ประโยชน์ของ"ผักโขม"ที่คุณอาจไม่รู้!? พร้อมวิธีทำผักโขมอบชีสแสนอร่อย
มีการถกเถียงกันมานานแล้ว ว่าผักโขม (Amaranth) กับผักปวยเล้ง (Spinach) จริงๆ แล้วผักทั้ง 2 ชนิดนี้เป็นผักชนิดเดียวกันหรือเปล่า ซึ่งหลายคนยังอาจจะไม่รู้จักผักทั้งสองชนิดนี้เท่าที่ควร งั้นเรามาทำความรู้จักผักทั้ง 2 นี้กัน
ผักโขมหรือผักขม ( Amaranth )
เป็นผักที่ขึ้นได้เองตามธรรมชาติ มีต้นกำเนิดในประเทศเขตร้อน โดยผักโขมที่นิยมนำมาปลูกเพื่อรับประทานนั้นมีทั้งหมด 3 ชนิดได้แก่ ผักโขมจีน ซึ่งมีใบทั้งสีแดงและสีเขียว, ผักโขมบ้าน, ผักโขมหนาม และผักโขมยักษ์ โดยผักโขมนั้นมีคุณค่าทางอาหารสูง และได้ชื่อว่าเป็นผักที่มีโปรตีนสูง โดยมีกรดอะมิโนสะสมอยู่ในผักมากถึง 30 ชนิด เรียกว่ามีกรดอะมิโนแทบจะทุกชนิดเลยล่ะ และยังมีเบต้า-แคโรทีน ซึ่งมีประโยชน์ช่วยบำรุงสายตา และยังมีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระช่วยป้องกันโรคมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งปอด และมะเร็งเต้านม ขณะที่สารซาโปนิน (Saponin) ในผักโขมก็ยังช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล ขจัดสารพิษในร่างกาย ชะลอความแก่ชรา ส่วนวิตามินเอก็ให้คุณไม่น้อยหน้า ด้วยการช่วยบำรุงสายตา และยังมีวิตามินซีที่ป้องกันการเกิดโรคเลือดออกตามไรฟัน เสริมสร้างคอลลาเจนให้แก่ผิวพรรณอีกด้วย ปิดท้ายกันด้วยไฟเบอร์ ที่มีเพียบในผักใบเขียวอย่างผักโขม ทำหน้าที่ในการกระตุ้นระบบการขับถ่าย ทำให้ความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งในกระเพาะอาหารลดลง
วิธีรับประทานก็ไม่ได้ยาก เพราะสามารถนำไปทำอาหารได้หลากหลายชนิด ทั้งผักโขมอบชีส เมนูยอดฮิตขวัญใจใครหลาย ๆ คน หรือแม้แต่นำไปลวกจิ้มกับน้ำพริกก็ทำได้ ถ้าชอบทานผักสด ๆ ก็สามารถรับประทานได้เหมือนกัน แต่ต้องมั่นใจนะคะว่าสามารถทนกลิ่นเหม็นเขียวได้ เพราะเจ้าผักชนิดนี้แอบมีกลิ่นเหม็นเขียวอยู่เหมือนกัน จะต้องนำไปทำให้สุกถึงจะกำจัดกลิ่นได้
ผักปวยเล้ง ( Spinach )
ถิ่นกำเนิดมาจากประเทศแถบอาหรับ โดยผักชนิดนี้ชาวอาหรับได้ให้สมญานามว่าเป็น "ราชาแห่งผัก" และที่ชื่อเป็นภาษาจีนนั้นก็เพราะว่าผักชนิดนี้ได้ถูกบันทึกครั้งแรกในประวัติศาสตร์ราชวงศ์ถัง ซึ่งเป็นยุคที่มีการถวายเครื่องราชบรรณาการ โดยในประวัติศาสตร์ได้กล่าวว่า ผักปวยเล้งเป็นหนึ่งในเครื่องราชบรรณการด้วย คุณค่าทางอาหารของผักปวยเล้งขึ้นชื่อว่าไม่เป็นที่ 2 รองใคร ซึ่งนักวิชาการเชื่อว่าผักชนิดนี้เหมาะสำหรับเด็กและผู้ป่วย เนื่องจากสารอาหารในผักปวยเล้งนั้นมีสูง ไม่ว่าจะทั้งโปรตีนและแร่ธาตุต่าง