ถอดบทเรียนผู้ประกอบการกรณีร้านปังชา
เมื่อไม่กี่วันมานี้ ผมได้ยินข่าวเกี่ยวกับกรณีร้านปังชาที่ได้มีเรื่องฟ้องร้องเพื่อเรียกค่าเสียหายจากคู่กรณีเป็นเงิน 102 ล้านบาท และ 7แสนบาท จากสองร้านค้า กรณีละเมิดเรื่องเครื่องหมายการค้า แต่ในท้ายที่สุดที่ Facebook Page ของร้านปังชาดังกล่าว ก็ต้องทำการโพสต์เพื่อขออภัยต่อผู้ที่เข้ามาอ่านโพสต์ของทาง Facebook Page ของร้านปังชาในกรณีดังกล่าว เรื่องที่เกิดขึ้นครั้งนี้ถือว่าเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการที่คิดจะสร้างแบรนด์สินค้าของตนเอง
กรณีของร้านปังชาที่เป็นข่าวนี้เราสามารถถอดบทเรียนอะไรได้บ้าง หลังจากที่ผมได้ศึกษาแง่มุมทางกฎหมายแล้ว ก็สามารถถอดบทเรียนได้สองถึงสามเรื่องในกรณีนี้ครับ
- สำหรับกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว คำพูดหรือคำที่เป็นคำทั่วๆไป ไม่สามารถนำเอามาจดเป็นเครื่องหมายการค้าหรือสิทธิบัตรได้ เช่น คำว่า ขาว ผงซักฟอก ชา กาแฟ ขนมปัง เลยน่าจะเป็นบทเรียนให้กับผู้ประกอบการที่คิดจะสร้างแบรนด์ของตัวเองว่า หากจะจดเครื่องหมายการค้าหรือสิทธิบัตร ก็ต้องคิดคำที่มันไม่ใช่คำสามัญหรือคำที่คนพูดกันทั่วๆไปครับ
- ในเอกสารของกรมทรัพย์สินทางปัญญาตรงส่วนของ “ข้อจำกัด” ก็ได้ระบุไว้ว่า “ข้าพเจ้าไม่ขอถือเป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะใช้ อักษรโรมันทั้งหมดที่ปรากฎบนเครื่องหมาย ยกเว้น คำว่า KAM” เป็นข้อเตือนใจ สำหรับผู้ประกอบการที่หากอ่านถึงข้อความตรงนี้แล้วต้องฉุกคิดและหาวิธีแก้ไขรองรับเอาไว้ครับ เพราะการที่มีข้อความในลักษณะ “ข้าพเจ้าไม่ขอถือเป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะใช้.....” ปรากฎในเอกสารที่เราไปขอจดเครื่องหมายการค้าหรือสิทธิบัตร เป็นเรื่องที่ต้องให้ความใส่ใจเป็นอย่างยิ่งครับ
- มาถึงเรื่องสิทธิบัตร ร้านปังชาได้จดสิทธิบัตรในส่วนของ “สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์” ซึ่งทางร้านปังชาได้จดสิทธิบัตรไว้เฉพาะส่วนที่เป็นถ้วยไอศครีม แต่ไม่ได้จดสิทธิบัตรในส่วนของสูตรอาหาร เลยเป็นช่องโหว่หรือช่องว่างทางกฎหมายที่สามารถให้ผู้ประกอบการรายอื่นๆอาจเลียนแบบวิธีการทำปังชาขึ้นมาใช้ในเชิงธุรกิจครับ
ทุกวันนี้ผู้ประกอบการมากมายประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อยๆ กรณีร้านปังชานี้ นับว่าเป็นข้อเตือนใจและเป็นกรณีศึกษาของผู้ประกอบการทั้งมือใหม่และมือเก่าที่คิดจะสร้างแบรนด์สินค้าและเอกลักษณ์สินค้าของตนเองได้เป็นอย่างดี