สิบหกปีแห่งความเศร้าโศกและความยากลำบาก
โอะอุเมะ (お梅) เกิดในปี 1863 ในครอบครัวซามูไรที่ยากจน เธอถูกเลี้ยงดูแบบทิ้ง ๆขว้าง ๆ และเติบโตตามยถากรรม เธอถูกขายเมื่ออายุได้หกขวบเพื่อไปเป็นลูกบุญธรรมให้บ้านค้าขายบ้านหนึ่ง แต่จริง ๆ พวกเขาซื้อเธอไปเป็นเด็กรับใช้มากกว่า พ่อของเธอไม่สนใจ จะเอาเธอไปทำอะไรก็ช่างขอแค่จ่ายเงินมางาม ๆ ก็พอ ไปอยู่ที่บ้านบุญธรรม เธอทำงานหนักสารพัด อายุ 6 ขวบ ต้องตื่นแต่เช้ามาหุงข้าว ทำอาหาร ทำงานบ้าน ช่วยแบกของไปเดินเร่ขาย ฯลฯ สารพัดที่จะทำ บ้านบุญธรรมให้เธอกินนอนอยู่ในครัวกับพื้นเย็น ๆ เธอไม่ต่างจากเด็กขอทานเลย เป็นชีวิตที่ยากลำบากจนแทบร้องไห้
เธอต้องอยู่ในสภาพนั้นมา 3 ปี พอ 9 ขวบ ตอนที่เธอออกไปขายของกับบ้านบุญธรรม คนที่บ้านเกอิชาก็บังเอิญเห็นเขา คนที่บ้านเกอิชามองแว่บเดียวก็รู้ว่า เด็กผู้หญิงหน้าตามอมแมมและผอมโซคนนี้ ถ้าเอาไปเลี้ยงดูอย่างดีก็จะกลายเป็นคนที่สวยและมีราคามาก ดังนั้นเธอจึงถูกบ้านบุญธรรมขายอีกครั้งให้กับบ้านเกอิชา ที่บ้านเกอิชาดีกว่าบ้านค้าขายนิดหน่อย ถึงต้องทำงานหนักไม่ต่างกัน แต่เธอก็ได้นอนหลับในห้อง และมีอาหารให้กินจนอิ่ม เธอต้องทำงานคอยรับใช้ทุกคน และยังต้องเรียนรู้การเป็นเกอิชาไปด้วย เธอใช้เวลาฝึกเป็นเกอิชาอยู่ 6 ปี จนกระทั่งอายุ 15 เธอก็ได้เป็นเกอิชาเต็มตัว เธอขยัน อดทน ตั้งใจทำงาน และเก็บออมเงินทั้งหมดที่หามาได้ ผ่านไป 8 ปี เธอก็สามารถเก็บเงินได้ก้อนหนึ่ง ตอนที่อายุ 23 โออูเมะ ใช้เงินเก็บส่วนหนึ่งไถ่ตัวเธอเองออกมาจากบ้านเกอิชา และกลับไปหาพ่อที่ให้กำเนิด เธออยากให้พ่อที่ลำบากมาชั่วชีวิตได้มีชีวิตที่สุขสบายเสียที เธอจึงรับพ่อมาอยู่ด้วย และนำเงินที่มีอยู่ก้อนสุดท้ายเปิดโรงน้ำชา เธอภูมิใจที่สุดท้ายก็เปิดร้านของตัวเองได้ ถึงจะเป็นร้านเล็ก ๆ แต่มันก็มาจากความยากลำบากหลายปีในชีวิตเธอ โออูเมะจึงตั้งใจทุ่มเทกับร้านมาก ๆ