ๆ อีกทั้งการรับประทานผักปวยเล้งเพียง 100 กรัม ก็ช่วยให้ได้รับวิตามินซีสูงเทียบเท่ากับปริมาณที่ร่างกายต้องการ และยังมีปริมาณเบต้า-แคโรทีนเทียบเท่ากับปริมาณที่ควรได้รับต่อวันถึง 2 เท่าเลยเชียวล่ะ ยังสามารถเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก เนื่องจากวิตามินเค ในผักปวยเล้งมีหน้าที่สำคัญในการบำรุงกระดูก ลดโอกาสการเกิดโรคกระดูกพรุน และเสริมความแข็งแรงด้วยแคลเซียม
ทั้งนี้ปวยเล้งยังมีประโยชน์ในการช่วยบำรุงสุขภาพและรักษาโรคบางชนิดได้ โดยผักปวยเล้งนั้นมีพันธุ์ที่นิยมนำมาปลูกได้แก่ พันธุ์ป๊อปอาย, สปาร์ก, โอเรียนท์, แปซิฟิก และสายพันธุ์ที่นิยมผลิตเพื่อการแปรรูปก็ได้แก่ สายพันธุ์โบเลโร และนอร์ดิก และเช่นเดียวกันกับผักโขม ผักปวยเล้งก็สามารถนำไปทำอาหารได้หลากหลายชนิดเช่นกัน
ถึงแม้ว่าทั้ง 2 ชนิดจะเป็นผักคนละอย่างกัน แต่ก็อยู่ในตระกูลเดียวกัน รวมทั้งมีคุณค่าทางอาหารใกล้เคียงกัน อาจเป็นเพราะว่าตั้งแต่เด็กเรานั่นเราได้เห็นว่าในการ์ตูนเรื่อง ป๊อปอาย ตัวละครเอกอย่างป๊อปอายนั้นรับประทานผักที่มีชื่อว่า Spinach ซึ่งนั่นเป็นชื่อภาษาอังกฤษของผักปวยเล้ง ทว่ากลับมีการแปลผิดเป็นผักโขม จึงทำให้เราเข้าใจผิดกันมาตลอดนั้นเอง
วิธีทำผักโขมอบชีส
- ผักโขม 2 กำ
- เกลือป่น 1/4 ช้อนชา
- หอมหัวใหญ่ 1/2 หัว
- พริกไทยป่น 1/2 ช้อนชา
- แฮม 2 แผ่น
- น้ำตาลทราย 1 ช้อนชา
- เนยสด 4 ช้อนโต๊ะ
- ออริกาโน่ (ใส่หรือไม่ใส่ก็ได้) 10 กรัม
- นมจืด 1 ถ้วย
- ชีส 2 ถ้วย
- แป้งสาลีอเนกประสงค์ 1 ช้อนโต๊ะ
1. เริ่มจากนำผักโขมไปลวกแล้วนำมาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ และนำหอมหัวใหญ่มาหั่นเป็นให้เป็นชิ้นเล็กเหมือนลูกเต๋าเตรียมไว้
2. ตั้งกระทะปรับระดับไฟให้อ่อน นำเนยสดใส่ลงไปจนละลาย นำหอมหัวใหญ่ที่หั่นเตรียมไว้ลงผัดจนมีกลิ่นหอมกรุ่นเสร็จแล้วให้ตักออกมาพักเอาไว้ก่อน และนำแฮมไปคั่วในกระทะจนหอมแล้วตักมาพักไว้เช่นกันนำ
3. เนยใส่ลงไปจนเนยละลาย ตามด้วยใส่แป้งสาลีอเนกประสงค์ลงไปผัดจนเริ่มเปลี่ยนสี ตามด้วยนำนมจืดค่อย ๆ เทใส่ลงไปจนส่วนผสมที่อยู่ในกระทะข้นขึ้น
4. การปรุงรสชาติ เราจะปรุงรสด้วยเกลือป่น และพริกไทยป่นเล็กน้อยตามความชอบ ต่อด้วยนำแฮมและหอมใส่ลงไปคลุกเคล้าจนทั่ว ตามด้วยใส่ชีสและผักโขม คนส่วนผสมให้พอเข้ากัน แต่ชีสยังไม่ต้องละลาย
5. ตักออกมาใส่ถ้วย แล้วนำชีสโรยหน้าผักโขมแล้วนำเข้าไมโครเวฟประมาณ 1-2 นาที จนชีสละลาย
6. นำถ้วยผักโขมอบชีสออกจากไมโครเวฟแล้วโรยหน้าด้วยออริกาโน่ จากนั้นพร้อมเสิร์ฟ เมนูผักโขมอบชีสได้เลย