายอันอยู่ในแผ่นดินอุดรกุรุนั้นโสด รูปโฉมโนมพรรณเขานั้นงามดั่งบ่าวหนุ่มน้อยอันได้ยี่สิบปี มิรู้แก่มิรู้เถ้า เขาหนุ่มอยู่ดั่งนั้นชั่วตนทุก ๆ คนแล [...] แลแต่งแต่ตัว เขาทากระแจะแลจวงจันทน์น้ำมันอันดี แลมีดอกไม้หอมต่าง ๆ กัน เอามาทัดมาทรงเหล้น แล้วก็เที่ยวไปเหล้นตามสบาย..."
ช่วงปลายอาณาจักรอยุธยา ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช การที่หญิงนำดอกไม้มาทัดหู ถือเป็นกิริยาไม่งาม เพราะจะตกเป็นที่ครหาว่าเป็นหญิงนครโสเภณี แม้ว่าทัดแล้วจะสวยงาม หรือทัดภายในเหย้าในเรือนของตัวเองก็ตาม ในวรรณคดีไทยช่วงอยุธยาจนถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มักมีการกล่าวถึงตัวละครชายนำดอกไม้ทัดหูแล้วออกไปเกี้ยวจีบสาว ใน กฎหมายตราสามดวง มีการใช้ดอกชบาทัดหูของผู้หญิงทั้งสองข้าง ถือเป็นการประจานหญิงชั่วที่คบชู้สู่ชาย
"...หญิงใดที่กระทำการมีชู้จะต้องโดนโทษทัณฑ์ด้วยการให้โกนศีรษะหญิงนั้นเป็นตะแลงแกง ทัดดอกชบาสองหู ขึ้นขาหย่างประจาน 3 วัน ในบางกรณีก็จะร้อยดอกชบาเป็นพวงมาลัยสวมคอหญิงชายที่ทำชู้นั้นด้วย..." และมีบทลงโทษสำหรับชายหนุ่มที่ไปเที่ยวหญิงนครโสเภณี โดยมีบทลงโทษของหญิงนั้นไว้ว่า "...ส่วนหญิงอันร้ายให้เอาเฉลวปะหน้า ทัดดอกฉะบาทั้งสองหูร้อยดอกฉะบาแดงเป็นมาไลยใส่ศีศะใส่คอแล้วให้เอาหญิงนั้นเข้าเทียมแอกข้างหนึ่ง..."
แม้จะมีนัยที่หลากหลาย แต่การทัดดอกไม้ยังปรากฏอยู่ในเครื่องแต่งกายของชุดการแสดงนาฏกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะโขน ซึ่งยังคงตกทอดการแต่งกายโบราณมาจนถึงปัจจุบัน หรือการแสดงร่วมสมัยอย่างเพลงเต้นกำรำเคียว เป็นต้น
ส่วนในท้องที่อื่น ๆ ของไทย ยังปรากฏการทัดดอกไม้อยู่ทั่วไป ดังในบันทึกของนายแพทย์ พอล นีส (Paul Neis) กล่าวถึงหญิงชาวเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. 2427 ไว้ว่า "...ผู้หญิงทุกคนทัดดอกไม้ที่หูและเสียบไว้ที่มุ่นมวยผม" หากเป็นหญิงชาวบ้านจะปักผมด้วยดอกไม้สีอ่อน มีกลิ่นหอม และมีความหมายที่ดี ได้แก่ ดอกเอื้อง (กล้วยไม้) หอมนวล (ลำดวน) มะลิ สลิด สลับเวียนกันไป ด้วยถือว่าเป็นการบูชาขวัญแห่งตน ส่วนหญิงมีฐานะจะประดับผมด้วยดอกไม้ไหว ซึ่งทำจากวัสดุที่ทนทานกว่าดอกไม้สด หญิงชาวอูรักลาโว้ยไว้ผมมวยและทัดดอกไม้ตามธรรมเนียม ส่วนชาวมานิ หรืออาจเป็นที่รู้จักในนามเงาะป่า มีการทัดดอกไม้เพื่อความสวยงาม แต่มักเกิดภาพจำจากวรรณคดีไทย คือ สังข์ทอง และ เงาะป่า ทำให้คนภายนอกเข้าใจว่าพวกเขาชอบดอกไม้สีแดง ซึ่งไม่เสมอไป และธรรมเนียมการอุปสมบทของชาวมอญสมุทรสาครและบางกระดี่ นาคจะแต่งกายคล้ายผู้หญิง มีการห่มสไบ ทัดดอกไม้ สวมต่างหู สร้อย กำไล แต่งหน้าทาปากให้สวยงาม
