<<-ปังชา...เมนูยอดฮิต...ที่เย็นชา->>
‘ปังชา’ เป็นเมนูดังของร้านลูกไก่ทองที่ได้รับมิชลินไกด์ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2561 - พ.ศ.2565 และตอนนี้กำลังตกเป็นประเด็นถกเถียงถึงการนำไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า (Trademark) ทั้ง ‘ปังชา’ ภาษาไทย และ ‘Pang Cha’ ภาษาอังกฤษ และมีการส่งทนายยื่น Notice เรียกค่าเสียหายนับร้อยล้านบาทจากคู่กรณีที่คิดว่าลอกเลียนแบบสินค้าลิขสิทธิ์ของทางร้านที่เป็นข่าวโด่งดังขณะนี้
เมนูปังชา ยอดฮิตของร้านลูกไก่ทองเกิดจาก ‘แก้ม - กาญจนา ทัตติยกุล’ ซึ่งเป็นคนอำเภอบางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา ได้มาลงทุนทำร้านอาหารลูกไก่ทองกับแฟน (แสงณรงค์ มนตรีวัต ทายาทรุ่น 2 ของร้านไก่ทอง)
ตอนนั้นเธอคิดว่า ร้านยังไม่มีของหวานที่เป็นเมนูเด่น จึงคิดนำชาไทยมาทำเป็นเมนูขนม เพราะตัวเธอเองก็ชื่นชมดื่มชามาตั้งแต่เด็ก และตอนนั้นชาไทยเองก็มีชื่อเสียงติดอันดับโลก แม้ว่าผู้คนส่วนใหญ่ทั้งไทยและต่างชาติจะเห็นชาไทยเป็นชาสีส้มขายตามรถเข็นข้างถนน ราคา 20 - 25 บาท ซึ่งเธอคิดว่าถูกมากเกินไป ทำไมให้ค่าชาไทยแค่นี้เอง ทั้งที่ความจริงชาไทยมีค่ามากกว่านั้น ดังนั้นเธอจึงได้เสาะแสวงหาใบชาที่ดี เพื่อนำมาพัฒนาเป็นเมนูน้ำแข็งไสรูปแบบใหม่ ที่คนเห็นแล้วต้องว้าวด้วยความสุดยอดในความอร่อย โดยจุดเด่นชาไทยของเธอ คือ การนำใบชา 5 ชนิดมาเบลนด์เข้าด้วยกัน ซึ่งทดลองทำ ทดลองชิมนานกว่า 1 เดือนถึงได้รสชาติที่ลงตัว จึงเริ่มทำออกมาให้ลูกค้าที่มาใช้บริการในร้านลูกไก่ทองได้ทดลองชิม และในปี พ.ศ.2552 เมนูปังชาก็ได้วางขาย ณ สาขาแรกของร้านลูกไก่ทอง นั่นคือ สาขาทองหล่อ 13 ซึ่งได้รับกระแสตอบรับดีเกินคาด จนกลายเป็นเมนูฮิตที่ลูกค้าทั้งไทยและต่างชาติมาแล้วต้องสั่ง หรือมีหลายคนยอมมารอคิวเพื่อกินเมนูนี้โดยเฉพาะ แถมการันตีความอร่อยจากการได้รับ ‘มิชลินไกด์’ ตั้งแต่รางวัลนี้ได้เข้ามาไทยครั้งแรกในปี พ.ศ.2561 จนถึงปี พ.ศ.2565
นี่คือที่มาแห่งความอร่อยขั้นเทพ ของปังชาและ Pang Cha แบรนด์ที่โด่งดังและเป็นข่าวใหญ่ขณะนี้
เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2566 ทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ออกมาให้ความรู้เพิ่มเติมทางเพจ ‘กรมทรัพย์สินทางปัญญา’ เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ว่า น้ำแข็งไสราดชาไทยมีการขายกันมานาน จึงไม่มีใครสามารถจดสิทธิบัตร และอนุสิทธิบัตร แล้วจะอ้างเป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียวไม่ได้ ดังนั้นใคร ๆ ก็สามารถขายได้น้ำแข็งไสราดชาไทย แต่อย่านำการลวดลายหรือแบบภาชนะของร้านที่เป็นข่าว ซึ่งจดสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ไว้
ส่วนประเด็นการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามที่แบรนด์ปังชากล่าวถึง ทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาชี้แจงว่า จะคุ้มครองตามรูปแบบที่จดทะเบียนไว้เท่านั้น ดังนั้น การใช้คำว่า “….ปัง…ชา…” หรือ “…ปังชา…” ยังใช้ได้ต่อไป แต่ไม่ควรใช้ฟอนต์ให้นึกถึงแบรนด์ดังกล่าว




