ผ่านไปหลายปี ร้านของเธอไปได้ค่อนข้างดีและทุกอย่างดูสดใส เธอขยายร้านจนใหญ่โต ทุกครั้งที่มองดูร้านเธอภูมิใจจนน้ำตาคลอ จากเด็กผู้หญิงที่ถูกขายในวัย 6 ขวบ ตอนนี้มีร้านเป็นของตัวเองได้ เป็นเรื่องที่เกินฝันจริง ๆ ร้านใหญ่ขึ้น กิจการดีขึ้น เธอก็จ้างชายหนุ่มคนหนึ่งมาเป็นผู้จัดการร้านเพื่อช่วยจัดการงานต่าง ๆ ที่ร้านแทนเธอ พ่อของเธอแนะนำชายหนุ่มที่ชื่อ คาเมะคิคิ ให้กับเธอ บอกว่าคาเมะคิคิเป็นคนเอางานเอาการและซื่อสัตย์พึ่งพาได้ เธอจึงจ้างเขาไว้เพื่อเป็นผู้จัดการร้าน แต่ในไม่ช้าโอเมะก็รู้ว่าผู้จัดการร้านของเธอร่วมมือกับพ่อของเธอจะฮุบร้านที่เธอก่อตั้งขึ้นมาอย่างยากลำบาก เริ่มแรกพวกเขาเพียงโกงเงินไปบางส่วน แต่มันก็เริ่มเยอะขึ้น ๆ ตามความโลภของทั้งสองคน โออูเมะเสียใจมากไม่คิดว่าพ่อที่เธอรักจะทำแบบนี้กับลูกสาวของตัวเองได้ลง ในตอนนั้นเนื่องจากผู้หญิงแทบไม่มีสิทธิ์ในทรัพย์สิน เธอจึงจดทะเบียนเจ้าของร้านในชื่อพ่อของเธอ
ตอนนี้เห็นได้ชัดว่าพ่อและผู้จัดการกำลังยึดทุกอย่างไปอย่างหน้าด้าน ๆ รวมทั้งวางแผนกำจัดเธอให้พ้นทาง เธอเข้าร้านไม่ได้ เงินถูกส่งตรงไปยังพ่อ เรียกร้องอะไรก็ไม่ได้เพราะตามกฎหมายมันคือร้านของพ่อ โออูเมะถูกเขี่ยจนพ้นทางพวกเขาทั้งสองคน เธอรู้สึกขมขื่น ชีวิตยากลำบากมาตั้งแต่เกิด โตไม่เท่าไหร่ก็ถูกขายไปรองมือรองเท้าบ้านอื่น ต้องคอยไปช่วยเขาทำงานสารพัด พอไม่ได้ดั่งใจก็ถูกทุบตีแทบตาย พอ 9 ขวบก็ต้องถูกขายไปเป็นคนรับใช้บ้านเกอิชาที่งานก็หนักไม่ได้ต่างกันเลย พอเป็นเกอิชาก็ต้องพบเจอคนสารพัด เธอได้แต่อดทน ๆ ๆ ๆ เพื่อที่จะหลุดพ้น พอมีเงินเก็บสักก้อนเอามาเปิดร้านเพื่อที่จะได้ลืมตาอ้าปากได้ด้วยตัวเอง กลับถูกพ่อที่เคยขายเธอไปให้คนอื่นมารวมหัวกับคนอื่นมาโกงเธอ เงินที่หามาได้จากการทำงานหนักถูกคนพวกนี้เอาไปใช้อย่างสะดวกสบาย ยิ่งคิดยิ่งขมขื่น " พวกชุบมือเปิบ !! "
ในตอนเย็นของวันที่ 9 มิถุนายน 1887 เธอยืนรอพ่อและผู้จัดการร้านในกับมีดทำครัวในมือที่เงามืดด้านนอกร้าน เมื่อผู้จัดการร้านมาถึง เธอก็เข้าไปพูดคุยแต่ก็ตกลงกันไม่ได้ ทั้งคู่ทะเลาะกันเสียงดังลั่น และเพราะเห็นว่าเธอเป็นผู้หญิงตัวเล็ก ๆ ตัวคนเดียว เขาจึงผลักเธอจนล้ม แถมยังด่าและจะทำร้ายซ้ำ ทำให้โออูเมะโกรธมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเกินทนก็เลยใช้มีดที่พกมาจ้วงแทงเขาเข้าที่ท้อง เขาตกใจและพยายามหนีตายสะเปะสะปะไปตามริมฝั่งแม่น้ำฮามาโชมิเนะ แต่ไปได้ไม่เท่าไหร่ก็ล้มลงเสียชีวิตจากบาดแผล