ยินดอมาเล นางรำชาวพม่า รับบทเป็นบุษบา
ต่างประเทศ
ในประเทศพม่า การทัดดอกไม้หรือการแซมดอกไม้ในมวยผมถือเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมพม่า สตรีวัยกลางคนเป็นต้นไปมักทัดดอกไม้เมื่อเกล้าผมมวย โดยมากจะใช้ดอกกุหลาบ และดอกมะลิ แต่จะไม่ทัดด้วยดอกชบาโดยเด็ดขาด เพราะมีไว้ทัดหูคนตายเท่านั้น ในช่วงที่อองซานซูจีถูกกักตัวที่บ้านพักหลังถูกรัฐประหาร มีชาวพม่าจำนวนหนึ่งทัดดอกไม้ที่หู อันเป็นแสดงออกเชิงสัญลักษณ์สำหรับอวยพรวันเกิดแก่นาง ตามธรรมเนียมการบวชนาคก่อนเข้าบรรพชาของชาวมอญ นาคจะแต่งกายคล้ายเจ้าชาย ได้แก่ สวมชฎา ทัดดอกไม้ ห่มผ้าแพร แต่งหน้าให้งาม สวมต่างหู สวมกำไลมือเท้า และนุ่งลอยชาย
ในรัฐฮาวาย สหรัฐ สตรีพื้นเมืองมีธรรมเนียมการทัดดอกไม้ กล่าวคือ หญิงใดทัดดอกไม้ไว้ที่หูด้านซ้ายแสดงว่าสมรสแล้ว ตรงกันข้ามหากทัดดอกไม้ไว้ที่หูด้านขวาแสดงว่ายังโสด
ในประเทศกัมพูชา ในชุดการแสดงนาฏกรรม ผู้แสดงจะมีการทัดดอกไม้และอุบะเช่นเดียวกับละครของไทย หากแต่ของฝ่ายกัมพูชาจะทัดดอกไม้และอุบะไว้คนละข้างซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับละครวังหน้าของกรุงสยามในอดีต ในขณะที่ฝ่ายไทยในปัจจุบัน โดยมากจะทัดดอกไม้และทัดอุบะไว้ข้างเดียวกันตามอย่างวังหลวง
ในประเทศจีน มีการทัดดอกไม้มายาวนานทั้งผู้ชายและผู้หญิง ผู้ชายทัดดอกไม้แสดงว่าเป็นขุนนางตัวโปรดของฮ่องเต้ ส่วนผู้หญิงมีไว้เพื่อความสวยงามส่วนบุคคล และเป็นชุดสำหรับการแสดงอุปรากรจีน
ในประเทศอินเดีย ชาวโบรกปาซึ่งเป็นชุมชนดาร์ดกลุ่มหนึ่งที่นับถือศาสนาพุทธแบบทิเบตในลาดัก ชายและหญิงโบรกปามักตกแต่งเครื่องสวมศีรษะด้วยดอกไม้ บ้างก็ทัดดอกไม้เพื่อความสวยงาม
นักแสดงจิงจฺวี่ยุคราชวงศ์ชิงทัดดอกไม้
หญิงชาวตูวาลูในฟูนะฟูตี
นางรำชาวเขมรทัดดอกไม้และอุบะคนละข้าง
นักดนตรีชาวฟีจีคนหนึ่งทัดดอกไม้
นางรำชาวเขมรทัดดอกไม้ที่ปราสาทบายน
นางรำชาวบาหลีทัดดอกไม้
อ้างอิงจาก: Wikipedia,legacy.orst.go.th/?knowledges