โออูเมะถูกพ่อของเธอกับคนในร้านที่ออกมาดูเหตุการณ์จับส่งตำรวจ ตอนแรกสื่อต่าง ๆ รายงานว่าเธอเป็น " เกอิชาที่มีพิษ " รวมทั้งขุดเรื่องราวต่าง ๆ นา ๆ ของเธอ มาจนโออูเมะกลายเป็นหญิงที่เลวร้ายมาก ๆ แต่ต่อมาก็มีสื่อเริ่มขุดลึกลงไปในเหตุการณ์และพบว่าการกระทำของเธอนั้นมีต้นสายปลายเหตุ
คดีนี้พลิกกลายมาเป็นคดีที่สะเทือนใจที่สุดในตอนนั้น แม้ว่าการพิจารณาคดีจะใช้เวลาเพียงไม่กี่วัน แต่หนึ่งในหนังสือพิมพ์ชั้นนำของโตเกียวก็พิมพ์ข่าวเธอถึง 88 บทความ ฝูงชนที่รู้ข่าวเบียดเสียดกันที่ศาลเพื่อเข้ารับฟังการตัดสินจนเกือบเป็นจลาจลย่อม ๆ คนที่หาที่นั่งไม่ได้และต้องอยู่ข้างนอกขว้างปาก้อนหินด้วยความโกรธและโมโห ใช่ พวกเขาโมโหกันมาก แต่ไม่ใช่โมโหเธอ พวกเขาโมโหในสิ่งที่ผู้หญิงตัวเล็ก ๆ คนนึงได้รับต่างหาก คดีนี้กระตุ้นให้เกิดความเห็นอกเห็นใจต่อเกอิชาที่ต้องเจอกับเหตุการณ์ไม่เป็นธรรมต่าง ๆ จนชั่วชีวิตการเป็นเกอิชาของพวกเธอ โออูเมะได้รับความช่วยเหลือ จากทนายความ ชื่อโอโอกะ อิคุโซ เขามีชื่อเสียงในคดีที่ " สิ้นหวังว่าจะชนะ " เขาโต้เถียงในศาลเรื่องว่าขณะก่อเหตุเธอวิกลจริตชั่วคราว เรื่องนี้ช่วยให้เธอรอดพ้นจากโทษประหารชีวิต โอโอกะซังว่าความให้ทุกคนรู้สึกเห็นใจเกี่ยวกับการที่เธอถูกขาย ถูกทอดทิ้ง และต้องอยู่กับความลำบากทุกข์ทรมานมานานหลายปี ในตอนท้าย ผู้พิพากษาจึงตัดสินให้เธอติดคุกตลอดชีวิตแทนโทษประหาร
โออูเมะติดคุกอยู่ 15 ปี หลังจากนั้นก็ได้รับการอภัยโทษ เธอถูกปล่อยตัวในปี 1903 ตอนนั้นเธออายุ 44 ปีแล้ว คดีของเธอดึงดูดความสนใจอย่างกว้างขวางมาตลอด เรื่องของเธอถูกพูดถึงอยู่บ่อย ๆ และยังถูกนำไปเป็นภาพยนตร์หลายครั้ง หลังออกจากคุกเธอยังทำเงินจากการบรรยายเกี่ยวกับชีวิตของเธอช่วงที่ลำบาก รวมทั้งชีวิตใหม่ในฐานะเจ้าของร้านอาหาร เธอยังเขียนหนังสือเกี่ยวกับชีวิตตัวเองชื่อ
" สิบหกปีแห่งความเศร้าโศกและความยากลำบาก"
ที่มา: ซากุระเที่ยงคืน